ประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จ.ตรัง ปี 53

องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดตรัง จัดงานประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จังหวัดตรัง ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 24-28 ตุลาคม 2553 ณ ลานเรือพระ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยชุมชนต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดตรังร่วมแรงร่วมใจกันจัดประดับตกแต่งเรือพระอย่างสวยงาม และพร้อมใจกันลากเรือพระในนามของวัดเข้าร่วมงานประเพณี ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง และมีกิจกรรมอีกมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส อาทิ
- สัมผัสความสวยงามทั้งในบรรยากาศกลางวันและยามค่ำคืนของเรือพระกว่า 60 เรือพระ
- ร่วมลากพระ และ ทำบุญเรือพระ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและสะสมบุญ
- ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ การแสดงดนตรี ของนักเรียนนักศึกษา การแสดงมหรสพ
- เลือกซื้อสินค้า OTOP และ ของดีของฝากเมืองตรัง
- เชียร์การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน กว่า 10 ชนิด เช่น ซัดต้ม กินต้ม เตะปี๊บไกล วิ่งกระสอบชาย-หญิง วิ่งสามขา ชักเย่อ ขูดมะพร้าว
งานประเพณี "ลากพระ งานชักพระ หรืองานแห่พระ" เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ ที่สืบทอดมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดตรังนั้น ในปีหนึ่งๆ จะจัดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งจะเป็นการลากพระบก นิยมจัดกันตามชุมชนตรังนาหรือบริเวณท้องทุ่งกว้างๆ ใกล้วัด สำหรับประเพณีลากพระครั้งที่ 2 ของจังหวัดตรัง จะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งมีการเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า เนื่องจากวันนี้ จะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จกลับสู่มนุษย์โลกทางบันไดทิพย์ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ จนสืบทอดมาเป็นประเพณีลากพระในท้องถิ่นทางภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการลากพระก็คือ การทำต้ม หรือการนำข้าวเหนียวที่ผัดด้วยกะทิมาห่อด้วยใบพ้อ ซึ่งเป็นใบไม้ที่มีเฉพาะทางภาคใต้ จากนั้นจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนึ่งให้สุกนำมาผูกรวมเป็นพวง พวงละ 3-5 ลูก เพื่อเอามาไว้ใส่บาตร และใช้ประดับเรือพระ หรือเป็นอาหารระหว่างการละเล่นในประเพณีลากพระ ทั้งนี้ การลากพระ จะมีการอาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร ขึ้นมาประดิษฐานบนบุษบก หรือเรือพระ ที่แต่ละวัดก็จะหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ ช่วยกันตกแต่งให้สวยงาม เพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน ปัจจุบันเรือพระได้มีการดัดแปลงเป็นรถหรือล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการชักลากมาตามถนนหนทาง แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้นๆ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นก็จะมีการลากพระเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธได้ออกมาร่วมกันทำบุญและถวายต้ม โดยจะมีพุทธศาสนิกชนและศิษย์วัดเดินตามมาด้วย พร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรี ประโคมไปตลอดทาง มีทั้งทับโพน กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง และฉาบ