บ้านระบายอากาศ The Cross Ventilation House

บ้านระบายอากาศ The Cross Ventilation House

บ้านระบายอากาศ The Cross Ventilation House
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Home Trip ฉบับนี้เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมบ้านของสถาปนิกสาว ดีกรีด็อกเตอร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บ้านของเธอตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 63 ย่านบางเขนนี่เอง โดยปกติแล้ว เรามักจะเคยเห็นแต่บ้านอยู่ตรงกลางและมีสวนล้อมรอบ แต่บ้านหลังนี้กลับตรงกันข้าม เพราะมีสวนอยู่ตรงกลางของพื้นที่ โดยปลูกบ้านให้อยู่ล้อมรอบแทน ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ ณ มุมใดของบ้าน ก็สามารถมองเห็นสวนสวยๆ และรับสัมผัสถึงความเป็นธรรมชาติที่ผสมกลมกลืนกับบ้านอย่างลงตัวได้เต็มที่ อ.ต้นข้าว เจ้าของบ้านที่น่ารักและแสนเป็นกันเอง เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนบ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว มีอายุมากกว่า 50-60 ปี ต้นไม้ใหญ่ที่เห็นทุกวันนี้ เป็นต้นไม้ที่ปลูกพร้อมๆกับตัวบ้านเก่า ต้นไม้จึงมีอายุพอๆ กับบ้าน อย่างต้นไทร ต้นกร่าง และระดับตัวบ้านจะต่ำกว่าถนนมาก เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปี 54 ที่ผ่านมา ภายนอกท่วม 50 เซนติเมตรแต่ในบ้านท่วมเมตรกว่า เกือบถึงคอเลยค่ะ (หัวเราะ) บ้านเก่าใช้โครงสร้างที่เรียกว่า Slab on Ground คือ บ้านที่ไม่มีคาน แต่พื้นบ้านวางอยู่บนทรายอัด เมื่อน้ำท่วมก็ชะทรายที่อยู่ใต้บ้านออกไปหมด ทำให้บ้านทรุด เราทุกคนในครอบครัวจึงคิดกันว่าจะปรับปรุงบ้านใหม่อย่างไรดี ใจจริงๆ คิดไว้นานแล้วว่าอยากทำบ้านใหม่ แต่พอน้ำท่วมก็ได้โอกาส (ยิ้ม)เลยตัดสินใจปรับปรุงบ้านใหม่

เรียบ โล่ง โปร่ง สบาย
ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ที่ความวิจิตรของการออกแบบ แต่อยู่ที่ความเรียบง่าย โปร่ง โล่ง อยู่สบาย เหมาะกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเมืองไทย “แปลนบ้านหลังนี้เป็นรูปตัวแอล (L) เน้นความโปร่ง โล่ง สบาย อากาศถ่ายเทสะดวก ด้วยหลักการออกแบบ Cross Ventilation ที่ช่วยให้ทิศทางลมเดินทางเข้าออกได้ง่าย ไม่ว่าจะนั่งอยู่มุมใดในบ้าน ก็ได้รับลมเย็นๆ จากธรรมชาติตลอดเวลา สามารถทำงานได้ทุกมุมของบ้านโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ ตอนบ่ายเปลี่ยนมานั่งทำงานชั้นล่างที่เปิดโล่ง รับลมเย็นๆ แบบใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะต้นไม้ใหญ่หลายต้นที่ขึ้นปกคลุม ก็ยิ่งช่วยให้บรรยากาศร่มรื่น เย็นสบายโดยลืมไปว่าเรากำลังนั่งอยู่นอกบ้าน หรือในบ้านกันแน่”

 

บ้าน...หายใจได้

เรามักคิดว่าบ้านที่ยกใต้ถุนสูง คล้ายเรือนไทยสมัยโบราณ คงไม่น่าอยู่ แต่จริงๆ แล้ว

แบบบ้านสมัยก่อนนั้น นับเป็นภูมิปัญญาที่ยอดเยี่ยมของคนไทย ที่เข้าใจออกแบบบ้านให้

เหมาะกับสภาพอากาศที่แปรปรวนของเมืองไทย แบบบ้านของ อ.ต้นข้าว นับเป็นการดึง

เอาจุดเด่นของการยกใต้ถุนบ้านสมัยโบราณ มาปรับให้เข้ากับรูปแบบบ้านสมัยใหม่อย่าง

ลงตัว มีพื้นที่ชั้นล่างที่เปิดโล่งไว้ใช้สอยอย่างเต็มที่ ช่วยให้บ้านหายใจได้ เมื่อได้อยู่แล้ว

เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น ไม่อึดอัด

“ครอบครัวเรามีคุณพ่อเป็นอาร์ติสต์ คุณแม่เป็นสถาปนิกและนักวิจัย เราก็มักจะตาม

คุณแม่ออกไปทำวิจัยเรื่องสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเป็นประจำ ส่วนตัวจึงรู้สึกชอบบ้านที่

ยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างเปิดโล่ง อาจเป็นเพราะเราไม่ชอบการที่ต้องอยู่ในบ้านตลอดเวลา

แบบบ้านหลังนี้จึงเน้นความเปิดโล่งเป็นส่วนใหญ่ ครอบครัวเรามีหลาน 4 ขวบ เขาก็จะมา

วิ่งเล่นที่สวน นั่งทานอาหารด้วยกันที่ชั้นล่าง สมัยยังเรียนสถาปัตย์ฯ อยู่ เราไม่เคย

เชื่อที่อาจารย์สอนว่าบ้านที่ดีควรจะมีหน้าต่างรอบบ้าน เพราะถ้ามีหน้าต่างแค่ด้านเดียว

จะทำให้คนที่อยู่รู้สึกอึดอัด พอได้สร้างบ้านของตัวเองแล้ว ถึงได้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

การมีหน้าต่างรอบบ้านช่วยให้ความรู้สึกปลอดโปร่ง ลมพัดผ่านเย็นทั้งวัน โดยไม่ต้องเปิด

เครื่องปรับอากาศเลย”

 

อยู่...กับปัจจุบัน

เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เปรียบเหมือนประสบการณ์ที่สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิต

อย่างพอดี เพราะในชีวิตคนเรานั้นต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันตลอดเวลา ดังนั้น

เราจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้แม้ว่าจะยากลำบากอย่างไรก็ตาม

“จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้เราเรียนรู้ว่า ยิ่งมีพื้นที่มากเท่าไหร่ ก็จะทำ ให้เราเก็บ

ของต่างๆ ไว้มากขึ้นเท่านั้น และของจำนวนเกินครึ่ง เราแทบไม่ได้ใช้สอย ยกเว้นหนังสือที่ได้ใช้

ตลอด พอน้ำท่วมสอนให้เรารู้ว่า เราไม่ได้ต้องการข้าวของมากมายขนาดนั้น เราเพียงต้องการพื้นที่เล็กๆ 

พร้อมข้าวของที่เราได้ใช้ประโยชน์จากมันจริงๆ จึงออกแบบห้องแต่ละห้องให้มีขนาด 3x3 เมตร ทั้งหมด เพราะคิดว่าขนาดห้องเท่านี้

เพียงพอแล้วสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเราเช่น ห้องครัวมีขนาดเล็กมาก กว้างเพียง 1 เมตร 50 เซนติเมตร เพราะส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยเข้าครัวทำกับข้าว จึงใช้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนห้องนอนก็ใช้สำหรับนอนเพียงอย่าเดียว เมื่อวางเตียงขนาด 3 เมตร ก็เต็มพื้นที่แล้ว ขนาดห้อง

ทุกห้องจะออกแบบให้พอดีกับการใช้สอยจริงๆ”

 ใช้เวลาน้อย...ตอบโจทย์ความแข็งแรง

เพราะต้องการความรวดเร็วในการสร้างบ้านเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยได้เร็วที่สุด บ้านโครงสร้างเหล็ก ที่ใช้เป็นทั้งเสา และคาน จึงเป็น

วัสดุที่ตอบโจทย์ความรวดเร็ว และสามารถดัดแปลงระหว่างการก่อสร้างได้ตลอดเวลา ทั้งยังดูแลรักษาง่าย แข็งแรง ทนทาน

“ครอบครัวเราต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเป็นเวลานานเพราะเหตุการณ์น้ำท่วม เราจึงอยากได้บ้านที่เสร็จเร็วที่สุด บ้านโครงสร้างเหล็ก เป็นสิ่ง

ที่ตอบโจทย์ในตอนนั้น เพราะทั้งเร็ว และสามารถดัดแปลงได้ระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย แข็งแรง ทนทาน ส่วนอื่นๆ ของบ้านทั้งพื้น ผนังบ้าน เราใช้วัสดุสำเร็จรูปทั้งหมด เช่น บล็อกพื้น บล็อกผนัง อิฐมวลเบาระบายอากาศและปูนเปลือย Skim Coat จาก SCG ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการใช้งานด้วย”

 

อยู่ง่าย...เพียงปรับตัว

หลายคนมักจะชอบบ้านโล่งๆ แต่ถ้าจะให้มาอยู่บ้านลักษณะนี้จริงๆ อาจต้องคิดหนัก เพราะกลัวสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลัวฝนตกหนักแล้วจะรั่วซึม กลัวแดดร้อนอยู่ไม่ได้ กลัวแมลง หรือยุงต่างๆ ที่จะเข้ามาสร้างความรำคาญในบ้าน แต่เราลืมไปแล้วว่าที่แท้จริงมนุษย์เราเพียงปรับตัวเล็กน้อย ก็สามารถอยู่กับสภาวะต่างๆได้

“วันแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ เป็นวันที่ฝนตกหนักมาก ตรงริมระเบียงบ้านก็จะมีละอองฝน เลยทำให้เรากลับมานั่งคิดใหม่ว่าเราตัดสินใจถูกไหมที่สร้างบ้านแบบนี้ แต่พออยู่ไปนานเข้าเราก็รู้ว่าเมืองไทยจะมีวันที่ฝนตกหนักมากๆ อยู่ไม่กี่วัน ส่วนเรื่องฝุ่นละออง เราก็เพียงเรียนรู้ที่จะทำ ความสะอาดบ่อยๆ เรื่องแมลงที่จะมาช่วงหัวค่ำ พอเราเปิดหน้าต่างโล่ง เมื่อเขาบินเข้ามา เขาก็บินออกไป อาจจะเพราะเราอยู่ชั้นบนด้วย เรื่องยุง แมลงจึงไม่ค่อยมีผล”

 

อยู่สบาย...เพราะระบายอากาศ

สำหรับคนที่อยากมีบ้านระบายอากาศแบบนี้ อ.ต้นข้าวยังได้ฝากข้อคิดไว้ด้วยว่า คุณต้องมองเห็นภาพตัวเองอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ปรับอากาศ เราเพียงปรับตัวไปกับอากาศและธรรมชาติ ตอนเช้าอากาศเย็นสบาย ก็เปิดหน้าต่างรับลม ช่วงบ่ายแดดร้อนก็ย้ายไปอยู่ชั้นล่างที่เปิดโล่ง

ช่วงหัวค่ำเริ่มมียุง มีแมลง เราก็กลับไปนั่งชั้นบน ช่วงดึกแมลงไปหมดแล้ว เราก็กลับไปนั่งเย็นๆด้านล่างได้อีก

เพียงปรับตัวไปตามสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ใช้ทุกมุมของบ้านอย่างคุ้มค่า เป็นบ้านที่เราสามารถอยู่ได้ทุกสภาพอากาศพึ่งพาพลังงานน้อย แต่หันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติแทน นั่นคือ อากาศที่บริสุทธิ์ สายลม แสงแดด ความร่มเย็นจากต้นไม้ เพลงจากเสียงนกร้อง อยู่กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว สร้างใหม่ให้น้อยที่สุดใช้เท่าที่จำเป็น เพียงเท่านี้ เราก็สามารถอยู่กับทุกๆ สิ่งบนโลกใบนี้ได้อย่างสบาย...

 Credit : SCG@HOME ฉบับ กค.-กย.56

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook