รีวิว Ford Ranger 2015 กระบะแกร่ง ฟังก์ชั่นเพียบ ช่วงล่างเยี่ยม

รีวิว Ford Ranger 2015 กระบะแกร่ง ฟังก์ชั่นเพียบ ช่วงล่างเยี่ยม

รีวิว Ford Ranger 2015 กระบะแกร่ง ฟังก์ชั่นเพียบ ช่วงล่างเยี่ยม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ปัจจุบันการใช้งานรถกระบะ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น แต่หลายคนยังใช้รถกระบะในชีวิตประจำวันทั่วๆไป เช่น ไปทำงาน ไปเที่ยวกับครอบครัว ฯลฯ ทำให้หลายค่ายต่างพัฒนารถกระบะเพื่อตอบสนองกลุ่มไลฟ์สไตล์กันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘Ford Ranger 2015 ไมเนอร์เชนจ์’ ใหม่นั่นเอง


     ว่าไปแล้ว การไมเนอร์เชนจ์ของฟอร์ดครั้งนี้ ถือเป็นระดับบิ๊กไมเนอร์เชนจ์เลยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ต่างออกไปจากเดิมเท่านั้น แต่ยังมีการยกเครื่องภายในห้องโดยสาร รวมไปถึงปรับปรุงระบบช่วงล่างให้ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน

     ขบวนรถที่นำมาให้เราทดสอบในครั้งนี้ มีทั้งรุ่นโอเพ่นแค็บ 2 ประตู และดับเบิ้ลแค็บ 4 ประตู แต่รุ่นที่เราได้รับมอบหมายทดสอบทั้งขาไปและกลับเป็นรุ่น Double Cab 3.2L Wildtrak 4x4 เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งก็คือรุ่นท็อปสุดเท่าที่มีจำหน่ายนั่นเอง

 

     รูปลักษณ์ภายนอกของ Ranger 3.2 Wildtrak ถูกออกแบบให้ดูบึกบึน แข็งแรง ติดตั้งไฟหน้าแบบโปรเจคเตอร์ฮาโลเจน ออกแบบรับกับกระจังหน้าสีดำขนาดใหญ่ ต่อเนื่องไปถึงบริเวณกันชน หากเลือกตัวถังที่มีสีสว่าง ก็จะตัดกันดูลงตัวไม่เลวทีเดียว พร้อมติดตั้งไฟตัดหมอกทรงเหลี่ยมบริเวณกันชน

     นอกจากนั้น ในรุ่น Wildtrak ยังมาพร้อมชุดแต่งภายนอกอื่นๆ ได้แก่ บันไดข้างสีดำตกแต่งด้วยสีเงิน, สปอร์ตบาร์และราวหลังคา, ราวเสริมขอบกระบะท้าย, กันชนหลังไวด์แทร็ก, กระจกมองข้างไวด์แทร็ก, ไฟส่องสว่างข้างตัวรถ, พื้นปูกระบะท้าย, ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์บริเวณพื้นปูกระบะ และล้ออัลลอยสีดำกลึงหน้าเงาขนาด 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 265/60 R18

 

     จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรนเจอร์ 2015 ใหม่ ก็คือฟังก์ชั่นภายในห้องโดยสาร ที่เรียกว่าจัดมาให้อย่างครับครันเหนือว่ารถเก๋งด้วยซ้ำไป เริ่มต้นที่ชุดเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ที่มีอินเตอร์เฟสเรียบง่ายและสวยงาม มีการแบ่งสีตามโหมดการใช้งานชัดเจน รองรับการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth และรองรับคำสั่งเสียงด้วย SYNC 2 ที่ฟังคำสั่งได้หลากหลายและเข้าใจสำเนียงอังกฤษแบบไทยๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ติดตั้งระบบนำทางมาให้

     เครื่องเสียงดังกล่าวยังมาพร้อมพอร์ต USB จำนวน 2 จุด และ AUX อีก 1 จุด ช่องเสียบ SD Card รวมถึงระบบ Wi-Fi Hotspot ขับกำลังเสียงผ่านลำโพงทั้งหมด 6 ตัวด้วยกัน

 

     ขยับลงมาด้านล่างเป็นแผงควบคุมเครื่องเสียงที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น ปุ่มจูนคลื่นวิทยุ, ปุ่มปรับระดับเสียง, เลื่อนเพลงหน้า-หลัง, และปุ่ม Eject ทำให้การใช้งานขณะขับรถสะดวกมากขึ้น เพราะไม่ต้องเล็งกดปุ่มผ่านหน้าจอสัมผัสเพียงอย่างเดียว

     ถัดลงไปอีกจะเป็นปุ่มควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแบบ Dual-zone ซึ่งใช้หน้าจอร่วมกับชุดเครื่องเสียงด้านบน รวมถึงยังสามารถปรับฟังก์ชั่นต่างๆ ผ่านหน้าจอสัมผัสได้ด้วย

 

     ทางฝั่งผู้ขับจะพบกับพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้าน พร้อมปุ่มการใช้งานหลากหลาย (มาก) ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับควบคุมเครื่องเสียงและระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแล้ว ยังมีปุ่มที่ใช้สำหรับควบคุมหน้าจอมาตรวัดแบบ Dual TFT อีกด้วย ซึ่งหน้าจอดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามแล้ว ยังช่วยให้สามารถแสดงข้อมูลการขับขี่ได้หลากหลายมากขึ้น โดยเข็มวัดรอบเครื่องยนต์แบบดิจิตอลจะปรากฏอยู่บนจอฝั่งขวา จากเดิมที่เป็นแบบอนาล็อกปกติ

     ก้านไฟเลี้ยวถูกติดตั้งไว้บริเวณขวามือเช่นเดียวกับรถญี่ปุ่นทั่วไป ส่วนก้านที่ปัดน้ำฝนถูกติดตั้งไว้ทางด้านซ้าย มาพร้อมระบบปัดอัตโนมัติ สามารถตั้งความไวต่อปริมาณน้ำฝนได้

 

     นอกจากนั้น ภายในห้องโดยสารยังติดตั้งกระจกมองหลังแบบตัดแสงอัตโนมัติ, ช่องจ่ายไฟ 12 โวลต์จำนวน 2 จุด, ช่องจ่ายไฟแบบ 230 โวลต์อีก 1 จุด, ไฟตกแต่งภายในห้องโดยสารเลือกได้ 7 สี, กระจกแต่งหน้าพร้อมไฟส่องสว่างทั้ง 2 ข้าง, หัวเกียร์และพวงมาลัยออกแบบสำหรับรุ่น Wildtrak เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่กุญแจเป็นแบบเสียบบิด ยังไม่ใช่กุญแจประเภทสมาร์ทคีย์ที่ใช้กับปุ่มสตาร์ทแต่อย่างใด

 

     เส้นทางการทดสอบในครั้งนี้เป็น กทม.-กาญจนบุรี รวมระยะทางประมาณ 331 กิโลเมตร พร้อมผู้ร่วมทริปจากเว็บไซต์ 9carthai.com อีก 1 ท่าน ซึ่งก็มากพอที่จะบอกเล่าประสบการณ์การขับขี่ให้คุณผู้อ่านได้ทราบกัน

 

     เริ่มต้นเข้ามายังห้องโดยสารของเรนเจอร์ 2015 ใหม่ ก็สัมผัสได้ถึงความทันสมัยเพิ่มขึ้นจากเดิมชัดเจน ด้วยหน้าจอเครื่องเสียงขนาดใหญ่ พร้อมทั้งชุดมาตรวัดแบบ Dual TFT ที่เห็นแล้วก็พลางคิดว่านี่มันน้องๆ ‘วอลโว่’ ชัดๆ!

     ตัวเบาะนั่งมีขนาดใหญ่ โอบกระชับสรีระได้ดี พร้อมปุ่มปรับไฟฟ้าได้ 8 ทิศทาง (เฉพาะฝั่งผู้ขับ) ตัวกล่องเก็บสัมภาระคอนโซลกลางสามารถใช้เป็นที่วางแขนได้ เช่นเดียวกับแผงประตูที่พอวางแขนได้เช่นกัน

 

     กระจกหน้าต่างสามารถกดขึ้น-ลงอัตโนมัติฝั่งคนขับได้ ติดตั้งปุ่มล็อคประตูแบบไฟฟ้า ขณะที่ปุ่มเปิด-ปิดไฟหน้าสามารถเลือกความสูงของระดับไฟหน้าได้ 4 ระดับ ตามน้ำหนักบรรทุกของตัวรถ ซึ่งโดยรวมแม้ว่าจะมีปุ่มจำนวนมาก แต่หากเข้าใจหน้าที่ของแต่ละฟังก์ชั่นก็สามารถใช้งานได้ง่าย และสะดวกสบายขึ้น

 

     ขุมพลังของคันนี้เป็นเครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบแถวเรียง VG Turbo และอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 3.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 200 แรงม้า (PS) ที่ 3,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 470 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750 - 2,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ซึ่งเมื่อบวกกับพวงมาลัยแบบไฟฟ้า EPAS ชุดใหม่ เช่นเดียวกับ Everest แล้ว ทำให้กระบะเรนเจอร์คันนี้ค่อนข้างคล่องตัวเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับรถกระบะรุ่นอื่นๆในท้องตลาดขณะนี้ เพราะนอกจากพวงมาลัยจะมีน้ำหนักเบายามขับขี่ในเมือง ยังมาพร้อมความคมและแม่นยำใกล้เคียงกับรถเก๋ง

     อัตราเร่งของเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร สัมผัสได้ถึงแรงบิดอันมหาศาลที่มีให้เรียกใช้งานได้ตลอด แม้ส่วนหนึ่งจะต้องเสียกำลังให้กับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แต่ก็ยังเรียกได้ว่ากดเป็นมา สามารถทำท็อปสปีดสูงสุดได้ที่ 185 กม./ชม. (ถูกล็อคความเร็วสูงสุดไว้)

 

     โดยขณะที่ใช้ความเร็วสูงนั้น ช่วงล่างของเรนเจอร์แบบอิสระปีกนกคู่ พร้อมคอยล์สปริงด้านหน้า และด้านหลังแบบแหนบ ให้ความหนักแน่น มั่นใจ สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี แม้จะติดความกระด้างเล็กๆให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นช่วงล่างที่เซ็ทมาอย่างเหมาะเจาะพอดิบพอดีทั้งการใช้งานในเมือง และยามใช้งานที่ความเร็วสูงเมื่อขับขี่ออกต่างจังหวัด ถือเป็นช่วงล่างที่โดดเด่นที่สุดในท้องตลาดขณะนี้

     ก่อนจะมาถึงจุดหมายที่จังหวัดกาญจนบุรี ทางฟอร์ดเองยังได้จัดทดสอบการขับขี่บนทางลาดชัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (HLA) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (HDC) รวมไปถึงแรงบิดที่มีให้ใช้ถึง 470 นิวตัน-เมตร

 

     ซึ่งแม้ว่าจะต้องหยุดรถค้างเติ่งบนทางที่มีความลาดชันถึง 50 องศา แต่ระบบ HLA ก็ยังสามารถหยุดรถให้นิ่งสนิทเพื่อช่วยให้เราสลับเท้าจากแป้นเบรกไปเหยียบคันเร่ง เป็นเวลา 3 วินาทีถ้วน โดยไม่ทำให้รถไหลลงมา เช่นเดียวกับระบบ HDC ที่สามารถควบคุมระบบเบรกแทนเราได้ แม้ขณะลงเขาที่มีความชันถึง 60 องศา โดยที่เราไม่ต้องเหยียบเบรกเลยแม้แต่นิดเดียว

     ตัวระบบจะค่อยๆ ปล่อยให้รถไหลลงมาอย่างช้าๆ ตามสภาพความชันในขณะนั้น รวมถึงเราเองยังสามารถควบคุมความเร็วของตัวรถผ่านทางปุ่ม +, - ของระบบ Cruise Control ได้อีกด้วย

 

     การเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนจาก 2 ล้อเป็น 4 ล้อ ก็สามารถหมุนปุ่มควบคุมบริเวณใกล้กับหัวเกียร์ได้ โดยมีให้เลือกทั้งโหมด 2H, 4H และ 4L พร้อมระบบ Locking Rear Differential แต่น่าเสียดายที่การทดสอบครั้งนี้ ไม่มีสภาพถนนที่เหมาะสมกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อได้ลองกัน

     นอกจากนั้น ยังมีการทดสอบบนสภาพถนนจำลองแบบหิน ซึ่งช่วงล่างของเรนเจอร์ก็สามารถดูดซับแรงสะเทือนได้เป็นอย่างดี ขณะที่แรงสะเทือนเข้ามายังพวงมาลัยก็ถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ เพราะต้องบอกว่าพื้นหินตรงนั้น ออกแบบมาเพื่อใช้ทดสอบกับรถทางการทหารด้วยซ้ำ

 

     ฟอร์ด เรนเจอร์ ไมเนอร์เชนจ์ใหม่ ยังมาพร้อมระบบความปลอดภัยอีกมากมาย ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า, ด้านข้างและม่านถุงลมนิรภัย, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบควบคุมการทรงตัว ESP และป้องกันล้อฟรี TCS, ระบบควบคุมการส่ายขณะลากจูง, ระบบป้องกันการพลิกคว่ำ, สัญญาณกะยะระรอบคัน, กล้องมองหลังขณะถอยจอด, เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดทั้ง 5 ที่นั่ง เป็นต้น

 

     สรุป Ford Ranger 3.2L Wildtrak 4x4 6AT ถือเป็นกระบะที่โดดเด่นในหลายๆด้าน ทั้งพละกำลังเครื่องยนต์, ช่วงล่างที่เซ็ทมาอย่างเหมาะเจาะทั้งใช้งานในเมืองและนอกเมือง, อ็อพชั่นภายในที่จัดมาไม่แพ้รถยุโรปบางรุ่น จนพูดได้เต็มปากว่า หากใครกำลังมองหากระบะเอาไว้ใช้งานตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบลุยๆ แมนๆ (แต่ผู้หญิงก็ขับได้) ไม่เกี่ยงเรื่องงบประมาณ ก็จัดไปได้เลย

     ราคาจำหน่าย Ford Ranger 3.2L Wildtrak 4x4 6AT อยู่ที่ 1,139,000 บาท

 

 

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ ของ รีวิว Ford Ranger 2015 กระบะแกร่ง ฟังก์ชั่นเพียบ ช่วงล่างเยี่ยม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook