พลิกวิกฤตน้ำมันแพง สัมผัสรถไฟฟ้านักวิจัยไทย วิ่งฉิวเฉลี่ย 50 สตางค์/กม.

พลิกวิกฤตน้ำมันแพง สัมผัสรถไฟฟ้านักวิจัยไทย วิ่งฉิวเฉลี่ย 50 สตางค์/กม.

พลิกวิกฤตน้ำมันแพง สัมผัสรถไฟฟ้านักวิจัยไทย วิ่งฉิวเฉลี่ย 50 สตางค์/กม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


     จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งสึนามิในญี่ปุ่น ทอร์นาโดในยุโรป-อเมริกา ไต้ฝุ่นและดีเปรสชั่นในเอเชีย ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและทรัพย์สินเสียหายเป็นวงกว้างในหลายประเทศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทั่วโลกต่างชี้ว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การลดภาวะโลกร้อนจึงเป็นประเด็นให้หลายประเทศรณรงค์ร่วมกันอนุรักษ์พลังงานและรักษ์สิ่งแวดล้อม

นักวิชาการจากสถาบันต่างๆทั้งในและต่างประเทศจึงค้นคว้าหาแหล่งพลังงานทดแทน จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ พลังลม ที่เป็นพลังงานฟรีมาชดเชยพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซ ที่นับวันจะหายากยิ่งและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
     "รถยนต์ไฟฟ้า" จึงมีบทบาทเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ลดโลกร้อน ลดมลพิษ ลดกลิ่น ลดเสียง ลดละอองฝุ่น ในระยะหลังจึงมีสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดียนำรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละค่าย ออกมาโชว์ถึงความสำเร็จของยานพาหนะไฟฟ้าเพียวๆ (Electric Vehicle :EV) แทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง หรือรถยนต์ Hybrid ที่ยังปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ และความร้อนจากเครื่องยนต์ จนมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ากรุงเทพมหานครใกล้ถึงจุดวิกฤตมลพิษ ทั้งทางอากาศและเสียงที่ออกจากปลายท่อไอเสียรถยนต์บนถนนหลายสาย รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นอีก 10 องศา ตามแหล่งการจราจรที่ติดขัด

      สุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยต้นแบบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้เปิดโอกาสให้ชมรถยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงขึ้นมา พร้อมให้ข้อมูลว่าเป็นรถยนต์ส่วนตัวชนิดเก๋ง 4 ประตู ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซิตี้ สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง โดยลงทุนส่วนตัวเพื่อเป็นต้นแบบ สำหรับผู้ที่มีแผนการเดินทางไม่เกิน 100 กม./วัน ทำความเร็วได้ 100 กม./ชั่วโมง หรือถ้าต้องการเดินทางมากกว่านี้ ก็หาที่เสียบชาร์จระหว่างที่ทำภารกิจได้ ตามสถานที่ที่มีปลั๊กไฟฟ้า 220 V. ให้เสียบชาร์จ 1 ชั่วโมง/13 กม. ก็จะเดินทางต่อได้ หลังเลิกงานถึงบ้านก็เสียบชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืน ระบบจะตัดเองเมื่อไฟเต็ม



"สุทัศน์" บอกว่า เคยค้นคว้าวิจัยเรื่องอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงทดลองกับรถตนเองใช้เวลากว่า 2 ปี โดยจัดหาซื้ออุปกรณ์จากเว็บไซต์ต่างประเทศ เฉพาะมอเตอร์และคอนโทรลเลอร์จากอเมริกา มีมูลค่ากว่า 200,000 บาท ได้นำ Induction Motor 96 V. Dc. & Controller Regenerative Braking มาผสมผสานกับอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเอง ทั้งวัสดุภายในประเทศ อาทิ แบตเตอรี่ตะกั่วกรด 12 V. ขนาด 160 A. ใต้ฝากระโปงหน้า 2 ลูก ฝากระโปรงหลัง 6 ลูก ชาร์จเจอร์, คอมเพรสเซอร์ ระบบแอร์คอนเดนชั่นของระบบไฟบ้านมาแปลงใส่ในรถอินเวอร์เตอร์, คอนเวอร์เตอร์, ตัวแปลงระบบไฟในรถ รวมๆ ที่ลงทุนไปกว่า 400,000 บาท ปัจจุบันขับรถไฟฟ้าไปทำงานตามปกติ ท่ามกลางจราจรคับคั่ง คิดคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าเฉลี่ย 50-60 สตางค์/กม. ซึ่งประหยัดกว่าที่เคยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สิ้นเปลือง 4 บาท/กม.

      ด้าน สมชาย วิมุกตานนท์ วิศวกรไฟฟ้า ฝ่ายบริหารบริษัท ทีโอที เป็นอีกหนึ่งในสายนักวิชาการสมัครเล่น ซึ่งพาชมแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นเผยว่า ได้ติดตั้งไว้ใช้ภายในหอพักกว่า 20 ยูนิต ให้พนักงานโรงงานเช่า มีการใช้ระบบไฟฟ้ากันเต็มที่ มีทั้งแสงสว่าง, ปั๊มน้ำ, เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น และแอร์

"ที่เหลือใช้จะส่งออกขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีรายได้ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ขนาดกำลังส่ง 22 KW. โดยเชื่อมกับระบบมิเตอร์ วัดปริมาตรการใช้ไฟฟ้า ตั้งอยู่บนพื้นที่ 100 ตารางวา ริมถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ต.ระแหง ข้างที่ว่าการอำเภอลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี บริเวณบนที่ดิน 1 ไร่เศษ โดยใช้บริเวณที่ว่างเป็นแอ่งบ่อน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นสถานที่ตั้งของแผงโซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาดที่ลงทุนครั้งเดียว เก็บผลประโยชน์นานนับสิบปี คุ้มทุนในเชิงพาณิชย์ รัฐบาลควรให้การส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่ออุดหนุน ด้านอนุรักษ์พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยลดดุลการค้า ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง"

"สมชาย" ระบุด้วยว่า ความเคลื่อนไหวด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมไม่เฉพาะภาคเอกชนเท่านั้น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็เคลื่อนไหว ได้จัดกิจกรรม "Leveraging for Tomorrow" ต่อยอดสู่วิถีชีวิตอนาคต นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Mitsubichi I-mive จากค่ายญี่ปุ่นออกโชว์ พร้อมจำลองสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อประชาสัมพันธ์ทิศทางการเติบโตและการบริหารจัดการของยนตกรรมพลังงานไฟฟ้า Electric Vehicle Technology ซึ่ง กฟน.เป็นผู้ดำเนินการผลักดันให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle (EV) Charging Station) เป็นแห่งแรกในประเทศ ที่การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ ซอยชิดลม และเตรียมเปิดเพิ่มอีก 9 สถานีรวมเป็น 10 สถานีภายในปี 2556

      ขณะที่ วรณันท์ วงษ์ยะลา เจ้าของธุรกิจศูนย์ติดตั้งแก๊สรถยนต์ ซีเอสเอ็ม มอเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองปทุมธานี บอกว่า คร่ำหวอดอยู่กับสายอาชีพระบบไฟฟ้าอุตสาหกรรมโรงงาน และเปิดบริการซ่อมดัดแปลงตกแต่งรถยนต์มานานกว่า 40 ปี ปัจจุบันหลังเกิดภาวะผันผวนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเชื้อเพลิงก๊าซทุกชนิด แนวโน้มที่ราคาขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงได้ศึกษาข้อมูลและนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าขนาด 5 ที่นั่ง เป็นแบรนด์จากอเมริกา มีฐานการผลิตในประเทศจีน ยี่ห้อ Green Wheel ที่ราคาไม่สูงเกินกว่าผู้บริโภครับได้ จากผลการทดสอบสมรรถนะความเร็ว 100 กม.ต่อ/ชม. ระยะทางวิ่งได้ 90-100 กม./ครั้งชาร์จ

"สามารถชาร์จไฟฟ้าต่อครั้ง 6-8 ชั่วโมง จาก 0 จนเต็มทางสายปลั๊กไฟฟ้าตามบ้านเรือน 220 V. ได้ระยะทางที่วิ่ง 100 กม. ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างพัฒนาระบบชาร์จ เชื่อมระบบบริการ Charging Station ของ กฟน.ด้วยแบตเตอรี่ Lithium ion. ที่ชาร์จด่วนภายใน 20-30 นาที ได้ค่าประจุไฟ 80% ก็จะได้ระยะทางเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 กม. มีน้ำหนักที่เบากว่า กำลังไฟมากกว่า แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด ที่ติดมากับรถ ให้ผู้บริโภคได้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน"

"วรณันท์" ทิ้งท้ายว่า ล่าสุดจึงเตรียมโครงการนำเข้าชิ้นส่วนประกอบ บริการอะไหล่ที่ราคาไม่สูง เพื่อดัดแปลงรถยนต์ทั่วไปให้เป็นรถไฟฟ้า พร้อมศูนย์บริการซ่อมบำรุงรองรับลูกค้า หากใครสนใจเชิญแวะชมได้ที่ www.evcarthailand.com หรือ www.csmautosave.com

 

โดย ไพศาล ตั่งยะฤทธิ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook