การแสดงมหรสพงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

การแสดงมหรสพงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

การแสดงมหรสพงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแสดงมหรสพ เนื่องในงาน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ เวทีกลางแจ้ง มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป


การแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุพระบรมอัฐิ เป็นแบบแผนประเพณีสืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการจัดมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุตามแบบแผนประเพณีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2339 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คืองานออกพระเมรุพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก โดยปรากฏหลักฐานว่ามีมหรสพหลายอย่าง อาทิ โขน ละคร หุ่น หนัง งิ้ว มอญรำ เทพทอง โมงครุ่ม ไต่ไม้ แพนรำ ไต่ลวด กายกรรม ซึ่งเป็นการแสดงมหรสพ 2 ประเภทหลัก คือ มหรสพที่เป็นเรื่องราว ได้แก่ โขน ละคร หุ่น หนัง งิ้ว มหรสพที่เป็นการละเล่น ได้แก่ มอญรำ เทพทอง โมงครุ่ม ไต่ไม้ แพนรำ ไต่ลวด กายกรรม โมงครุ่ม, กุลาตีไม้, ระเบง, แทงวิไสย, กะอั้วแทงควาย, รำโคมญวน, รำโคมบัว

การออกพระเมรุถือเป็นงานออกทุกข์ หลังจากที่ไว้ทุกข์มาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงนำเอามหรสพสมโภชมาเล่น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อเจ้านายสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ลง จะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ งานถวายเพลิงพระศพ จึงเสมือนเป็นการส่งเสด็จ พร้อมกับแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง ก็เท่ากับว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าแผ่นดินจะสนองพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดพระเกียรติ โดยจัดให้มีมหรสพสมโภชแสดงถวายความรักความอาลัย ในงาน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงมหรสพถวาย จึงกำหนดให้มีการแสดงโขน หุ่น ละคร ตามแบบแผนประเพณี และยังมีดนตรีสากลร่วมด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้คือ

การแสดงจัดเป็น 3 เวที และหน้าพระเมรุ ทุกเวทีจะอยู่ในบริเวณท้องสนามหลวง จะเริ่มการแสดงตั้งแต่ เวลา 19.00 น. ของวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555และเสร็จสิ้นประมาณเวลา 05.00-.06.00น. ในวันอังคารที่ 10 เมษายน 2555ใช้เวลาการแสดงทั้งสิ้น รวม 10ชั่วโมง โดยจะหยุดการแสดงในช่วงเวลาพระราชทานเพลิงจริง ประมาณ 1 ชม.


เวทีที่ 1. (ด้านสะพานพระปิ่นเกล้า) ประกอบด้วย

1.การแสดงหนังใหญ่ เบิกหน้าพระ และเบิกโรงหนังใหญ่ จับลิงหัวค่ำ เพื่อเป็นการบูชาครู สรรเสริญเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

2.โขนหน้าจอ เรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นมหากาพย์ที่ว่าด้วยการอวตารของพระนารายณ์เทพเจ้า ซึ่งเรามักจะเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์เราเป็นดั่งสมมติเทพ ฉะนั้นเรื่องราวของโขน จึงเป็นการเทิดพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ สำหรับการแสดงโขนหน้าจอครั้งนี้ จะดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 6 ทั้งชื่อตัวละคร และตัวสะกดก็จะยึดตามต้นฉบับดั้งเดิมผู้ทำบท ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและข้าราชการของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และวิทยาลัยนาฏศิลปสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดแสดงตั้งแต่ชุดสีดาหาย จนถึงชุดพระรามคืนนคร รวมทั้งหมด ๑๒ ชุด ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาในแต่ละชุดนั้น คงต้องขอให้ติดตามชมด้วยตัวเอง รับรองว่าสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตาสนุกสนาน มีครบทุกอรรถรส รัก โกรธ โศกเศร้า เคียดแค้น ทั้งยังจะได้เห็นตัวแสดงหลากหลายประเภท เช่น พระ นาง ยักษ์ ลิง รวมทั้งกระบวนทัพของฝ่ายพระราม ซึ่งมีวานรเป็นทหาร และกระบวนทัพของทศกัณฐ์ ซึ่งมีอสูรเป็นเหล่าทหาร

เวทีที่ 2. ด้านศาลฎีกา) มีการแสดง 3 ชุด ประกอบด้วย

1.การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอน ศึกเก้าทัพถึงพบละเวง

2.ละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่องศกุนตลา ตอนท้าวทุษยันต์พบนางศกุนตลา

3. ละครนอก เรื่องสังข์ทอง พระสังข์หนีนางพันธุรัต ถึง พระสังข์พบพระมารดา


เวทีที่ 3. (ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) การบรรเลง-ขับร้อง โดยวงดนตรีสากล 3 วง คือ

1.วง C.U. แบนด์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.คณะนักร้องประสานเสียง วิทยาลัยอาชีวะสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์

3.วงกรมประชาสัมพันธ์

ส่วนหน้าพระเมรุ จะมีการแสดงโขน ในช่วงพระราชทานเพลิง ซึ่งเรามักจะเรียกตามภาษาชาวบ้านว่าโขนหน้าไฟ ก็กำหนดจัดเรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย โดยใช้แบบกระทู้เต็ม (เจรจากระทู้แบบโบราณ เจรจาสด) ดำเนินเรื่องเริ่มตั้งแต่ทศกัณฐ์ใช้นางเบญกายหลานสาวไปดูตัวนางสีดาในสวนเพื่อจะแปลงเป็นนางสีดาและทำกลตายลอยน้ำไปให้พระรามเข้าใจว่าเป็นนางสีดาตาย หนุมานขอพิสูจน์ศพนางสีดา โดยอัญเชิญขึ้นเผาไฟ นางเบญกายทนความร้อนไม่ไหว จึงกลายร่างหนีไปตามเปลวควัน หนุมานเข้าจับตัวนางมาถวายพระราม พระรามพิพากษาโทษนางเบญกาย โดยต้องการลองใจพิเภกซึ่งเป็นพ่อของนางเบญกาย

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook