ทำไม “รถยุโรป” ถึงลุยน้ำท่วมสู้ “รถญี่ปุ่น” ไม่ได้?

ทำไม “รถยุโรป” ถึงลุยน้ำท่วมสู้ “รถญี่ปุ่น” ไม่ได้?

ทำไม “รถยุโรป” ถึงลุยน้ำท่วมสู้ “รถญี่ปุ่น” ไม่ได้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ช่วงระยะหลังมานี้หลายคนคงเห็นภาพรถยุโรปหรูจอดตายกลางน้ำท่วมอยู่บ่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งรถแบบเอสยูวี (SUV) ขณะที่รถญี่ปุ่นแม้ระดับน้ำสูงถึงไฟหน้าก็ยังวิ่งฉิวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้พบเห็นว่าทำไมรถยุโรปถึงช่างกลัวน้ำเหลือเกิน วันนี้เราเอาคำตอบมาฝากกันครับ

     โดยปกติแล้วสาเหตุที่เครื่องยนต์ดับขณะลุยน้ำเกิดมาจากการที่มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังระบบกรองอากาศของเครื่องยนต์ เมื่อไส้กรองอากาศเปียก ก็จะทำให้อากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับในที่สุด ซึ่งกรณีนี้หากไม่มีการสตาร์ทเครื่องยนต์ซ้ำ ก็มักจะไม่เกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์ เนื่องจากน้ำยังไม่หลุดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ เพียงแค่เปลี่ยนไส้กรองอากาศราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ก็สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว

     แต่หากผู้ขับขี่พยายามสตาร์ทเครื่องยนต์หลังจากที่เครื่องยนต์ดับในขณะลุยน้ำ อาจส่งผลให้มีน้ำบางส่วนไหลทะลุไส้กรองอากาศเล็ดลอดเข้าไปยังท่อไอดีและห้องเผาไหม้ เมื่อน้ำเจอกับลูกสูบที่ขยับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรง ก็อาจเสียหายถึงขั้นลูกสูบคด ซึ่งการซ่อมแซมค่าเสียหายระดับนี้มักไม่ต่ำกว่า 40,000 - 50,000 บาท เพราะอาจถึงขั้นต้องวางเครื่องยนต์ใหม่ และรถบางรุ่นอาจต้องจ่ายทะลุหลักแสนได้อย่างไม่ยากเย็น

     ส่วนกรณีรถยุโรปทำไมถึงกลัวน้ำมากกว่ารถญี่ปุ่น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างซับซ้อนกว่า โดยเฉพาะรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ ที่มักจะถูกติดตั้งระบบเทอร์โบมาให้ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอินเตอร์คูลเลอร์เพื่อช่วยในการลดความร้อนของอากาศก่อนส่งไปยังห้องเผาไหม้ โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะถูกติดตั้งอยู่ด้านหลังของกันชนหน้าส่วนล่าง ซึ่งมีโอกาสปะทะกับมวลน้ำได้ง่ายเมื่อจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ

intercooler

     แม้ว่าอินเตอร์คูลเลอร์จะเป็นระบบปิด ซึ่งอากาศจะไหลเวียนมาจากเทอร์โบผ่านไส้กรองอากาศเท่านั้น แต่หากรถผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่ง อาจพบปัญหาซีลข้อต่อของอินเตอร์คูลเลอร์เกิดการแข็งหรือเสื่อมสภาพ ทำให้มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังห้องเผาไหม้จนทำให้เครื่องยนต์ดับในที่สุด จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงมักเห็นรถยุโรปจอดตายกลางน้ำอยู่บ่อยๆ นั่นเอง

     นอกจากนี้ รถยุโรปยังมีชิ้นส่วนอีกหลายอย่างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องลุยน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแร็กพวงมาลัยไฟฟ้า ซึ่งอาจได้รับความเสียหายจากน้ำหากซีลมีการเสื่อมสภาพ ซึ่งหากเบิกของใหม่จากศูนย์อาจต้องกำเงินไว้ไม่ต่ำกว่าแสนบาท หากเปลี่ยนไปใช้ของมือสองก็ไม่แน่ใจว่าจะทนทานแค่ไหน รวมถึงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่อาจอ่านค่าผิดเพี้ยนไปจากปกติจนทำให้ปรากฏข้อความเตือนขึ้นบนหน้าจอได้

     ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ใช้รถยุโรปช่วงนี้ ก็คงได้แต่แนะนำว่าจอดทิ้งไว้บ้านก่อน แล้วเอารถญี่ปุ่นหรือคันที่ไม่มีระบบเทอร์โบมาใช้แทน หรือหากจำเป็นต้องนำมาใช้งานจริงๆ เนื่องจากไม่มีรถสำรองแล้วล่ะก็ ควรศึกษาเส้นทางและติดตามสภาพฟ้าฝนให้ดีก่อนออกเดินทางทุกครั้ง หากต้องลุยน้ำจริงๆ ก็ควรปิดแอร์ ใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดสูงขึ้นครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook