ใบยาเตอร์กิช จ.ร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด เป็นอีกแดนดินถิ่นอีสานที่น่าหลงใหลในบรรยากาศแห่งความรุ่งเรืองจากอดีตครั้งเก่าก่อนประวัติศาสตร์ ที่นี่เป็นอีกจังหวัดที่น่าเที่ยวมากครับ โดยมีแม่น้ำชีสีครามไหลผ่าน นอกจากบึงพลาญชัยที่สวยงาม เงียบสงบ น่าท่องเที่ยวแล้ว ที่นี่ยังมีงานประเพณีบุญผะเหวดที่เลื่องชื่อลือนามอีกด้วย นอกจากความเจริญรุ่งเรืองที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุและงานบุญที่งดงามน่าประทับใจแล้ว ที่นี่ยังเป็นอีก 1 แหล่งปลูกยาสูบพันธุ์เตอร์กิชที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยอีกด้วย
ไร่ยาสูบพันธุ์เตอร์กิช
ใบยาเตอร์กิชเป็นใบยาที่ค่อนข้างแตกต่างจากใบยาอื่นๆ เพราะเป็นใบยาบ่มแดด มีความหอมเฉพาะตัวจากแว็กซ์ หรือเรซิ่นที่สะสมอยู่ในใบยา เหมาะมาก กับบรรยากาศแบบแห้งแล้ง ดินทรายจัด ไม่อุ้มน้ำ เพราะใบยาจะได้สร้างแว็กซ์ขึ้นมาเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ ยิ่งแว็กซ์มากยิ่งทำให้ใบยาหอมมาก ซึ่งคุณสมบัตินี้เป็นที่ต้องการมาก หากน้ำเยอะทำให้ใบใหญ่สวยงามแต่แว็กน้อยและไม่หอม
หน้าตาของไร่ยาสูบเตอร์กิชค่อนข้างสวยงามเลยทีเดียว โดยใบยาเตอร์กิชนิยมปลูกกันในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน จะปลูกเป็นแถวเรียงกัน โดยต้องเพาะกล้าประมาณ 40 วันก่อนนำมาปลูกในไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทางโรงงานยาสูบจัดสรรมาให้ตามโควตา ระยะเวลาเติบโตในไร่ 60 วันก่อนเก็บเกี่ยวครั้งแรก หลังจากนั้นจะเก็บเกี่ยวประมาณ 30 วันจึงหมดต้น
ในการเก็บใบยา เกษตรกรผู้ปลูกแนะนำเราว่าจะใช้วิธีการเก็บแบบเก็บเป็นใบ ๆ เช่นเดียวกับใบยาเวอร์จิเนียและเบอร์เล่ย์ โดยเก็บจากใบข้างล่างไล่ขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงยอด วิธีเด็ดใบยาคือบิดออกด้านข้าง เพื่อป้องกันการฉีกขาดบริเวณลำต้น เก็บครั้งหนึ่งประมาณ 3-5 ใบต่อต้น เก็บแต่ละครั้งห่างกัน 4-7 วัน เก็บเสร็จวางใบยาใส่ตะกร้าเพื่อขนกลับไปเสียบร้อยต่อไป
เมื่อเก็บมาแล้ว ก็จะมีการแยกใบยาตามขนาดและคุณภาพ แล้วร้อยที่โคนก้านใบเข้าด้วยเข็มเหล็กยาวประมาณ 1 ฟุต ร้อยแบบเรียงใบไม่ต้องจับหน้าชนหน้าหลังชนหลังเหมือนใบยาเวอร์จิเนียและใบยาเบอร์เล่ย์ ร้อยเป็นพวงๆ ละประมาณ 300 ใบ จนเต็มเชือกแล้ว นำไปผูกกับกรอบไม้ โดยทางโรงงานยาสูบสนับสนุนกรอบหรือเฟรมตากใบยาที่ตรงตามคุณภาพ GAP ให้กับชาวไร่ยาสูบ
การบ่มใบยาด้วยแดด
ในการตากใบยา ต้องตากในร่มประมาณ 2-3 วัน เพื่อลดความชื้นก่อนการบ่มแดด หลังจากนั้นนำไปตากแดดรำไรหรือพลางแสงแดดอีก 3-5 วัน เพื่อต้องการให้น้ำระเหยออกจากใบยาอย่างช้า ๆ จนใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง นำใบยาออกตากแดดเฉพาะกลางวัน ส่วนกลางคืนต้องนำเข้าที่ร่มหรือใช้ผ้าใบคลุมไว้เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำค้าง หลังจากนั้นตากแดดจัดต่ออีก 7-10 วัน เรียกว่าระยะทำใบแห้ง เมื่อใบแห้งแล้วแกะเชือกออกจากกรอบไม้นำปลายเชือกแต่ละด้านมาผูกกันคล้ายพวงมาลัย และแขวนผึ่งในร่มอีก 10-15 วัน เรียกว่าระยะทำก้านแห้ง เพื่อให้ใบยาอ่อนตัว
แขวนใบยาในที่ร่มเพื่อให้ก้านแห้ง
เมื่อบ่มจนได้ที่แล้ว ก็ยังไม่จบขั้นตอนเสียทีเดียวครับ ขั้นตอนต่อไป คือ การหมัก โดยจะนำใบยาที่ผ่านการบ่มแดดมากองเพื่อหมักอีก 10 - 15 วัน เพื่อให้คุณภาพสีใบยาดีขึ้น จึงนำไปอัดเป็นห่อเพื่อรอจำหน่าย โดยนำใบยาแห้งมาชั่งก่อนไม่ให้เกิน 15 กิโลกรัม เพราะทางโรงงานยาสูบกำหนดขนาดรับซื้อไว้ไม่เกิน 15 กิโลกรัมต่อ 1 ห่อใบยา หลังจากชั่งแล้วนำใบยาแห้งที่ยังร้อยเชือกมาเรียงใส่บล็อค หลังจากอัดแน่นก็เย็บกระสอบป่าน 3 ด้าน (ด้านแคบ) ส่วนอีก 3 ด้านใช้วิธีเย็บเชือกป่านไขว้ไปมาให้แน่นกันใบยาหลุดออกจากห่อ เป็นอันเสร็จพิธีแบบง่ายดายพอประมาณ
การรับซื้อใบยาจะเป็นไปตามคิวครับ โดยทางโรงงานยาสูบ ตรวจสอบห่อใบยาก่อนส่งเข้าไปตีเกรดชั้นใบยาอีกที บนห่อใบยามีเลขกำกับดังนี้ 1. No. หมายถึงหมายเลขห่อ 2. G (Grade) หมายถึงชั้นใบยา 3. W (Weight) หมายถึงน้ำหนักห่อใบยา
ในพื้นที่ขานเกรดใบยาจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบันทึกคอมพิวเตอร์ ส่วนกรรมการรับซื้อ และส่วนจดบันทึกมือ วิธีการรับซื้อคือนำห่อใบยาขึ้นวางบนราง เลื่อนไปทีละห่อให้กรรมการรับซื้อใช้ไม้แหลมทิ่มลงไปที่ใบยาแล้วงัดขึ้นมาดูคุณภาพ หลังจากดูก็จะขานเกรดใบยาห่อนั้นๆ ไปทีละห่อจนครบจำนวนที่เกษตรกรหรือชาวไร่แต่ละรายนำมาขาย ลำดับขั้นตอนการขานเริ่มจากขานรหัสชาวไร่ก่อน ขานเบอร์ห่อใบยา ขานเกรดใบยา และขานน้ำหนัก ทางฝ่ายคอมพิวเตอร์ก็จะบันทึกไปพร้อมๆกับฝ่ายจดบันทึกมือ เพื่อกันข้อมูลผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ และเพื่อความสบายใจของชาวไร่ยาสูบ
สำหรับราคาใบยาสูบจะอยู่ที่ห่อละประมาณ 800-1,000 บาท โดยรายได้เฉลี่ยต่อไร่จะอยู่ไร่ละประมาณ 13,000 บาท ครับ
นับเป็นการใช้สภาพพื้นที่เพื่อเอื้ออำนวยกันอย่างสอดคล้องเหมาะเจาะมากครับ กลายเป็นอีก 1 ผลิตผลที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!