Pregnancy A to Z รวมเรื่องท้องน่ารู้ ตอน 1

Pregnancy A to Z รวมเรื่องท้องน่ารู้ ตอน 1

Pregnancy A to Z รวมเรื่องท้องน่ารู้ ตอน 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Pregnancy A to Z
รวมเรื่องท้องน่ารู้ ตอน 1

สาระน่ารู้เกี่ยวกับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีมากมาย ตามอ่านทั้งหมดคงไม่ไหว เราจึงรวบรวมเรื่องน่ารู้สำคัญๆ มาให้คุณแม่ โดยเรียงลำดับจาก A-Z เพื่อให้อ่านได้ง่ายๆ มาฝากกันค่ะ

A น้ำคร่ำ (Amniotic Fluid)
น้ำคร่ำคือน้ำที่อยู่ในถุงที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ มีหน้าที่ปกป้องทารกไม่ให้กระทบกระเทือน ช่วยป้องกันการติดเชื้อให้แก่ทารก ช่วยรักษาอุณหภูมิทารกให้คงที่ ในไตรมาสแรกน้ำคร่ำจะมาจากเลือดของแม่ที่กรองผ่านรก เยื่อหุ้มเด็กทารก และจากของเหลวที่ซึมผ่านจากผิวของทารก พอไตรมาสที่สองและสาม น้ำคร่ำจะมาจากปัสสาวะของลูก โดยธรรมชาติจะมีการควบคุมปริมาณน้ำคร่ำไม่ให้มากหรือน้อยไป โดยอาศัยการกลืนและขับถ่ายปัสสาวะของทารกในครรภ์เป็นหลัก

การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจหากลุ่มทารกเด็กดาวน์ซินโดรม สมัยก่อนจะให้คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปรับการตรวจ แต่ปัจจุบันแนะนำให้แม่ตั้งครรภ์ตรวจทุกคน เมื่ออายุครรภ์ 15-20 สัปดาห์ หรือตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณแม่และครอบครัวเองด้วยซึ่งปัจจุบันการเจาะน้ำคร่ำมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ค่อนข้างต่ำ โดยหลังการเจาะตรวจน้ำคร่ำ คุณแม่ควรนอนพัก และไม่ควรออกแรงหนักโดยเด็ดขาด

รู้หรือไม่
หากน้ำคร่ำมีน้อยกว่า 400 ซีซี เรียกกว่าน้ำคร่ำน้อย และไม่ควรมีมากกว่า 1,000 ซีซี โดยน้ำคร่ำมีมากที่สุดเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจึงค่อยๆ ลดลง หากมีมากกว่า 2,000 ซีซี เรียกว่าน้ำคร่ำมาก

 

B การนับลูกดิ้น (Baby Movement)
การนับลูกดิ้นเพื่อเช็คว่าลูกปกติดีไม่มีภาวะอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทางการแพทย์จะแนะนำให้นับและจดบันทึกการดิ้นของลูกเมื่อคุณแม่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคประจำตัวอื่นๆ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีครรภ์ปกติก็ต้องคอยสังเกตเช่นกัน หากลูกไม่ดิ้นเลยทั้งวัน ก็แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ โดยปกติเด็กควรดิ้นอย่างน้อย 10 ครั้ง ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง แต่หากรู้สึกว่าดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง หรือใช้เวลานานกว่าจะดิ้น ก็ควรรีบปรึกษาหมอทันที
วิธีนับง่ายๆ คือ ให้นับหลังมื้ออาหารหรือเวลาที่ลูกดิ้นบ่อยๆ เวลาเดิมทุกวัน หากลูกดิ้นน้อย เขาอาจหลับอยู่ ให้ปลุกด้วยการหาอะไรหวานๆ กิน เช่น น้ำผลไม้สักแก้ว หรือลุกเดินไปเดินมาก็ได้ ส่วนอายุครรภ์ที่แนะนำให้เริ่มนับคือ 26-28 สัปดาห์ ส่วนก่อนหน้านั้นแค่รู้สึกว่าดิ้นก็พอแล้วค่ะ


C ตะคริว(Cramps)
เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อในการแบกน้ำหนักอย่างมากนานถึง 9 เดือน ทำให้กล้ามเนื้อหดรัดเกร็งมากกว่าปกติ นอกจากนี้กล้ามเนื้อของเราต้องใช้แคลเซียมสำหรับหดเกร็ง คลายตัว เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมจำนวนมากไปให้ลูกน้อย เมื่อแคลเซียมน้อยก็ทำให้คุณแม่เป็นตะคริวได้ บริเวณที่เป็นตะคริวได้บ่อยๆ คือ น่อง วิธีป้องกันคือ แช่น่องในน้ำอุ่นและบีบนวดเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว อีกวิธีคือกินแคลเซียมให้เพียงพอประมาณวันละ 1,500 มิลลิกรัม
เมื่อเป็นตะคริว สิ่งแรกคือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นให้ช่วยยืดขาให้ จากนั้นให้เขาจับฝ่าเท้าข้างที่เป็นตะคริวขึ้น มือข้างหนึ่งดันฝ่าเท้าเข้าหาตัวคุณแม่ มืออีกข้างให้รูดขึ้นลงตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย ทำไม่นานก็หายค่ะ



D เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Diabetes)
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดที่สร้างจากรกซึ่งมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนอินซูลิน ยิ่งคุณแม่ท่านใดชอบรับประทานอาหารรสหวาน ไขมันสูง หรือมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน มีไขมันสะสมที่หน้าท้องมากเกินอยู่แล้ว ยิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ที่เข้าข่ายหรือมีความเสี่ยงจะได้รับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ยกเว้นผู้มีความเสี่ยงสูงมากๆ จะได้รับการตรวจทันทีที่ฝากครรภ์ การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด คลอดยากเพราะทารกตัวโต หรือทารกมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต



E ออกกำลังกาย (Exercise)
คุณแม่ท้องที่ออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายลดความตึงเครียด ยิ่งกว่านั้นยังช่วยให้มีแรงต่อสู้กับความเหนื่อยล้าและกระตุ้นให้อยากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แถมร่างกายยังหลั่งสารความสุขทำให้คุณแม่รู้สึกร่าเริงอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ท้องทุกคนจะสามารถออกกำลังกายได้ คุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น เคยแท้ง คลอดก่อนกำหนด มีโรคประจำตัว คุณหมออาจจะแนะนำให้งดออกกำลังกายได้ค่ะ

แต่สำหรับคุณแม่ท้องที่คุณหมอไฟเขียวแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สำรวจตัวเองก่อนว่า ร่างกายพร้อมออกกำลังแค่ไหน ก่อนท้องเคยออกกำลังกายมาหรือไม่ หากไม่เคยหรือออกกำลังบ้างแต่น้อย ให้ค่อยเริ่มทำเบาๆ และระยะเวลาสั้นๆ แค่ 10 นาทีก่อน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น งดออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงกระแทกมากๆ เช่น การกระโดด การหมุนตัว ที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม และการบริหารที่ต้องเกร็งหน้าท้อง ที่สำคัญหากรู้สึกเหนื่อย หอบ ให้ค่อยๆ หยุดพัก อย่าฝืนเด็ดขาด ดื่มน้ำมากๆ และอยูในที่อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนจนเกินไป



F กรดโฟลิก(Folic Acid)
กรดโฟลิกเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อลูกน้อยในครรภ์ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ โดยจะช่วยลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น โรคท่อระบบประสาทไม่ปิด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นต้น จึงแนะนำอย่างยิ่งให้คุณแม่กินตั้งแต่เริ่มวางแผนมีลูกและกินต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรก โดยคนปกติให้กินวันละ 100-200 ไมโครกรัม ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ให้กินวันละ 400 ไมโครกรัม และกินอาหารอื่นที่มีโฟเลตเพิ่มด้วย เช่น ไข่แดง ปลา นมสด โยเกิร์ต ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้ เป็นต้น



G เชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส (Group B Strep)
Group B Strep คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักซ่อนตัวอยู่บริเวณช่องคลอด เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด น้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์ หรือหากระหว่างคลอดมีการปนเปื้อนเชื้อนี้ไปสู่ลูก จะทำให้ลูกติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ซึม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้

การตรวจหาเชื้อ Group B Strep สามารถทำได้เมื่ออายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ หรือในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงคือ เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำเดินก่อนกำหนด และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ



H ลูกสะอึก (Hiccups)
การสะอึกคือพัฒนาการการหายใจของทารกในครรภ์แบบหนึ่ง ไม่ได้มีอันตรายอะไร โดยเด็กจะมีพัฒนาการด้านการหายใจตั้งแต่ในครรภ์ โดยหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าออก ซึ่งช่วยเรื่องพัฒนาการของปอดด้วย การสะอึกจึงเป็นการช่วยฝึกการทำงานของกะบังลมให้ยืดหด สักพักลูกจะหยุดสะอึกเอง แต่หากรู้สึกว่าลูกสะอึกบ่อยหรือถี่มากหรือมีอะไรผิดปกติ ก็ควรพบคุณหมอทันที คุณหมอจะอัลตร้าซาวด์ดูสายสะดือหรือปริมาณน้ำคร่ำว่าผิดปกติหรือไม่



I ธาตุเหล็ก (Iron)
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนทั่วไป เพราะร่างกายต้องนำมาสร้างรกและทารก สร้างเลือดให้แม่ เพราะฉะนั้นการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ และอาจนำไปสู่โรคโลหิตจางได้ ซึ่งโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเพิ่มความเสี่ยงในการแท้ง คลอดก่อนกำหนด ลูกในครรภ์น้ำหนักน้อย หรือมีโลหิตจางร่วมด้วย

คุณแม่ตั้งครรภ์ปกตินั้นต้องการธาตุเหล็กตลอดการตั้งครรภ์ 1,000 มิลลิกรัม โดย 300 มิลลิกรัมไปสร้างรกและทารก 500 มิลลิกรัมไปเพิ่มโลหิตให้แม่ และ 200 มิลลิกรัมถูกขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ การกินธาตุเหล็กจะได้ผลดีต้องกินคู่กับอาหารที่เป็นกรดอย่างน้ำส้มคั้น หรือวิตามินซี 250 มิลลิกรัม เพราะกรดจะช่วยร่างกายดูดซับธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ดังนั้นแม้ขณะตั้งครรภ์จะไม่มีภาวะโลหิตจาง ก็ยังต้องกินธาตุเหล็กเสริม เพราะธาตุเหล็กจากแหล่งอาหารปกตินั้นไม่เพียงพอค่ะ

เรื่องน่ารู้ของคุณแม่ท้องยังไม่หมด ติดตาม Pregnancy A to Z รวมเรื่องท้องน่ารู้ได้ต่อในฉบับหน้าค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook