ปลอดภัยแค่ไหนหาก “มอเตอร์ไซค์” ขี่ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์?

ปลอดภัยแค่ไหนหาก “มอเตอร์ไซค์” ขี่ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์?

ปลอดภัยแค่ไหนหาก “มอเตอร์ไซค์” ขี่ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอีกครั้ง เมื่อ “กลุ่มปลดแอกชาวสองล้อ” ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ให้เหล่าผู้ใช้จักรยานยนต์ในเขตกทม. สามารถใช้สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอดเหมือนกับรถยนต์ 4 ล้อ ด้วยการอ้างสิทธิ์เรื่องความเท่าเทียม ขณะที่ฝั่งผู้ดูแลกฎหมายมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะหาข้อสรุปได้อย่างไร

 

สถิติคนไทยใช้มอเตอร์ไซค์อันดับ 4 ของโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จักรยานยนต์” ถือเป็นกลุ่มยานพาหนะที่มีบทบาทอันดับต้นๆ บนท้องถนนรองจากรถยนต์นั่ง 4 ล้อ โดยสถิติจากกรมการขนส่งทางบกในเดือนสิงหาคมระบุว่า มีการจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์สะสมสูงถึง 3.8 ล้านคัน คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทุกประเภท ขณะเดียวกันไทยยังถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้มอเตอร์ไซค์สูงสุดอันดับ 4 ของโลก ด้วยตัวเลข 251 คัน ต่อประชากร 1,000 คน

ส่วนสาเหตุหลักของการใช้มอเตอร์ไซค์ในเขตกทม.นั้น คือเรื่องของความคล่องตัวและรวดเร็วในการเดินทาง รวมถึงยังประหยัดน้ำมันมากกว่าการใช้รถยนต์หลายเท่าตัว ซึ่งหากจะมองกันให้ดีมันก็คือผลพวงจากระบบขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุม มอเตอร์ไซค์จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์

หัวอกคนขี่รถ 2 ล้อ มองสังคมไม่เป็นธรรม

การเรียกร้องล่าสุดของ “กลุ่มปลดแอกชาวสองล้อ” ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่าไบค์เกอร์ออกมาเคลื่อนไหว เพราะที่ผ่านมามีการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับมอเตอร์ไซค์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียกร้องให้สามารถขี่รถขึ้นสะพานภูมิพลได้ แทนที่จะต้องนำรถไปขึ้นแพข้ามฝาก ซึ่งฝั่งผู้ใช้รถ 2 ล้อมองว่าไม่ได้รับความสะดวก และเหมือนเป็นการแบ่งชนชั้น

FB - ปลดแอกชาวสองล้อ vol.2

โดยมุมมองของผู้ใช้จักรยานยนต์ยืนยันว่า สาเหตุการเสียชีวิตหลักของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการขี่รถขึ้นสะพานข้ามแยก แต่มาจากวินัยจราจรของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะการขับขี่ที่เร็วเกินกำหนด ฉะนั้นทางการควรแก้ไขด้วยการแบ่งช่องทางบนสะพานหรืออุโมงค์ และเข้มงวดเรื่องการใช้ความเร็วมากกว่า

มุมมองด้านความปลอดภัย เหตุใดถึงห้าม?

ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน อธิบายว่า ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหากใช้ความเร็วเท่ากัน มอเตอร์ไซค์ย่อมมีโอกาสสูญเสียมากกว่า รวมถึงในบางครั้ง ความไม่พร้อมของผิวจราจร อาทิ รอยต่อ หรือท่อระบายน้ำ ก็เป็นเหตุให้รถ 2 ล้อพลิกคว่ำได้ง่ายเช่นกัน

ส่วนการลงอุโมงค์ ในมุมของรถ 4 ล้อ เมื่อขับลงอุโมงค์ ม่านตาของคนขับจะหรี่ลงเพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามามากเกินไป และเมื่อลงอุโมงค์ ม่านตาจะต้องมีการปรับตัวขยายขึ้นทันที ทำให้สายตาในช่วงเวลานั้นมีอาการเบลอไปประมาณครึ่งวินาที ไม่สามารถโฟกัสวัตถุข้างหน้าได้ จึงมีความเสี่ยงที่จะเฉี่ยวชนกับมอเตอร์ไซค์ได้

มอเตอร์ไซค์ในต่างประเทศห้ามแบบนี้หรือไม่?

เมื่อสำรวจกฎหมายจราจรในต่างประเทศพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์นั้นไฟเขียวให้จักยานยนต์สามารถใช้ทางรวมกับรถยนต์ได้ รวมถึงการอนุญาตให้ขึ้นทางด่วนระหว่างเมืองได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อาทิ ในอังกฤษ อนุญาตให้จักยานยนต์ 50 ซีซีขึ้นไป วิ่งบนทางด่วนได้ ส่วนในลอนดอนก็มีการจัดระเบียบช่องทางจราจร ให้รถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน และแท็กซี่ วิ่งร่วมกับรถประจำทางในช่อง Bus Lanes

ช่องทางเดินรถร่วมกันในกรุงลอนดอน

ส่วนประเทศที่ไม่อนุญาตให้มอเตอร์ไซค์ใช้เส้นบางเส้นทางร่วมกับรถสองล้อ รวมถึงห้ามวิ่งบนทางด่วน นอกจากไทยแล้ว ยังมี จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ส่วนฟิลิปปินส์ อนุญาตโอกาสให้รถ 2 ล้อวิ่งบนทางด่วนได้ แต่ต้องเป็นรถระดับ 400 ซีซีขึ้นไปเท่านั้น

ข้อสรุปต้องเป็นแบบไหนถึงจะ ‘Win-Win’?

หากมองในมุมรถ 4 ล้อ ทุกคนคงจะเคยเจอพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของมอเตอร์ไซค์บนท้องถนน อาทิ ย้อนศร ตัดหน้า ขี่กินเลน กันมาไม่มากก็น้อย ส่วนในมุมไบค์เกอร์ บางครั้งก็อาจจะเคยเจอพฤติกรรมแย่ๆ ของคนขับรถยนต์เช่นกัน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ “วินัยจราจร” ของผู้ขับรถทุกประเภท โดยเฉพาะการใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด เพราะหากทำได้ ไม่ว่าจะขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ ตัวเลขอุบัติเหตุน่าจะลดลงได้อย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ปลอดภัยแค่ไหนหาก “มอเตอร์ไซค์” ขี่ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook