'ขับรถชนคนตาย' ไม่ต้องติดคุกจริงหรือ..?

'ขับรถชนคนตาย' ไม่ต้องติดคุกจริงหรือ..?

'ขับรถชนคนตาย' ไม่ต้องติดคุกจริงหรือ..?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาสาวซีวิคชนรถตู้บนโทลเวย์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2553 ให้รับโทษรอลงอาญา 4 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมง ทำให้ชาวโซเชียลหลายคนข้องใจเกี่ยวกับบทลงโทษของผู้ก่อเหตุ ซึ่งบ้างก็ว่าโทษนั้นเบาเกินไป บ้างก็ว่าเหมาะสมดีแล้ว บ้างก็สงสัยว่าคดีนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ แล้วทำไมผู้ก่อเหตุไม่ต้องเข้าคุก


     วันนี้ Sanook!Auto จะมาไขข้อข้องใจว่าทำไม 'ขับรถชนคนตาย' ถึงไม่ติดคุก..?

     การขับรถด้วยความเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าเป็นการ 'ขับรถโดยประมาท' ซึ่งผลจากอุบัติเหตุมักก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ โดยอุบัติเหตุขับรถชนคนนั้น เกี่ยวข้องกับความผิดตามกฎหมายอาญา 2 มาตราด้วยกัน ได้แก่

     1. ป.อ.มาตรา 291 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท"
     2. ป.อ.มาตรา 300 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

     สรุปคือ หากขับรถโดยประมาทจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่หากมีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

 

     เห็นแบบนี้แล้วสงสัยไหมครับว่า ทำไมคดีสาวซีวิคจึงไม่ต้องติดคุก?

     ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฐานขับรถโดยประมาท มาตรา 78 ระบุไว้ว่า หากผู้ใดขับรถแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของฝ่ายใด ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที ซึ่งถือเป็นสามัญสำนึกของผู้กระทำการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ไม่หลบหนี

     ซึ่งจุดนี้เอง ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆว่าผู้กระทำผิดกระทำการโดยประมาทหรือไม่ แสดงความรับผิดชอบต่อผู้ประสบเหตุอย่างไร นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหรือไม่ เข้าไปเยี่ยมอาการตามสมควรหรือเปล่า มีการชดใช้ค่าเสียหายตามสมควรเพียงใด สิ่งเหล่านี้ตำรวจจะรวบรวมหลักฐานส่งให้อัยการ เพื่อให้ศาลปราณีลดโทษจำคุก รอลงอาญา ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แทน เป็นต้น

     แต่หากผู้กระทำการหลบหนีไป (แม้ว่าตกใจหนีกลับบ้านแล้วเปลี่ยนใจกลับมาที่หลัง ก็ถือว่าหลบหนี) กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และตำรวจมีอำนาจยึดรถไว้ได้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้กระทำผิดจะได้รับการพิพากษารอลงอาญา โดยไม่ต้องถูกจำคุก ผู้กระทำผิดยังคงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฐานละเมิดจากความประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สินที่เสียหายอยู่ดี

     ทางออกที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติตามกฏจราจร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างเต็มกำลัง ห้ามหลบหนี เพื่อโทษหนักจะได้เป็นเบานั่นเอง

 

     ขอบคุณภาพประกอบจาก Sanook News


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook