รถหลุดจำนำคืออะไร ทำไมราคาถูกจัง?

รถหลุดจำนำคืออะไร ทำไมราคาถูกจัง?

รถหลุดจำนำคืออะไร ทำไมราคาถูกจัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     หากใครเคยมีประสบการณ์ส่องรถมือสองบน Marketplace ของเฟซบุ๊กแล้วล่ะก็ น่าจะเคยพบเห็นรถบางคันถูกตั้งราคาเอาไว้ต่ำผิดปกติเอามากๆ บางคันถูกกว่าราคาตลาดเกินครึ่งด้วยซ้ำไป ทราบหรือไม่ว่าทำไมรถเหล่านี้ถึงมีราคาถูก และเราสามารถซื้อเป็นเจ้าของได้หรือไม่ วันนี้ Sanook Auto จะพาไปหาคำตอบกัน?

     โดยส่วนมากแล้วผู้ที่ประกาศขายรถยนต์ราคาถูกผิดปกติเหล่านี้ จะลงข้อมูลกำกับเอาไว้คล้ายๆ กันแทบทั้งสิ้น เช่น "รถไม่มีเล่ม", "เอกสารครบ", "ไม่ขึ้นพอร์ต" หรือบางคันอาจยอมรับกันไปตรงๆ เลยว่า "โอนไม่ได้" เนื่องมาจากรถเหล่านี้มีที่มาไม่ขาวสะอาดนัก หรือเป็นรถประเภทที่หลายคนคุ้นหูว่า "รถหลุดจำนำ" นั่นเอง

     รถหลุดจำนำ คือ รถที่เจ้าของนำมาจำนำกับพ่อค้าเอาไว้ โดยสัญญาว่าจะส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นงวดๆ ต่อมาเมื่อไม่สามารถส่งเงินให้กับพ่อค้าที่รับจำนำได้ ก็จะถูกยึดรถและนำมาขายต่ออีกที

 รถหลุดจำนำ

     แม้ว่าคอนเซ็ปต์ของการจำนำรถ จะดูไม่ต่างอะไรกับการจำนำสิ่งของอื่นๆ ที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป แต่ทว่ารถส่วนใหญ่ที่หลุดเข้าสู่วงการจำนำ กลับกลายเป็นรถที่ยังคงติดไฟแนนซ์อยู่ ซึ่งแปลว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ในตัวรถที่แท้จริง คือ ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีฐานะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ขณะที่เจ้าของรถเป็นเพียงผู้ครอบครองตามกฎหมายเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ ให้รถเอาไว้ขับใช้งานได้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ให้สิทธิ์เอาไปจำนำ หรือขายต่อโดยพละการใดๆ ทั้งสิ้น

     ดังนั้น การซื้อรถประเภทนี้มาใช้งานก็จะมีความเสี่ยงโดยทันที เพราะผู้ที่นำรถติดไฟแนนซ์ไฟจำนำจะมีความผิดฐาน "ยักยอกทรัพย์" เนื่องจากมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์มาเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ส่วนผู้ที่รับจำนำหรือผู้ที่ซื้อต่อก็จะมีความผิดฐาน "รับของโจร" เนื่องจากทราบอยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากการยักยอกทรัพย์นั่นเอง โดยฐานความผิดทั้งสองมีโทษถึงขั้นจำคุกทีเดียว

     จะเห็นได้ว่าการเป็นเจ้าของรถสักหนึ่งคัน คงไม่มีทางลัดใดที่ช่วยให้จ่ายถูกไปกว่าราคาตลาดไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสองก็ตาม ทางที่ดีถ้ามีความคิดจะซื้อรถเอาไว้ใช้งาน ก็ควรวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ พึงระลึกถึงความมั่นคงด้านรายรับต่อจากนี้ไปอีกสัก 5 ปี หรือจนกว่าจะครบอายุสัญญาผ่อน จากนั้นลองมาคิดอีกทีว่าจะผ่อนไหวหรือไม่ จะได้ไม่เกิดปัญหาอีรุงตุงนังในอนาคตครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook