วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติและความสำคัญ กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ca/0/ud/190/951802/lesson.jpgวันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติและความสำคัญ กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา

    วันอาสาฬหบูชา 2567 ประวัติและความสำคัญ กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา

    2024-07-18T16:41:03+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก และเป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก โดยพระโกณฑัญญะเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ 

    Sanook Campus ได้รวบรวมข้อมูลประวัติของวันอาสาฬหบูชา มีที่มาอย่างไร มีความหมายอย่างไร และกิจกรรมที่นิยมทำในวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง

    วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับวันที่เท่าไร

    วันอาสาฬหบูชาในปี พ.ศ.2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567

    ประวัติวันอาสาฬหบูชา

    วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งหลักธรรมของพระพุทธศาสนาทั้งหมด 84,000 พระธรรมขันธ์ ล้วนมีอยู่ในพระสูตรนี้

    ปฐมเทศนา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา หลักธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 ประการ ได้แก่

    1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่ไม่เป็นสุข
    2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์
    3. นิโรธ คือ การดับทุกข์
    4. มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์

    หลักธรรมของอริยสัจจ์ 4 ประการนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิตและหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแสดงถึง "ทางสายกลาง" ที่เป็นหนทางดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

    ความหมายของ "วันอาสาฬหบูชา"

    คำว่า "อาสาฬหบูชา" มาจากภาษาบาลี ประกอบด้วยคำว่า "อาสาฬห" แปลว่า เดือน 8 และคำว่า "บูชา" แปลว่า การบูชา ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8

    โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือน 8 หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน 8 ที่สำคัญคือ

    • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
    • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
    • เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
    • เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
    • เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

    เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียก วันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)

    ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

    วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาแก่ชาวโลก เป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ 3 ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชา และถือปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ในวันอาสาฬหบูชา

    กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา

    ชาวพุทธในประเทศไทย และทั่วโลก นิยมทำบุญในวันอาสาฬหบูชา ดังนี้

    • ตักบาตรในตอนเช้า
    • เวียนเทียนในตอนเย็น 
    • ฟังพระธรรมเทศนา
    • ถวายสังฆทาน
    • ปฏิบัติธรรม

    กิจกรรมที่ทำในวันอาสาฬหบูชา โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด

    ประโยชน์ของการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา

    การเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา มีประโยชน์มากมาย เช่น

    • เป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
    • เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
    • เป็นการเสริมสร้างศีลธรรมและจริยธรรม
    • เป็นการส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ

    วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่ชาวพุทธควรระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ละเว้นการทำบาป ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส เพื่อบรรลุถึงความสุขที่แท้จริง

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง