วางแผนการเงินซื้อบ้านใหม่

วางแผนการเงินซื้อบ้านใหม่

วางแผนการเงินซื้อบ้านใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วางแผนการเงินซื้อบ้านใหม่

ความใฝ่ฝันเรื่องการมี "บ้านใหม่" เป็นของตนเอง น่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคนส่วนใหญ่ แต่เพราะบ้าน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะดับฝันของใครหลายๆ คน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม "บ้าน" ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนหวังจะครอบครอง เมื่อบ้านมีราคาสูงแบบนี้ แล้วคนอยากซื้อบ้านจะต้องทำอย่างไร แน่นอนว่าเราคงต้องมีการวางแผนด้านการเงินของตัวเอง และศึกษาข้อมูล ขั้นตอนการซื้อบ้านอย่างละเอียด ซึ่งก็มีหลักการและคำแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้กันทุกคน

1.ราคาขายบ้านที่ซื้อไม่ควรเกินสองเท่าของรายได้ครอบครัว ถ้าเลือกได้ใครๆ ก็คงอยากมีบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง เพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงอยากให้บ้านตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย และอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญๆ อย่างโรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียนของสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงระบบการขนส่งมวลชนต่างๆ แต่แน่นอนว่าราคาบ้านในทำเลทองเหล่านี้ย่อมมีราคาสูงลิบลับจนเกินเอื้อม ดังนั้นคงต้องหันมาสำรวจเงินในกระเป๋าของตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเลือกบ้านที่มีราคาไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ทั้งสิ้นของครอบครัว เช่น ถ้ารายได้ของครอบครัวต่อปีมีทั้งสิ้น 300,000 บาท ก็ควรเลือกซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 600,000 บาท

2.คิดสักนิดสำหรับค่าผ่อนรายเดือน นอกจากราคาบ้านที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ผู้ซื้อบ้านควรคิดให้ยาวกว่านั้นสักนิดถึงภาระการผ่อนชำระบ้านรายเดือน โดยมีหลักการคิดคือ ภาระผ่อนรายเดือนต้องไม่เกิน 25-30 % ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้สถานะทางการเงินของเราตกอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีภาระ และค่าใช้จ่ายต่อเดือนประเภทอื่นๆ อีก

3.ทำประวัติ (การเงิน) ของตนเองให้ใสสะอาด โดยปกติการซื้อบ้าน ทุกคนมักต้องกู้เงินผ่านแบงค์ ดังนั้นเรื่องเครดิตในการทำเรื่องกู้แบงค์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเวลาซื้อบ้านการดาวน์บ้านอย่างน้อยๆ จะต้องวางเงินดาวน์ล่วงหน้า 10-20 % ของราคาบ้าน เพราะปกติแบงค์จะปล่อยกู้ให้เราแค่ 80-90 % ของราคาบ้านเท่านั้น นั่นก็เท่ากับว่าที่เหลือผู้ซื้อบ้านจะต้องรับภาระจ่ายเงินเอง ซึ่งก็คงต้องใช้เงินเก็บส่วนตัว ยิ่งถ้ามีเงินเก็บส่วนตัวสำหรับวางเงินดาวน์ได้มาก นอกจากจะช่วยลดดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว ยังจะทำให้เครดิตด้านการเงินของคุณดีขึ้นด้วย เพราะตอนธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ นอกจากจะพิจารณารายได้ต่อเดือนที่มีอย่างต่อเนื่องแล้วทางธนาคารยังพิจารณาประวัติทางการเงินของคุณประกอบไปด้วย ดังนั้นหากคิดว่าในอนาคตจะต้องกู้เงินซื้อบ้านจากธนาคารอย่างแน่นอน ก็ควรทำประวัติการเงินของตนเองให้ขาวสะอาด ไม่มีประวัติหนี้สินรุงรัง

4.เลือกดอกเบี้ยที่โดน (ใจ) เวลาตัดสินใจเลือกทำเรื่องกู้ยืมเงินซื้อบ้านจากสถาบันการเงินใด ควรพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้นๆ โดยเลือกดอกเบี้ยให้ตรงกับความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองมากที่สุด เพราะในปัจจุบันแต่ละธนาคารต่างมีโปรโมชั่นในการปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับที่พักอาศัยอย่างหลากหลาย โดยอัตราดอกเบี้ยมีทั้งแบบลอยตัวและคงที่ จะเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบไหนก็ดูตามสถานการณ์นั้นๆ ถ้าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นควรเลือกดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่ถ้าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลง ควรเลือกกู้แบบดอกเบี้ยลอยตัว และสำหรับผู้กู้ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านยังนำไปลดหย่อนภาษีต่อปีได้อีกด้วย

การตัดสินใจซื้อบ้านต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และระยะเวลาในการศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน แล้วสำหรับคุณล่ะพร้อมหรือยังสำหรับการตัดสินใจซื้อบ้านหลังแรก

ภาพจาก :http://www.istockphoto.com/

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook