เคล็ดลับการนำรากบัวมาปรุงอาหารให้อร่อยแบบคนญี่ปุ่น

เคล็ดลับการนำรากบัวมาปรุงอาหารให้อร่อยแบบคนญี่ปุ่น

เคล็ดลับการนำรากบัวมาปรุงอาหารให้อร่อยแบบคนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รากบัวหรือ Renkon (れんこん) เป็นหนึ่งในอาหารที่คนญี่ปุ่นชอบรับประทานและรู้จักเป็นอย่างดี ผู้เขียนได้ยินสำนวนที่ลูกชายพูดถึงรากบัวอยู่เสมอคือ หัวรากบัว ซึ่งคงมาจากการที่รากบัวมีรูรอบๆ ถึง 9 รู ที่ทะลุอออกไปทั้งราก ทำให้มีการเปรียบเปรยเด็กที่สอนอะไรไปก็ไม่จำเลยและคงรุนแรงกว่าคำเปรียบเปรยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเพราะรูหูมีเพียงแค่รูเดียว วันนี้เรามารู้จักประโยชน์ของรากบัวและเคล็ดลับการนำรากบัวมาปรุงอาหารให้อร่อยแบบญี่ปุ่นกันนะคะ

ประโยชน์ของรากบัว
รากบัวอุดมไปด้วยเส้นใย วิตามินบี วิตามินเอและซี และแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ทองแดง เหล็กและแมงกานีส เป็นต้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้ คือ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงของผิว ผมและตา กระตุ้นการทำงานที่ดีของระบบไหลเวียนเลือด ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยลดความเครียด ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ เป็นต้น

วิธีการนำรากบัวมารับประทานและเคล็ดลับการนำรากบัวมาปรุงอาหารให้อร่อย
รูปแบบการตัดหั่นรากบัวเพื่อวัตถุประสงค์การปรุงอาหารแบบต่างๆ ดังรูป

 

1 หั่นเป็นรูปครึ่งวงกลมความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตรเพื่อนำมาใช้ผัดหรือทำเทมปุระ

2 หั่นเป็นชิ้นพอคำตามความชอบ เพื่อนำมาต้มแบบญี่ปุ่น

3 หั่นตามความยาว สำหรับการทอดและนำมาต้มเคี่ยว

4 หั่นเป็นแผ่นบางๆ สำหรับสลัด ทอดกรอบและตกแต่งซูชิ

วิธีการชะลอหรือหยุดยั้งการเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลของรากบัว

โดยทั่วไปหากหั่นทิ้งไว้รากบัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล วิธีการชะลอหรือหยุดยั้งการเป็นสีน้ำตาลของรากบัวทำได้ง่ายๆ ดังนี้

แช่รากบัวหั่นเสร็จในน้ำ เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการชะลอการเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลของรากบัว สำหรับเมนูต้มหรือผัด

 

แช่รากบัวหั่นบางในน้ำผสมน้ำส้มข้าวหมัก เพื่อหยุดยั้งการทำงานของเอนไซม์และเพื่อให้ได้รากบัวที่มีเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ ทั้งนี้สามารถใช้น้ำส้มสายชูแทนน้ำส้มข้าวหมักได้เช่นกัน

น้ำส้มข้าวหมัก


ตัวอย่างการนำรากบัวมาปรุงอาหาร
รากบัวสำหรับสลัด

รากบัวที่ใช้เป็นส่วนผสมของสลัดมักจะเป็นรากบัวหั่นบางที่ผ่านการแช่น้ำส้มข้าวหมักและต้มในน้ำเดือดผสมน้ำส้มข้าวหมักเล็กน้อย เป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงนำมาล้างในน้ำเย็นและใช้เป็นส่วนผสมของสลัด รากบัวที่ผ่านการต้มจะมีเนื้อสัมผัสที่กรุบกรอบและมีรสหวานตามธรรมชาติ

 

 การนำมาผัด
การผัดรากบัวนั้นเริ่มจากการหั่นรากบัวเป็นชิ้นบางๆและแช่ในน้ำประมาณ 5-10 นาที จากนั้นจึงเทน้ำทิ้งและพักทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ ก่อนนำมาผัดจนรากบัวเริ่มโปร่งแสงแล้วจึงเติมส่วนผสมของเครื่องปรุง ได้แก่ สาเก มิริน ซีอิ๊วและน้ำตาล ผัดจนส่วนผสมเครื่องปรุงเปลี่ยนเป็นคาราเมลเคลือบรากบัว

 

นำมาต้มเคี่ยวแบบญี่ปุ่น
สำหรับคนที่ชอบรากบัวที่มีเนื้อสัมผัสคล้ายแป้งก็คงต้องนำรากบัวที่หั่นเป็นชิ้นพอคำที่ผ่านการแช่น้ำมาผัดรวมกับส่วนผสมต่างๆ ได้แก่ เนื้อไก่ รากบัว บุก แครอท หน่อไม้ และเห็ดหอม เป็นต้น จนเนื้อไก่สุกแล้วจึงเติมน้ำพอปริ่มวัตถุดิบๆและเติมส่วนผสมเครื่องปรุง ได้แก่ ซีอิ๊ว สาเก มิริน ดาชิ เกลือ และน้ำตาล ต้มด้วยไฟกลางจนของเหลวในหม้อต้มเหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงปิดด้วยฟอยล์และต้มต่อประมาณ 10 นาที จากนั้นจึงเอาฟอยล์ออกและต้มต่ออีกประมาณ 10 นาที ปรุงรสเพิ่มเติมตามชอบ เพื่อให้ได้เมนูที่มีรากบัวนิ่มเนื้อสัมผัสคล้ายแป้ง

 

ยังมีเมนูอีกมากมายจากรากบัว แต่คราวนี้ฝากให้นำไปลองทำดูแค่นี้ก่อนนะคะ ลองปรับดูตามวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เรามี หวังว่าคงได้เมนูรากบัวถูกใจสมาชิกในครอบครัวนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook