5 หนุ่มนักวิ่ง กับแรงบันดาลใจที่จะทำให้คุณ #อยากวิ่งหนักมาก

5 หนุ่มนักวิ่ง กับแรงบันดาลใจที่จะทำให้คุณ #อยากวิ่งหนักมาก

5 หนุ่มนักวิ่ง กับแรงบันดาลใจที่จะทำให้คุณ #อยากวิ่งหนักมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ทำไมชอบวิ่ง?”

หนึ่งในคำถามคลาสสิกที่คนชอบวิ่งมักจะเจอ ด้วยเหตุที่พวกเขาเสพติดจังหวะหัวใจหนักหน่วงเมื่อสองขาทำงานอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปอาจนึกสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความสุขได้อย่างไร

แม้ทุกคนจะรู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งดี แต่การออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัยและหลงใหลในความเหนื่อยล้านั้นไม่ใช่เรื่องสามัญที่ทุกๆ คนจะทำได้ ขอเชิญพบกับ 5 หนุ่มนักวิ่งกับเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเขายังคงวิ่ง วิ่ง วิ่ง และวิ่ง

วิ่งเพื่อชีวิต (ใหม่)

ว่ากันว่า “การออกกำลังกายทำให้คนดูดี” เขาหรือเธอที่เคยอวบระยะสุดท้ายมักจะดูดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเมื่อปริมาณไขมันในตัวเริ่มลดลง แต่การมีรูปร่างที่ดีขึ้นอาจจะเป็นแค่ผลพลอยได้สำหรับบางคน เพราะเหนือสิ่งอื่นใด มันคือการเอาชนะตัวเอง

มันคือความเป็นจริงที่ “กิ” หรือ “มนต์ชัย ตระกูลภูชัย” พิสูจน์ด้วยตัวเองมาแล้ว หลังจากที่ผ่านการลดความอ้วนมาจนถึงจุดหนึ่ง เขาพบว่าขนาดของรอบเอว ไม่สำคัญเท่ากับความเข้มแข็งของหัวใจ

ในฐานะวิศวกรด้านซอฟต์แวร์ระดับซีเนียร์ เขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ สุขภาพคือเรื่องท้ายๆ ที่จะนึกถึง เพราะ “งานต้องมาก่อน” จึงไม่แปลกที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว รอบเอวของเขาจะหนาถึง 34 แต่นั่นก็ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับระดับคอเลสเตอรอลที่สูงถึง 260 โชคดีที่เขารักตัวเองมากพอที่จะเริ่มออกกำลังกายนับตั้งแต่นั้น

จากการออกวิ่งครั้งแรก ระยะทาง 5 กิโลเมตร เขาทำได้แค่เดิน เพราะเหนื่อยเกินกว่าจะสาวเท้าให้เร็วกว่านั้น แม้จะไม่ได้วิ่งแข่งกับใคร แต่สำหรับตัวเขาเอง มันคือความพ่ายแพ้

“รู้สึกว่าตัวเองแพ้ แพ้ต่อความไม่อดทน ความไม่แข็งแรงของตัวเอง เลยฝังใจว่าเราต้องทำเวลาดีกว่าเดิมให้ได้ จึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการวิ่งมากขึ้น เลยรู้ว่าการวิ่งมันมีอะไรมากกว่าที่เราคิด เลยพยายามฝึกซ้อม จนวิ่งได้ 5 กิโลเมตร ภายในเวลา 22 นาที”

นั่นคือชัยชนะเล็กๆ ครั้งแรกที่เขารู้จัก หลังจากนั้นมันก็ตามมาอีกเรื่อยๆ จนสามารถพิชิตมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตรได้ จากการวิ่งเพื่อลดน้ำหนัก เป็นการวิ่งเพื่อแข่งกับตัวเอง ความตุ้ยนุ้ยเมื่อ 3 ปีก่อนกลายเป็นแค่อดีตที่จะไม่มีวันหวนกลับมาอีก

“หลังจากเข้ามาสู่โลกแห่งการวิ่ง ทำให้เรามีวินัยมากขึ้น จากที่ไม่เคยตื่นเช้าในวันหยุด เราต้องตื่นมาซ้อม หรือมาแข่งตามงานวิ่งต่างๆ ทำให้ต้องนอนเร็ว ก็เลยงดสังสรรค์ปาร์ตี้กับเพื่อน พวกเหล้า - เบียร์ก็ต้องงดไปโดยปริยาย”

นอกจากรูปร่างและสุขภาพที่ดีขึ้น กิบอกว่าการวิ่งทำให้คนบ้างานอย่างเขารู้จักแบ่งเวลา “เราทุกคนมีเวลา 24 ชม. เท่ากัน ทำไมคนอื่นถึงมีเวลาออกกำลังกายได้แถมทำงานหนักกว่าเราอีก จริงๆ แล้วมันอยู่ที่การจัดสรรเวลามากกว่า ถ้าตัดเวลาที่ต้องดูละคร เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก นัดเพื่อนไปกินเหล้า เราก็มีเวลาเหลือเฟือสำหรับออกกำลังกายแล้ว”

กิเล่าว่า เป้าหมายของนักวิ่งแต่ละคน หรือแม้แต่ตัวเขาเอง ไม่ได้อยู่ที่ถ้วยรางวัล เขาเพียงแค่อยากจะวิ่ง และทำลายสถิติของตัวเองเท่านั้น

“แม้แต่ตัวเองยังไม่เคยคิดเลยว่าไอ้อ้วนคนนึงจะสามารถผอมได้จากการวิ่ง และสามารถพิชิตฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตรได้ ถ้าคุณคิดว่าอยากจะวิ่ง อย่ารออะไรทั้งสิ้น คว้ารองเท้าแล้วออกไปวิ่งเลยครับ ความรู้สึกของฝ่าเท้าที่ได้สัมผัสกับพื้นเวลาออกวิ่ง การเอาชนะใจตัวเองเวลาเหนื่อยหรือท้อ มันรู้สึกดีมากขนาดไหน คุณจะไม่มีทางรู้เลย หากคุณยังไม่ลองออกไปวิ่งดูสักครั้ง”

ถ้าไม่เชื่อผู้มีประสบการณ์ตรง จะไปเชื่อใครล่ะ จริงไหม?



บาริสต้าหน้าใสผู้หลงใหลในเสน่ห์ของการวิ่ง

การวิ่งคือส่วนเติมเต็มชีวิต ไม่ต่างไปจากกาแฟหนึ่งถ้วยที่ต้องอาศัยทั้งระยะเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อความลงตัวของรสชาติ นั่นคือการค้นพบเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิต “วอ” หรือ “วรนินทร์” บาริสต้าหนุ่มจากร้านกาแฟชื่อดัง

เขาไม่เคยวิ่ง ไม่เคยอยากวิ่ง ออกจะต่อต้านด้วยซ้ำเมื่อเห็นคนรอบตัวเริ่มอินไปกับกระแสของการวิ่งที่มาพร้อมๆ กับภาพยนตร์เรื่อง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” ที่มี “นิชคุณ” แสดงเป็นนักวิ่ง

...แต่ในที่สุดชีวิตนักวิ่งของวอก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อตกปากรับคำชวนให้ไปร่วมงานวิ่งงานหนึ่ง กับระยะทาง 4 กิโลเมตรที่น่าจะง่ายสำหรับคนหนุ่ม แม้จะไม่เคยวิ่ง แต่ก็มั่นใจว่า “เอาอยู่” แน่นอน

ผลคือโดนลุงๆ ป้าๆ ที่มาวิ่งในระยะ 10 กิโลเมตร แซงแบบไม่เห็นฝุ่น

ในวันนั้น เขากลับบ้านไปพร้อมกับความสงสัย “ทำไมคนเป็นร้อยเป็นพันจึงออกมาวิ่งกันเป็นสิบกิโลในเช้าวันอาทิตย์แทนที่จะซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มในห้องแอร์ที่เย็นสบาย” นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เขาซ้อมวิ่งเพื่อที่จะออกไปล่าเหรียญรางวัลในทุกๆ เช้าวันอาทิตย์

“พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็อยากพัฒนาตัวเองให้วิ่งได้นานขึ้น ไกลขึ้น แต่ไม่ได้คิดจะไปแข่งกับใครนะ แค่ก้าวขาออกไปวิ่งได้ก็เท่ากับชนะตัวเองแล้ว ระหว่างที่วิ่งไปเรื่อยๆ เราจะมีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง เพลิดเพลินกับบรรยากาศรอบข้างมาก อยากเพลินนานๆ ขึ้นก็เลยขยับไปเรื่อยๆ จากมินิเป็นฮาล์ฟ จากฮาล์ฟก็กลายเป็นมาราธอนระยะเต็ม คือ 42.195 กิโลเมตร”

ชีวิตของบาริสต้าคนหนึ่งเปลี่ยนไปเมื่อวิ่งไกลขึ้น จากที่เคยเป็นคนใช้ชีวิตกลางคืน เที่ยวดึก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การวิ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ ไม่ใช่แค่ตัวเขาเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงคนรอบข้างอีกด้วย

“วิ่งแล้วเพื่อนหายครับ คือเราได้เพื่อนนักวิ่งเพิ่มขึ้นมาก แต่เพื่อนที่เคยมีไลฟ์สไตล์กินเที่ยวดื่มสังสรรค์หายหมด คืนวันศุกร์เคยออกไปเที่ยวกลางคืนทุกสัปดาห์ ก็ไม่ไปแล้ว เพราะเช้าวันเสาร์ต้องไปซ้อมวิ่ง แต่ตอนนี้เพื่อนๆ กลุ่มนั้นก็เข้าใจกันดีแล้วนะ บางคนก็เริ่มเปรยๆ ว่าอยากจะลองมาวิ่งบ้าง เลยรู้สึกดีขึ้นไปอีกว่าระยะสั้นพวกมันไม่เข้าใจ แต่ยาวๆ ไป เฮ้ยเราสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายและรักสุขภาพให้บางคนได้ มันโอเคมากเลยนะ”

ในฐานะบาริสต้า เขาเสิร์ฟกาแฟรสละมุน และในฐานะนักวิ่ง เขาหวังว่าจะมีโอกาสเสิร์ฟแรงบันดาลใจให้กับทุกคน “ถ้าเรื่องราวของผมมันจะทำให้ใครลุกขึ้นมาวิ่งด้วยกันได้ หรือแม้แต่วิ่งแซงผมไปได้ก็ยินดีมากๆ ครับ”

นักวิ่งยอดมนุษย์ (เงินเดือน)

หากใครสักคนนิยามตัวเองว่า “มนุษย์เงินเดือน” เราคงพอจะนึกภาพชีวิตประจำวันของเขาได้ไม่ยากนัก มันคงหนีไม่พ้นกิจกรรมซ้ำๆ ที่ทำไปตามความเคยชินนับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนเพื่อที่จะตื่นมาเริ่มชีวิตใหม่ด้วยวิถีชีวิตที่เหมือนกับเมื่อวานอย่างไม่ผิดเพี้ยน

“พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา” หรือ “พีท” ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือมนุษย์เงินเดือนสาขาไอทีที่มีชีวิตวนเวียนระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และก็คงเหมือนกับอีกหลายๆ คนเช่นกันที่ไม่รู้ว่าชอบวิถีชีวิตของตัวเองหรือไม่ รู้แค่ปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามเข็มนาฬิกาแบบนี้ก็คงไม่เสียหายอะไร

เขาไม่ได้คิดผิด มันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ถ้าไม่นับว่าการนั่งติดกับโต๊ะทำงานทุกวันและเคลื่อนไหวน้อยๆ คือบ่อเกิดของอาการออฟฟิศซินโดรม และภัยเงียบที่เขากำลังเผชิญอยู่

พีทไม่ใช่คนอ้วน แต่เขากลับมีปัญหาคอเลสเตอรอลสูงโดยที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาออกไปวิ่ง...วิ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในชีวิต

“ทุกวันนี้ก็จะตื่นมาซ้อมวิ่งตั้งแต่ตี 4 หรือ ตี 5 เสร็จแล้วก็เข้าออฟฟิศไปทำงาน ส่วนวันหยุดก็จะใช้เวลาไปกับเรื่อง ซ้อม แข่ง กิน และช้อปปิ้งหารองเท้า หรือเสื้อผ้าใส่วิ่งครับ ” ดูเหมือนว่าการวิ่งจะอยู่ในลมหายใจเข้าออกของมนุษย์เงินเดือนคนนี้ไปซะแล้ว

หากมองด้วยสายตาคนนอก ชีวิตใหม่ของพีทไม่ได้สุขสบาย มันดูเหมือนจะลำบากมากขึ้นด้วยซ้ำ เขาปฏิบัติตามตารางซ้อมวิ่งอย่างเคร่งครัด มีแต่ตัวเขาเองเท่านั้นที่รู้ว่าทุกความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการวิ่ง คือการแสดงความรักที่เขามีต่อร่างกายของตัวเอง

“ผมก็ไม่ได้เก่ง ผมแค่ขยัน และตรงไปตรงมากับความต้องการของตัวเองให้มากที่สุดแค่นั้น”

การออกไปวิ่งทำให้พีทรู้จักตัวเองมากขึ้น เขารู้ว่ามันไปได้เร็วแค่ไหน ไกลแค่ไหน และจะต้องทำอย่างไรเพื่อทำลายข้อจำกัดเหล่านั้น ทั้งๆ ที่อยู่กับร่างกายของตัวเองมาตลอดชีวิต แต่เพิ่งจะรู้จักมันอย่างถ่องแท้ก็ตอนที่กลายเป็นนักวิ่งยอดมนุษย์ (เงินเดือน) นี่เอง

เขาเชื่อว่า “ความสม่ำเสมอ” คือหัวใจของความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ทั้งในการวิ่งและการทำงาน เพราะมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความพยายาม “จะวิ่งช้า วิ่งเร็ว หรือกึ่งเดินกึ่งวิ่ง อะไรก็แล้วแต่ แค่เคลื่อนที่ต่อไปด้วยความเร็วสม่ำเสมอ ยังไงก็ต้องไปถึงเป้าหมายจนได้”

การวิ่งอาจจะไม่ได้สอนอะไรให้ใคร แต่โอกาสที่จะได้เรียนรู้ชีวิตจากการวิ่ง เป็นของคนที่ออกมาวิ่งเท่านั้น

หนุ่มเนิร์ดนักวิ่ง

“กิตติคุณ ยั่งยืน” หรือ “แพม” เภสัชกรหนุ่มจากเชียงใหม่ที่มาพร้อมกับซิกส์แพ็คแน่นๆ และแขนล่ำๆ ใครจะรู้ว่าเด็กเนิร์ดตัวผอมแห้งจะแปลงร่างเป็นผู้ชายหุ่นดีที่รักสุขภาพในวันนี้

4 ปีที่แล้ว “เปตอง” คือการออกกำลังกายชนิดเดียวที่เขาขยับเข้าไปใกล้มากที่สุด ด้วยชีวิตในแต่ละวันที่ต้องทุ่มเทให้กับการเรียนจนสามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 มาได้สำเร็จ ทุกอย่างดูเป็นปกติดี จนกระทั่งแพมรู้ตัวว่าเริ่มมีความเสี่ยงกับโรคกระดูกพรุน

“เคยไปตรวจวัดมวลกระดูกเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็ได้รู้ว่ากระดูกเริ่มพรุน ก็ตกใจนะครับ เพราะไม่อยากลำบากตอนแก่ ก็ได้รับคำแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก เล่นบาส อะไรที่มันกระโดดๆ หรือกระแทกข้อต่อ ก็เลยลองมาวิ่งดู เพราะมันง่ายที่สุด ใครๆ ก็ทำได้ อาม่ายังทำได้ (หัวเราะ) แต่มันก็ได้ผลนะครับ ล่าสุดที่ไปตรวจก็ดีขึ้นเยอะเลย”

ด้วยสาขาวิชาชีพที่เรียนมา บวกกับประสบการณ์ลงพื้นที่พบผู้ป่วย แพมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนหลายครั้ง ทราบดีว่ามันคือโรคที่น่ากลัวขนาดไหน นั่นคือที่มาที่ไปว่าทำไมโรคกระดูกพรุนจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เด็กเนิร์ดคนหนึ่งออกมาวิ่ง...วิ่งหนีโรคที่มันอาจจะทำร้ายเขาในอนาคต

“เคยเจอคุณยายที่เป็นโรคกระดูกกับหลายๆ โรค เดินไปไหนไม่ได้ชาวบ้านมาทำห้องให้ เป็นห้องที่มีเตียงนอนกับชักโครกใกล้กันมากๆ คือต้องรวมทุกอย่างในที่เดียวกัน คุณยายก็จะคลานไปตามจุดต่างๆ ในห้อง ยิ่งพอตอนไปคุยด้วย ยายบอกว่าอยากไปวัดแต่ก็ไปไม่ได้ น่าสงสารมาก”

ทุกๆ เช้า แพมจะตื่นมาซ้อมวิ่งตั้งแต่ตี 5 ก่อนที่จะออกไปทำงาน จนกระทั่งเลิกงานก็ได้เวลาของเวทเทรนนิ่งในฟิตเนสเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง

วันไหนที่ขี้เกียจ เขาก็จะบอกกับตัวเองว่าถ้าไม่อยากลำบากตอนแก่ก็ลุกไปวิ่งซะ...เพียงเท่านั้น แข้งขาก็พร้อมออกไปทำหน้าที่ของมัน

“ใครว่าสุขภาพดีไม่มีขาย? สุขภาพดีมีขายนะครับ แต่มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องซื้อด้วยใจกับความพยายามล้วนๆ” แพมกล่าวทิ้งท้าย

วิ่งวันนี้เพื่อชีวิตที่ดีในวันหน้า...ถึงจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ใจความที่เล่ามาก็ไม่ต่างกัน


“กังฟู” วิ่งสู้หอบหืด

จากเด็กอ้วนที่วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายในงานกีฬาสี จนใครๆ ก็เยาะเย้ยว่า “ขี้โรคแบบนี้จะไปสู้ใครได้” กลายเป็นนักวิ่งล่ารางวัลฝีเท้าจัดจ้าน เขาก้าวผ่านมันมาได้อย่างไร?

“ธัชพล ศิริกาญจนะ” หรือ “กังฟู” ใช้ชีวิตกับการวิ่งมานานกว่า 10 ปี อันที่จริงเขาคุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่เกิด เพราะโตมาในครอบครัวที่รักการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ แต่พันธุกรรมนักวิ่งในตัวเขาไม่เคยฉายแวว เพราะอาการหอบหืดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเช่นกัน

กีฬาจบ แต่คนไม่จบ หลังจากฟังคำปรามาสของหลายๆ คนในงานกีฬาสี เขาตัดสินใจซื้อรองเท้าวิ่ง ออกไปซ้อมวันละนิด จนเริ่มวิ่งได้ไกลขึ้น นานขึ้น แม้ไม่ได้คิดว่ามันจะช่วยเยียวยาอาการหอบหืด แต่อย่างน้อยที่สุด เขาจะไม่เป็นเด็กอ้วนขี้โรคที่เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายอีกแล้ว

กีฬาสีปีต่อมา อาการหอบหืดหายไปอย่างน่าประหลาด เขาไม่ได้เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก แต่ก็ไม่ใช่คนสุดท้ายเช่นกัน “เราล้มได้ เรามีสิทธิ์แพ้ แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะสู้ต่อ” เขาพิสูจน์มันมาแล้ว

“การวิ่งมันพลิกชีวิตผมจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย ชอบชีวิตแบบที่เหงื่อออกและมีความสุขแบบนี้ การวิ่งมันทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายดีขึ้น”

เขาเอาชนะความเจ็บป่วยได้ด้วยการวิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ได้สร้างอุปสรรคใหม่ๆ ขึ้นมาทดสอบพลังใจของเขาอยู่เสมอ ตั้งแต่อาการบาดเจ็บเรื้อรังจนแทบจะไม่อยากวิ่งอีกต่อไป ปีศาจบนเส้นทางแห่งมาราธอน และความกดดันที่จุดปล่อยตัว

...แต่ก็เป็นการวิ่งอีกเช่นกัน ที่สอนให้เขารู้วิธีอยู่ร่วมกับทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เขามักจะบอกตัวเองว่ามาไกลมากเกินกว่าที่จะหันหลังกลับไปแล้ว ถ้าหยุดตอนนี้ก็เท่ากับความพยายามที่ผ่านๆ มาเป็นเรื่องสูญเปล่า

แม้ในวันนี้จะมีชื่อติดอันดับได้ถ้วยรางวัลเกือบทุกงาน แต่เขามองว่ามันเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้น “ต้องมองย้อนกลับไปว่าเราออกกำลังกายเพื่ออะไร คำตอบคือเพื่อสุขภาพ เพื่อชนะใจตัวเอง แค่วิ่งผ่านเส้นชัยมาได้ก็ดีใจจนลืมเหนื่อยแล้วครับ เพราะผมไม่ได้ไปแข่งกับใคร”

เขามาไกลมาแล้วจริงๆ ทั้งบนเส้นทางวิ่งและเส้นทางชีวิต

นั่นคือเรื่องเล่าสั้นๆ ที่แสนพิเศษจากคนธรรมดา 5 คน ที่มาที่ไปของก้าวแรกอาจต่างกัน แต่โลกใบเล็กๆ ของคนที่รักการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจไม่รู้จบ

วลีประจำใจนักวิ่งที่ว่ากันว่า “ถ้าอยากพบชีวิตใหม่ก็จงวิ่งมาราธอน” อาจจะไม่จริงเสมอไป เมื่อการวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครบางคน ระยะทางไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เมื่อก้าวแรกมาถึง และยังคงก้าวต่อไปอย่างสม่ำเสมอ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง

“เพราะเส้นชัยไม่เคยสำคัญไปกว่าความพยายามระหว่างทาง” นั่นคือสิ่งที่หนุ่มนักวิ่งทั้ง 5 คนกำลังบอกเรา

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : K sport running และชมรมบางขุนเทียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook