ดูแลรถหลังน้ำท่วมจากเซียน ...ข้อควรปฏิบัติเมื่อประสบภัย

ดูแลรถหลังน้ำท่วมจากเซียน ...ข้อควรปฏิบัติเมื่อประสบภัย

ดูแลรถหลังน้ำท่วมจากเซียน ...ข้อควรปฏิบัติเมื่อประสบภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงนี้ ทุกคนคงได้ยินข่าวอุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงอิทธิพลของมรสุมฤดูฝน ที่พัดผ่านเข้าประเทศไทย ก็ทำให้พายุฝนฟ้าคะนองมีให้เห็นเกือบทุกวัน ดังนั้น ในช่วงอากาศแปรปรวนสุดจะคาดเดาเช่นนี้ ฟอร์ด ประเทศไทย มีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคน สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนน้ำท่วม รวมถึงให้เทคนิคง่ายๆ ในการดูแลรักษารถยนต์หลังผ่านช่วงวิกฤติ

เตรียมความพร้อมก่อนน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วม นับเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ถ้าเราพอจะมีเวลาหลังทราบข่าว ขอแนะนำให้นำรถยนต์ของคุณ ไปจอดไว้ในที่สูง และเก็บสิ่งของมีค่าออกจากรถ ถอดขั้วแบตเตอรี่ออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟลัดวงจร

ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อน้ำท่วม

สำรวจเส้นทางก่อนการเดินทางให้ดี หากหลีกเลี่ยงได้ ควรขับรถอ้อมเส้นทางปกติที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากจะสามารถลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะน้ำท่วมได้ แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ การขับรถผ่านพื้นที่ที่มีน้ำท่วม มีข้อควรปฎิบัติ ดังนี้

  • ปิดแอร์ การทำงานของพัดลมระบายความร้อน และสายพานจากคอมเพสเซอร์แอร์ซึ่งปกติมักจะติดตั้งอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้ตีน้ำเข้าให้ห้องเครื่อง ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ หรือ ตีเศษขยะ ถุงพลาสติก หรือเศษไม้ขึ้นมาทำความเสียหายให้แก่เครื่องยนต์ได้ ทั้งนี้ระบบระบายความร้อนควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพราะการปิดแอร์จะทำให้พัดลมระบายความร้อนจากแอร์หยุดทำงาน หากระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์จุดอื่นไม่สมบูรณ์จะส่งผลเสียหายต่อเครื่องยนต์ได้เช่นกัน

  • ใช้รอบเครื่องต่ำ ใช้เกียร์ต่ำ แนะนำให้ใช้เกียร์ 2 สำหรับรถยนต์ทั้งเกียร์ธรรมดาและเกียร์ออโต้ (หรือเกียร์ L สำหรับเกียร์ออโต้บางรุ่น) ค่อยๆ ขับรถช้าๆ อย่าเหยียบเบรก หรือเร่งความเร็วโดยไม่จำเป็น

  • อย่าเบิ้ล หรือเร่งเครื่องแรงๆ ผู้ขับหลายๆ ท่านเกรงน้ำจะเข้าเครื่องยนต์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงดันจากท่อไอเสียก็เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่ท่อไอเสีย การเร่งเครื่องจะสร้างภาระการทำงานให้เครื่องยนต์ ทำให้เกิดความร้อนที่สูงขึ้น และใบพัดลมระบายความร้อนก็จะตีเอาน้ำหรือเศษขยะเข้าใส่ห้องเครื่องอีกเช่นกัน

  • ค่อยๆ เบรก ซ้ำๆ บ่อยๆ เมื่อพ้นจากพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว สิ่งอันตรายคือ "เบรกลื่น" วิธีการง่ายๆ ที่จะแก้ไขได้ คือ ค่อยๆ เหยียบเบรก เหยียบย้ำๆ เบาๆ แต่ทำบ่อยๆ การเหยียบเบรกแรงๆ อาจจำให้เกิดการล็อคของระบบเบรก ทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ นอกจากนี้การเเหยียบเบรกแรงๆ จะทำให้เกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จานเบรกคดจากการขยายตัวและหดตัวของเนื้อเหล็กได้

สิ่งที่ควรทำหลังน้ำท่วม

เมื่อระดับน้ำเริ่มลด หนึ่งในสิ่งแรกที่เจ้าของรถส่วนใหญ่มักนึกถึง คือ "รถจะเป็นอย่างไรบ้าง?" ฟอร์ด ประเทศไทย แนะนำเคล็ดลับง่ายๆ ต่อไปนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า รถยนต์คันเก่ง จะสามารถกลับมาแล่นฉิวได้ในเวลาไม่นาน

  • เปิดประตูและกระจกออกให้กว้าง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีอากาศถ่ายเทได้อย่างดีที่สุด เพื่อป้องกันกลิ่นอับชื้น

  • อย่าสตาร์ทรถทันที แนะนำให้เปิดฝากระโปรงรถ เพื่อสำรวจให้มั่นใจว่าไม่มีเศษอะไรมาติดอยู่ในตัวเครื่องยนต์ รวมถึงตรวจเช็คชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในตัวถัง พร้อมทั้งสายไฟในบริเวณต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ หากไม่มั่นใจ แนะนำให้นำรถเข้าศูนย์บริการโดยใช้รถยก เพื่อป้องความเสียหายที่ไม่คาดคิดได้

  • อย่าพ่วงไฟ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่มีระบบไฟฟ้าลัดวงจรที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบเครื่องยนต์ และระบบไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

  • ทำความสะอาดรถยนต์ โดยเฉพาะภายใน แนะนำให้ทำความสะอาดภายในรถยนต์อย่างละเอียด ตั้งแต่การถอดพรมปูพื้น การซักทำความสะอาดเบาะ (ในกรณีที่เป็นเบาะผ้า) รวมถึงการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคในฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของอากาศที่จะหมุนเวียนในรถเมื่อเราเปิดแอร์

  • นำรถเข้าศูนย์ให้เร็วที่สุด ให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียด รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาแอร์ น้ำมันเครื่อง น้ำมันเฟืองท้าย รวมถึงน้ำมันรถในถัง ที่อาจจะเกิดการเสื่อมคุณภาพจากการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอีกด้วย


หลากเคล็ดลับเหล่านี้คือข้อควรปฏิบัติเมื่อภัยพิบัติไม่อาจจะเลี่ยงได้ แต่อย่างน้อยๆ หากคุณสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ ทำให้รถสุดที่รักไม่เสียหายเยอะ แต่ถ้าคุณอยากได้รถที่ลุยโหดทุกเส้นทางแล้ว ฟอร์ด ฝากมาบอกว่า Ford Ranger ใหม่สามารถลุยน้ำท่วมได้ถึง 80 เซนติเมตร

ขอบคุณบทความดีๆ จาก ฟอร์ด ประเทศไทย

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ ดูแลรถหลังน้ำท่วมจากเซียน ...ข้อควรปฏิบัติเมื่อประสบภัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook