"โรงอาหารของมหาลัยญี่ปุ่น" เป็นอย่างไรนะ ถ้าอยากรู้มาดูกันเลย

"โรงอาหารของมหาลัยญี่ปุ่น" เป็นอย่างไรนะ ถ้าอยากรู้มาดูกันเลย

"โรงอาหารของมหาลัยญี่ปุ่น" เป็นอย่างไรนะ ถ้าอยากรู้มาดูกันเลย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ป้าเมโกะจำได้เลยว่าตอนเป็นนักศึกษาหน้าละอ่อนนั้นผูกพันกับโรงอาหารมาก ทั้งกินข้าว ทำ(ลอก)การบ้าน จับกลุ่มเม้าท์มอย หรือเอาไว้ส่องหนุ่ม ทั้งหมดก็เกิดขึ้นแถวโรงอาหารทั้งนั้น แต่โรงอาหารที่ญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร มีอาหารอะไรน่าทาน(รวมถึงอาหารตา) ราคาเท่าไร บรรยากาศเป็นอย่างไร ตามป้าไปสำรวจกันเลย!

โรงอาหารมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น

00(2)

อันนี้ไม่เหมือนกันทุกที่นะ แต่โรงอาหารของมหาลัยป้าเมโกะอยู่ลึกเข้าไปในสวนเล็กน้อย บรรยากาศร่มรื่น วันไหนอากาศดีๆที่สวนหน้าโรงอาหารจะมีคนมาปิกนิกและมาอ่านหนังสือในสวนเยอะมากๆ

ป้ายหน้าโรงอาหาร

00(3)

จุดเด่นของโรงอาหารญี่ปุ่นคือจะมีการบอกเวลาเปิดปิดและเมนูอาหารประจำฤดูกาลชัดเจน เพราะเขาไม่ได้เปิดตลอดทั้งวัน และเมนูก็เปลี่ยนไปตามวัตถุดิบของแต่ละเดือน

วิธีสังเกตง่ายๆสำหรับใครยังไม่คุ้นกับภาษาญี่ปุ่น คือ ถ้าโรงอาหารเปิดจะมีการปักธง (เขียนด้วยอักษรคันจิ 営業中) เป็นอันรู้กันว่าโรงอาหารพร้อมเปิดบริการแล้ว

คำว่า 営業中 ซึ่งแปลว่าเปิดบริการ ยังสามารถพบเห็นได้ตามร้านค้าทั่วไปอีกด้วย

การจัดระบบที่เป็นเลิศ

00(4)

ที่น่าชื่นชมสำหรับโรงอาหารญี่ปุ่นเลยคือการจัดระบบของที่นี่ ในช่วงพักเที่ยงเป็นช่วงที่คนเยอะและเวลาจำกัด (หลายๆโรงเรียนที่ญี่ปุ่นพักเที่ยงกันแค่ 50นาทีเท่านั้น คือตั้งแต่เวลา 12.10-13.00 น.) ซึ่งกว่าจะเดินจากห้องเรียนลงมาทานข้าวที่โรงอาหารก็ใช้เวลาไปหลายนาทีแล้ว ดังนั้นระบบการจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาและบุคลากรทานข้าวได้อย่างอิ่มอร่อยและกลับไปทำงานต่อได้ทันเวลา

โชว์อาหารตัวอย่าง จะกินอะไรดีไม่ต้องตัดสินใจนาน

00(5)

สมเป็นประเทศแห่งอาหารตัวอย่างจริงๆ เพราะไม่เพียงแต่ร้านอาหารทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ในโรงอาหารก็มี "โมเดลอาหารตัวอย่าง" ทำจากเรซิ่น ให้ดูอย่างละเอียดพร้อมบอกราคาชัดเจน

ป้าเมโกะจำได้ว่าสมัยเรียนที่ไทย นักเรียนแลกเปลี่ยน ฝรั่ง จีน หรือคนญี่ปุ่น จะยืนอยู่หน้าร้านกับข้าวนานมากๆ จดๆจ่อๆ เล็งไปเล็งมา นี่คืออะไร เผ็ดไหม จะกินได้หรือเปล่า ถามแม่ค้านานมากๆ ปัญหานี้จะหมดไปเมื่อมีอาหารตัวอย่างพร้อมรายละเอียดด้านหน้าโรงอาหาร เพื่อให้คนตัดสินใจได้เร็ว ไม่ต้องไปยืนออกันในโรงอาหารให้แออัด ลดเวลาได้ดีจริงๆ

00(6)

ราคาอาหารก็ย่อมเยา มีแค่ 500 เยนก็อิ่มท้องไปได้สบาย เทียบกับการทานข้างนอก มื้อเที่ยงก็จะตกประมาณ 700-1,000 เยน (ประมาณ 250-300 บาท) หรือถ้าเป็นย่านธุรกิจก็อาจแพงกว่านี้ โรงอาหารจึงเป็นที่ฝากท้องได้ดีสำหรับนักศึกษาที่ไม่ค่อยมีเงิน

เอาละ เมื่อเลือกเมนูที่อยากทานแล้วก็ไปเข้าแถวตามประเภท เช่น เลือกทานข้าวหน้าหมูย่าง ซึ่งเป็นประเภทข้าวหน้าต่างๆ ก็ไปต่อแถวสีเหลืองได้เลย

00(7)

ก่อนอื่นก็อย่าลืมหยิบถาดนะ หยิบแล้วไปต่อแถวได้เลย

00(8)

มีป้ายแนะนำต่างๆและแบ่งแถวอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ที่มหาลัยป้าภาษาอังกฤษเยอะมากๆ สบาย

เที่ยงนี้มีอะไรน่าอร่อยบ้าง

00(9)

เมนูก็คล้ายกับร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป เช่น ข้าวหน้าต่างๆ ราเมง พาสต้า สลัดและของหวาน ซึ่งจะมีทั้งแบบยืนพื้นขายตลอดทั้งปี เช่น พวกข้าวแกงกะหรี่และราเมงที่เป็นอาหารหลักของคนญี่ปุ่น หรืออาจจะมีเมนูแต่ละซีซั่น อย่างเช่นของหวานประจำฤดูใบไม้ผลิ ก็จะมีขนมสีซากุระแบบนี้ขาย

00(10)

ที่ไม่น่าจะเหมือนมหาลัยที่ไทย คือที่นี่มีโซนบุฟเฟต์ แม้จะชื่อว่าบุฟเฟต์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตักได้ไม่อั้นในราคาเดียวนะ แต่หมายถึงตักได้ไม่อั้นแต่จ่ายราคาตามจริง (ป้าเสียใจเบาๆ)

00(11)

สลัดบาร์ในโซนบุฟเฟ่ต์ ป้าชอบโซนนี้มาก อร่อย ทำให้การกินผักไม่น่าเบื่อ

00(12)

แต่ที่โซนบุฟเฟ่ต์ต้องตักใส่จานพิเศษเสียหน่อย เพราะเขาจะคิดเงินจากการชั่งน้ำหนักตามจริง

00(13)

ตาชั่งมีไว้พร้อม เอาไว้เช็กเผื่อหิวตาลายตักเยอะเกินแต่ตังค์ไม่พอจ่าย อิอิ

เลือกแล้วก็ไปจ่ายเงินกันเลย

00(14)

เลือกเสร็จก็ไปจ่ายเงินกันเลย อาหารจากโซนบุฟเฟ่ต์ก็จะชั่งคิดเงินอีกที ส่วนเมนูธรรมดาอื่นๆก็คิดเงินตามปกติ

จ่ายเงินง่ายๆ

00(15)

ที่ญี่ปุ่นแม้แต่ในโรงอาหารมหาลัย ก็สามารถใช้บัตร IC card ได้แล้วนะ (เช่น PASMO หรือ SUICA) ซึ่งปกติเป็นบัตรเติมเงินที่เอาไว้โดยสารรถไฟหรือรถบัส ป้าชอบใช้มากเพราะสะดวกสุดๆ เพราะลำพังแค่ถือของกินก็หนักแล้ว เวลารับเงินทอนก็ไม่ลำบากเปิดกระเป๋าตังค์ไปมาอีก

00(16)

จ่ายเงินเสร็จแล้วก็จะเจอกับโซนเครื่องปรุงต่างๆ เช่น โชยุ เกลือ พริกไทย และน้ำสลัดนานาชนิด วางไว้ให้เราราดเองได้ (ถูกใจมาก)

"หลักการทานอาหารแบบสามสี" ของคนญี่ปุ่น

00(17)

โรงอาหารที่นี่ดี๊ดีอยู่ติดกับสวน ทานอาหารไปชมวิวไป ดีต่อใจมากๆ วันนี้ป้าขอเป็นสายเฮลตี้นิดนึงหลังจากจัดบุฟเฟ่ต์เนื้อย่างติดกันมาหลายวัน T_T จึงขอกินตามหลักทานอาหารของคนญี่ปุ่นเสียหน่อย นั่นคือหลักการทานอาหาร 3 สี ซึ่งหมายถึงใน 1 มื้อควรประกอบไปด้วย 3 สี ได้แก่ สีแดง เหลือง และเขียว

・สีแดงหมายถึงอาหารที่ช่วยเสริมสร้างร่างกาย เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ปลา ถั่ว ไข่ เต้าหู้ หรือนม หมายถึงอาหารต่างๆที่มีโปรตีนนั่นเอง
・สีเหลืองคืออาหารที่ให้พลังงาน เช่น ข้าว ขนมปัง ข้าวโพด ไขมัน น้ำตาลเป็นต้น แน่นอนตรงนี้ต้องคุมปริมาณให้ดีนะ
・ส่วนสุดท้ายคือสีเขียว ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย หรือเป็นอาหารที่เพิ่มวิตามินและเกลือแร่ให้กับร่างกายเช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ

เป็นหลักการง่ายๆ ในการจัดอาหารที่สมดุลค่ะ มีประโยชน์มากเวลาไปกินบุฟเฟ่ต์ที่เลือกตักเองได้ อย่าลืมกินให้ครบทุกสีนะ

อยากรู้อะไรเช็กได้หมดทุกอย่าง

00(18)

ใบเสร็จแสดงข้อมูลที่น่ารู้ไว้มากมาย จากเมื่อกี้ป้าจ่ายด้วยบัตร PASMO ก็บอกจำนวนเงินคงเหลือในบัตร ที่สำคัญยังบอกอีกด้วยว่ามื้อนี้ที่เราทานไปนั้นให้พลังงานทั้งหมดเท่าไร กี่แคลอรี่ มีเกลือเท่าไหร่ และมีอาหารสีแดง เหลือง เขียว เท่าไหร่ (อยู่ด้านล่างสุด ไม่นับบรรทัดสุดท้าย ใครอ่านออกลองซูมภาพดูนะ) ใครไดเอทอยู่มันเลิศจริงๆ

ความดีงามของโรงอาหารแบบปิด

00(19)

บรรยากาศปลอดโปร่ง สะอาด และเป็นโรงอาหารแบบปิด ซึ่งอันนี้ป้าอยากให้มหาลัยในไทยทำกันให้หมด มากๆ ป้ายังจำได้ฝังใจแม้จะเรียนจบ ป.ตรี มาสักพัก ตอนนั้นป้ากำลังกินข้าวเที่ยงพร้อมกับติวหนังสือกับเพื่อนอยู่ นกก็บินผ่านไปผ่านมาคอยบินหาเศษอาหารพร้อมฝากสิ่งปฏิกูลไว้มากมาย มองไปบนเพดานก็เห็นหนูตัวใหญ่มากกำลังไต่ท่ออยู่ ป้ากับเพื่อนเกือบเป็นลม วงอ่านหนังสือแตกเลยทีเดียว (ตอนนี้ที่มหาลัยอาจจะดีขึ้นแล้ว ป้าหวังว่านะ)

00(20)

อีกหนึ่งข้อดี คือมีตู้น้ำพร้อมแก้วน้ำให้ดื่มกันฟรี ของที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือ น้ำเปล่าเย็นๆ น้ำอุ่น และชาเขียวร้อน

ทานเสร็จแล้วก็ได้เวลาเก็บจาน

00(21)

ทานเสร็จแล้วก็ยกภาชนะมาคืน โรงอาหารในสถานศึกษาญี่ปุ่นส่วนใหญ่ฝึกวินัยโดยการให้เด็กเก็บจานเองค่ะ แต่ก่อนอื่นก็ให้แยกขยะเสียก่อนนะ เช่น แยกตะเกียบไม้ ขยะเผาได้ และขวดน้ำพลาสติกออกจากกัน

00(22)

เมื่อแยกเสร็จแล้วก็นำจานใส่ลงสายพานที่จะเลื่อนไปยังห้องล้างจานอัตโนมัติพร้อมให้พี่พนักงานไปล้างต่อไป

00(23)

ที่นี่มีทางเข้าและทางออกแยกกัน เพื่อไม่ให้วุ่นวายและให้เป็นระบบ เดินเข้าทางนึกออกอีกทางนึง มีประโยชน์มากๆในช่วงกลางวันที่คนแน่นสุดๆค่ะ ช่างคิดจริงๆ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับการพาทัวร์โรงอาหารในมหาลัยญี่ปุ่นในครั้งนี้ นอกจากเมนูอาหารที่น่าอร่อย เน้นสารอาหารครบถ้วนและราคาประหยัดแล้ว การจัดระบบของเขาก็ยอดเยี่ยมมาก แม้ปริมาณคนมาทานอาหารตอนเที่ยงจะเยอะมากแต่ด้วยระบบที่ดี ทำให้สามารถทานอาหารได้ทันเวลาพักและยังสามารถรักษาความสะอาดของโรงอาหารได้ดีเยี่ยม เห็นอย่างนี้แล้วป้าอยากให้ที่ไทยเอาระบบไปปรับใช้บ้าง ป้าหวังว่ารุ่นน้องของป้าจะได้ทานอาหารอร่อย สะอาด ไม่ต้องเจอเหตุการณ์ระทึกขวัญแบบป้าสมัยเรียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook