รีวิว Nissan X-Trail Hybrid เอสยูวีไฮบริดคุ้มค่าโดนใจ

รีวิว Nissan X-Trail Hybrid เอสยูวีไฮบริดคุ้มค่าโดนใจ

รีวิว Nissan X-Trail Hybrid เอสยูวีไฮบริดคุ้มค่าโดนใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      Nissan X-Trail ใหม่ ถือเป็นเอสยูวีมาแรงที่สุดรุ่นหนึ่งในบ้านเรานับตั้งแต่เปิดตัว ด้วยรูปลักษณ์สวยงามลงตัว ต่างจากโฉมก่อนที่ออกแบบให้เป็นเหลี่ยมสันอย่างชัดเจน บวกกับราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับอ็อพชั่นที่ได้ แต่จะดีแค่ไหนหากมาพร้อมเครื่องยนต์ฟูลไฮบริด  แถมยังคงไว้ซึ่งราคาที่บวกลบคูณหารยังไงก็คุ้มค่าน่าโดน


      Sanook! Auto จึงไปร่วมทดสอบ นิสสัน เอ็กซ์เทรล ไฮบริด ใหม่ บนเส้นทางกรุงเทพฯ-สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อพิสูจน์กันว่าเครื่องยนต์ไฮบริดบล็อกนี้ จะคุ้มค่าน่าซื้อจริงหรือไม่

 

      นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ตั้งเป้าจำหน่าย X-Trail Hybrid ไว้ถึง 5,000 คันต่อปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยสำหรับบ้านเรา เพราะยังมีรุ่นเครื่องยนต์เบนซินที่ยังคงหวังไว้ว่าจะทำยอดขายได้อย่างงดงามเช่นกัน ถือเป็นหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงความเอาจริงเอาจรังของนิสสัน ที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์กลุ่มนี้มาให้ได้มากที่สุด

      Nissan X-Trail Hybrid มีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่นย่อย ได้แก่ 2.0S 2WD Hybrid, 2.0E 2WD Hybrid และ 2.0V 4WD Hybrid ซึ่งใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกันทั้งหมด แต่ต่างออกไปที่รายละเอียดอุปกรณ์มาตรฐานภายนอก-ภายใน

 

      รูปลักษณ์ภายนอกของ X-Trail Hybrid ใหม่ ยังคงมีหน้าตาเหมือนกับเวอร์ชั่นเบนซินแทบทุกประการ โดยในรุ่นท็อปสุด (2.0V 4WD Hybrid) มาพร้อมไฟหน้าแบบ LED โปรเจคเตอร์ พร้อม Daytime Running Light แบบ LED ส่วนประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า (Auto Lift Gate) ยังคงมีมาให้ แต่ตัดหลังคาพาโนรามิคซันรูฟออกไปอย่างน่าเสียดาย โดยรุ่น 2.5 V 4WD เครื่องยนต์เบนซินเป็นเพียงรุ่นเดียวเท่านั้นในขณะนี้ที่มีหลังคาซันรูฟมาให้

      อย่างไรก็ดี ในเวอร์ชั่นไฮบริดมีการตกแต่งรายละเอียดปลีกย่อยให้ต่างออกไปจากรุ่นเบนซินเล็กน้อย เพิ่มการตกแต่งด้วยสีฟ้าบริเวณกระจังหน้า, ช่องดักลมกันชนหน้า, คิ้วขอบประตูท้าย รวมถึงติดตั้งสัญลักษณ์ Hybrid ไว้ที่ประตูคู่หน้าและประตูท้าย

      ในรุ่นไฮบริดติดตั้งล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 225/65 R17 มาให้เหมือนกันทั้งหมด

 

      ออพชั่นภายในของรุ่นไฮบริด มีทุกอย่างที่รุ่นเบนซินมีมาให้เช่นกัน จะต่างออกไปก็มีเพียงหลังคาพาโนรามิคซันรูฟ และแผงบังสายตาสำหรับที่นั่งแถวสามเท่านั้นที่ถูกตัดออกไปในรุ่นไฮบริด นอกนั้น หากเทียบรุ่นท็อปของทั้งเบนซินและไฮบริดดูแล้ว พบว่ามีอุปกรณ์มาตรฐานมาให้เหมือนกันทุกอย่าง

      ห้องโดยสารภายในใช้โทนสีดำล้วนในรุ่นท็อป ขณะที่ตัวรองและตัวล่างสุดเป็นสีเบจ ติดตั้งพวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ปรับระดับได้ 4 ทิศทาง มาพร้อมปุ่มควบคุมระบบ Cruise Control, ปุ่มโทรศัพท์, และปุ่มควบคุมหน้าจอ TFT 3D Meter บริเวณแผงหน้าปัด

 

      ในรุ่นท็อปสุด (2.0V 4WD Hybrid) ติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสีขนาด 7 นิ้ว รองรับ CD/MP3/AUX และช่องเชื่อมต่อ USB รวมถึงมีระบบ Nissan Connect สามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่าน Bluetooth ได้ และยังมีระบบนำทางมาให้ด้วย ขับกำลังเสียงด้วยลำโพง 6 จุดรอบคัน

      เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังแท้และวัสดุสังเคราะห์ สามารถปรับไฟฟ้าได้ 6 ทิศทาง ขณะที่ฝั่งผู้โดยสารปรับไฟฟ้าได้ 4 ทิศทาง โดยตัวเบาะให้ความกระชับ และฟองน้ำมีความหนานุ่มดี ส่วนเบาะนั่งแถว 3 ถูกตัดออกไปทุกรุ่น เนื่องจากต้องใช้พื้นที่สำหรับติดตั้งแบตเตอรี่ไฮบริดนั่นเอง

 

      ขุมพลังของ X-Trail Hybrid ติดตั้งเครื่องยนต์รหัส MR20DD Hybrid ซึ่งเป็นขุมพลังเบนซิน 4 สูบ Twin C-VTC ความจุ 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 144 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสูงสุด 41 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 160 นิวตัน-เมตร เมื่อทำงานร่วมกับเครื่องยนต์จะให้กำลังสูงสุด 179 แรงม้า (PS)

 

      จุดเด่นของ X-Trail Hybrid ในรุ่น 2.0V 4WD Hybrid ซึ่งเป็นรุ่นเดียวที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ สามารถเลือกโหมดการขับขี่ได้ 3 รูปแบบ ทั้ง 2WD, AUTO และ LOCK

      โดยหากตั้งไว้ที่โหมด AUTO จะเป็นการปล่อยให้ระบบเลือกถ่ายเทกำลังไปยังแต่ละล้อตามความเหมาะสม แต่หากเป็นทางตรงปกติ กำลังจะถูกถ่ายทอดไปยังล้อหน้าทั้งหมด และจะมีการถ่ายกำลังไปยังล้อคู่หลังเมื่อจำเป็น ซึ่งหน้าจอบริเวณมาตรวัดจะคอยแสดงข้อมูลการถ่ายทอดกำลังแต่ละล้อให้เห็นอย่างชัดเจน

      ขณะที่โหมด 2WD จะเป็นการบังคับให้ใช้เฉพาะล้อคู่หน้า และโหมด LOCK จะเป็นการบังคับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ กรณีที่ต้องมีการปีนป่าย หรือบนทางขรุขระ เป็นต้น

 

      ด้านระบบความปลอดภัยใน X-Trail Hybrid ติดตั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ถุงลมด้านข้าง, กล้องมองภาพรอบทิศทาง, กล้องมองหลัง, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมเสถียรภาพอัตโนมัติ (VDC), ระบบป้องกันการลื่นไถล (ABLS)

      รวมถึงยังมีระบบ Advanced Chassis Control ช่วยควบคุมการขับขี่ ซึ่งประกอบไปด้วยระบบลดอาการโยนตัวบนทางขรุขระ (ARC) ระบบช่วยลดความเร็วอัตโนมัติขณะเข้าโค้ง (AEB) ระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (ATC) ระบบช่วยออตัวบนทางลาดชัน (HAS) พร้อม Hill Descent Control สำหรับลงทางลาดชัน

 

      เราเริ่มต้นออกเดินทางบนถนนสาทร โดยมีโอกาสเป็นผู้โดยสารก่อน ซึ่งเบาะนั่งแถวหลังสามารถโดยสารได้อย่างสะดวกสบาย พื้นที่กว้างขวาง รวมถึงพื้นที่วางขาที่มีให้อย่างเหลือเฟือ ตัวพนักพิงเบาะเองสามารถปรับความเอนได้ ช่วยให้โดยสารได้สบายแม้ขับขี่ระยะทางไกล

      การทำงานของระบบไฮบริดแบบ Intelligent Dual Clutch System ใน X-Trail Hybrid ใหม่ ซึ่งชุดคลัทช์คู่ดังกล่าวใช้สำหรับตัดต่อกำลังระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ส่งกำลังด้วยเกียร์แบบอัตโนมัติ Xtronic CVT ที่ขึ้นชื่อเรื่องความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์อยู่แล้ว

 

      เมื่อเริ่มต้นออกสตาร์ทจากจุดหยุดนิ่ง ระบบไฮบริดจะสั่งให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเพียงอย่างเดียวก่อน อีกสักพักจึงสั่งให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อเสริมแรงบิดมากขึ้น ทั้งนี้ หากเป็นการเร่งเพียงเบาๆ เช่น การขับขี่ในหมู่บ้าน ก็จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อนเท่านั้น เพื่อลดการใช้น้ำมันนั่นเอง

      ในจังหวะที่เร่งเครื่องยนต์ไปจนถึงความเร็วที่ต้องการแล้ว หากขับขี่ด้วยความเร็วคงที่สม่ำเสมอ ระบบจะสั่งให้สลับการทำงานไปมาระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องยนต์ รวมถึงมีการปั่นประจุไฟเพื่อกลับเข้าไปชาร์จยังแบตเตอรี่ด้วย ดังนั้น เมื่อปล่อยคันเร่งออก ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (EV) จะเข้ามาทำงานทันที และตัดกำลังเครื่องยนต์ลง ช่วยเพิ่มความประหยัดได้อีกทางหนึ่ง

 

      ก่อนหน้านี้ นิสสันได้เคลมไว้ว่า X-Trail Hybrid สามารถรองรับใช้งานระบบ EV ได้บนความเร็วสูงสุดถึง 120 กม./ชม. ซึ่งการใช้งานจริงพบว่า ตัวระบบไฟฟ้าสามารถใช้เพื่อเลี้ยงความเร็วคงที่ได้เป็นระยะทางไม่มากนัก โดยมากจะเป็นจังหวะที่ความเร็วค่อยๆลดลง จึงจะมีการใช้งาน EV ได้จริงๆ รวมถึงแบตเตอรี่จะต้องมีประจุไฟเพียงพอด้วย

      แม้ว่าจะเป็นระบบไฮบริดแบบคลัทช์คู่อัจฉริยะ (คลัทช์คู่ที่ว่านี้ไม่ใช่ระบบเกียร์ แต่เป็นชุดคลัทช์สำหรับตัดต่อการทำงานระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์) แต่การขับขี่ไม่ต่างจากระบบฟูลไฮบริดรุ่นอื่นๆเท่าใดนัก โดยแบ่งการทำงานได้ดังนี้

      - เมื่อรถหยุดนิ่ง ระบบจะสั่งให้ตัดการทำงานของเครื่องยนต์โดยสิ้นเชิง คอมเพรสเซอร์แอร์ได้กำลังไฟจากมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ห้องโดยสารยังคงเย็นปกติ แต่หากแบตเตอรี่เหลือต่ำกว่าปกติ เครื่องยนต์จะติดขึ้นเพื่อชาร์จประจุไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่ และจะดับลงอีกครั้งหากแบตเตอรี่ได้ระดับเพียงพอแล้ว

      - เมื่อรถออกตัว ระบบจะเริ่มออกตัวด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จากนั้นเครื่องยนต์จะเริ่มทำงานเพื่อเสริมกำลัง แต่หากออกตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานผสานกันทันที เพื่อเรียกกำลังสูงสุด

      เมื่อใช้ความเร็วคงที่ ระบบจะสั่งให้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสลับกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยระบบ EV จะคอยเข้ามาทำงานเป็นระยะเมื่อใช้ความเร็วคงที่ หรือจังหวะที่ถอนคันเร่งออกมาเล็กน้อย ช่วยตัดการจ่ายน้ำมันลงอย่างสิ้นเชิงขณะโหมด EV กำลังทำงาน

      - เมื่อเร่งแซง เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานพร้อมกัน เพื่อเรียกกำลังสูงสุดได้อย่างเต็มที่

      - เมื่อชะลอความเร็ว ระบบจะใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หากมีการเติมคันเร่งซ้ำเล็กน้อย ก็จะยังคงอยู่ในโหมด EV โดยไม่ใช้น้ำมัน

 

      เดินทางมาถึงยังอ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทางทีมงานนิสสันได้เตรียมเส้นทางขึ้น-ลงเขา สำหรับการทดสอบระบบไฮบริดโดยเฉพาะ ซึ่งนิสสันเคลมไว้ว่าเอ็กซ์เทรล ไฮบริด สามารถขับเคลื่อนขึ้นทางชันได้ด้วยระบบไฟฟ้า (EV) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

      ซึ่งจากการทดสอบจริงพบว่า ตัวรถสามารถขับเคลื่อนขึ้นทางชันด้วยโหมด EV เพียงอย่างเดียวได้จริง แต่ความเร็วก็จะลดลงมามากเช่นกัน เนื่องจากถ้ามีการเติมคันเร่งลงไปเพียงนิดเดียว เครื่องยนต์จะเริ่มเข้ามาทำงานทันที ทำให้การฝืนเท้าไม่ให้เติมคันเร่งขณะขึ้นเนินเพื่อจะคงการทำงานของโหมด EV เอาไว้นั้น ดูเป็นเรื่องผิดวิสัยการใช้งานในชีวิตประจำวันไปสักนิด เพราะธรรมชาติคนเราต้องมีการเพิ่มน้ำหนักคันเร่ง เพื่อรักษาความเร็วรถเอาไว้อยู่แล้ว

 

      ทั้งนี้ X-Trail Hybrid ไม่มีปุ่มบังคับการทำงานของโหมด EV มาให้ โดยวิศวกรเคลมไว้ว่าการปล่อยให้ระบบไฮบริดตัดสินใจเลือกการทำงานด้วยตัวเอง จะช่วยให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ยกตัวอย่างกรณีขับรถเข้าหมู่บ้าน หากใช้โหมด EV เพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อน ตื่นมาตอนเช้าก็จำเป็นต้องใช้น้ำมันอยู่ดี เนื่องจากพลังงานในแบตเตอรี่ถูกใช้ไปหมดแล้ว

      ในช่วงขากลับ ผู้เขียนมีโอกาสได้ขับเป็นระยะทางยาวๆ พบว่า X-Trail Hybrid สามารถใช้ความเร็วถึง 160 กม./ชม. ได้อย่างสบายๆ บนถนนพระราม 2 ตัวรถยังคงนิ่งและอยู่ในการควบคุม ขณะที่การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารถือว่ารับได้ สามารถคุยกันภายในรถโดยไม่ต้องตะเบงเสียงแต่อย่างใด

 

     สรุป Nissan X-Trail Hybrid ถือเป็นเอสยูวีที่คุ้มค่ามากที่สุดคันหนึ่งในตลาดขณะนี้ ด้วยราคาที่ใกล้เคียงกับแบรนด์อื่นๆ แต่ได้เทคโนโลยีไฮบริดมาใช้ รูปลักษณ์ภายนอกสวยงามลงตัว บวกกับอ็อพชั่นภายในที่เหลือเฟือ มีให้เลือกเฉพาะรุ่น 5 ที่นั่ง เนื่องจากต้องเจียดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับแบตเตอรี่ไฟฟ้า ส่วนหลังคาพาโนรามิคซันรูฟที่หายไป ก็ได้พื้นที่เหนือศีรษะโปร่งโล่งมาแทน


     ราคาจำหน่าย Nissan X-Trail Hybrid ใหม่ มีดังนี้

  • 2.0S 2WD Hybrid ราคา 1,249,000 บาท
  • 2.0E 2WD Hybrid ราคา 1,324,000 บาท
  • 2.0V 4WD Hybrid ราคา 1,395,000 บาท *รุ่นที่ใช้ในการทดสอบ

 

     ขอขอบคุณผู้บริหารและทีมงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เกียรติเชิญเข้าร่วมทดสอบในครั้งนี้

 


อัลบั้มภาพ 55 ภาพ

อัลบั้มภาพ 55 ภาพ ของ รีวิว Nissan X-Trail Hybrid เอสยูวีไฮบริดคุ้มค่าโดนใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook