รับน้องแบบไหน “อิน” แบบไหนต้อง “เอ๊าต์”

รับน้องแบบไหน “อิน” แบบไหนต้อง “เอ๊าต์”

รับน้องแบบไหน “อิน” แบบไหนต้อง “เอ๊าต์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเวลาแห่งการรับน้องใหม่ใกล้เข้ามา หลายคนที่ได้อัปเดตสเตตัสมาเป็นรุ่นพี่คงกำลังเตรียมการจัดกิจกรรมรับน้องกันอย่างเต็มที่ แต่จะจัดเต็มกันแค่ไหน รับน้องใหม่อย่างไรให้ชื่นมื่น อาจารย์ที่ผูกพันกับกิจกรรมนิสิต และรุ่นพี่ที่ผ่านการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจะมาแชร์ไอเดียการรับน้องใหม่ที่อินเทรนด์แบบ 4.0 และการรับน้องแบบ 0.4ที่ควรเอ๊าต์ไปได้แล้ว

“เด็กที่เข้ามาในเจเนอเรชันนี้ ค่อนข้างเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีพ่อแม่คอยประคับประคอง จึงมีความเปราะบางทางอารมณ์ระดับหนึ่ง ดังนั้นการรับน้องในแบบเก่าที่ใช้เสียงดัง ไม่มีเหตุผล น่าจะต้องล้างบาง ออกไป การรับน้องมีจุดประสงค์ให้พี่ๆ น้องๆ ได้รู้จักกัน และนิเทศศาสตร์ก็เป็นฐานคิดเรื่องความสร้างสรรค์ ดังนั้นรูปแบบการรับน้องที่เปลี่ยนไปในยุคนี้คือให้น้องๆ สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันตามโจทย์ของพี่ๆ แล้วช่วยกันนำเสนอ แทนการกดดันโดยใช้เสียงดังตะโกน หรือยืนนานๆ แบบเก่าๆ”

อ.ไศลทิพย์ จารุภูมิ
รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

“เด็กยุคนี้มีเพื่อนน้อยลงเรื่อยๆ แล้วก็ไม่คาดหวังจะมีเพื่อนด้วย เพราะเขามีโทรศัพท์มือถือและมีเพื่อนเก่าอยู่แล้วการรับน้องในศตวรรษที่ 21 ต้องดีไซน์กระบวนการการรับน้องให้เป็นพื้นที่ที่สอนให้เด็กทำงานเป็นทีม รู้จักมีเพื่อนใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และรู้จักลดอีโก้ของตัวเอง รูปแบบของ SOTUS ต้องเปลี่ยนจากการเน้น Seniority และ Order มาเป็น S ตัวสุดท้าย คือ Spirit แทน”

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

“ความสร้างสรรค์ ในการรับน้องยุค 4.0 คือการที่รุ่นพี่ช่วยเหลือน้องๆ ทุกคนให้สามารถเข้าถึงกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม เช่น น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ก็ให้พี่ๆ คอยเป็นที่ปรึกษาด้านการเรียนให้กับน้องๆ ส่วนกิจกรรมรับน้องที่ไม่สร้างสรรค์ คือการใช้นวัตกรรมยุค 4.0 เป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำของสื่อที่มีเนื้อหาในเชิงลดค่าของผู้อื่น เช่น ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อว่าผู้อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง”

พรรษชล ขาวดี
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ตัวแทนนิสิตผู้อัญเชิญพระเกี้ยว รุ่น 73

“การรับน้องที่ดีคือ พี่ๆ คณาจารย์และ เจ้าหน้าที่ช่วยกันจัดกิจกรรมต้อนรับ อย่างอบอุ่น มีกิจกรรมสนุกๆ ให้น้องใหม่เกิดความรู้สึกประทับใจในการเข้ามาเรียนในคณะนั้นๆ และน้องๆ ได้เห็นรูปแบบกิจกรรมที่ดี แล้วนำไปพัฒนาต่อเพื่อรุ่นน้องปีถัดๆ ไป ส่วนรับน้อง 0.4 ที่เห็นแล้วร้องยี้ คือ กิจกรรมที่อันตราย หรือกิจกรรมที่เกิดจากการบังคับโดยไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจของน้องใหม่”

รักษ์พศิน กวินปฐมวงศ์ (บุ๋น บุรณี)
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ประธานเชียร์ จุฬาฯ รุ่น 72

“การรับน้องแบบสร้างสรรค์ในยุค 4.0 ควรเป็นการรับน้องที่ตรงตามความต้องการของน้องๆ ทั้งด้านความสนใจและการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ส่วนการรับน้องที่ควรทิ้งไปคือการรับน้องที่ไม่ถามถึงความสมัครใจของน้องๆ ในการเข้าร่วมกิจกรรม หรือการรับน้องที่ตีกรอบให้น้องๆ เป็นไปในทางที่พี่ๆ ต้องการ”

ชลธิชา ศรีษะโคตร
นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook