สะหวันนะเขต (ตอนจบ)

สะหวันนะเขต (ตอนจบ)

สะหวันนะเขต (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเดิมตอนที่แล้ว : สะหวันนะเขต (ตอนแรก)

      น้องโซดา เกรสเฮ้าส์  อยู่ติดแม่น้ำโขงหากเพียงแต่ว่ามีถนนเลียบแม่น้ำโขงคั่นอยู่นิดหนึ่ง จัดได้ว่าเป็นทำเลที่ดีพอสมควรสำหรับผู้ที่ไม่ปรารถนาของแพง  ความสะอาดพอใช้ได้ตามระดับเกรสเฮ้าส์ทั่วไป  พนักงานสุภาพคุยกันรู้เรื่อง ผมถามหาเช่ารถมอเตอร์ไซต์แบบขับเอง เขาก็พยายามหาให้โดยการไปขอยืมรถเพื่อนมาให้บริการด้วยราคา 150 บาทต่อ 24 ชั่วโมง แถมมีหมวกกันน๊อคให้ซะด้วยนะ  ด้วยอารมณ์โลกส่วนตัวสูงของผมนี่แหละเลยถูกใจเป็นอย่างยิ่ง ผมไม่ชอบที่จะไปต่อรองราคาค่ารถเวลาจะไปไหนแต่ละจุด เบื่อเวลาถูกหลอกให้เสียค่าบริการเกินจริง  การช่วยเหลือตัวเองด้วยวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมกว่า

     แต่ว่าการขับขี่รถในสถานที่ไม่คุ้นเคยนั้นต้องใช้ความระมัดระวังสูง กว่าจะทำความคุ้นเคยกับเลนส์ขวาได้ก็งึกๆ งักๆ ไปพักใหญ่  ก็มันต่างจากบ้านเมืองเรานี่นา ในบ้านเราคงมีแต่จิ๊กโก๋ไร้มารยาทเท่านั้นที่ขับรถตามอำเภอใจ (มันอยู่ในจังหวัดอะไรหว่า?)  บ้างนึกจะเลี้ยวก็เลี้ยว หากเป็นรถยนต์นึกจะปาดหน้าเข้าแทรกแถวก็ปาดโดยไม่เปิดไฟเลี้ยวขอทาง แล้วพลางคิดไปว่าตัวเองนั้นแน่นั้นเก่งที่ปาดหน้าชาวบ้านได้  หารู้ไม่ว่าคนที่ถูกแทรกถูกปาดนั้นเขานิยมชมว่า “สถุลจริงๆ” 

     ที่สะหวันนะเขตไม่ค่อยมีคนอย่างว่า บ้านนี้เมืองนี้รถรายังน้อย รถมอเตอร์ไซต์เป็นที่นิยมโดยไม่มีการตกแต่งหรือถอดออกเหมือนอย่างบ้านเราที่วัยรุ่นมักมีความคิดว่าตัวเองนั้นมีความรู้มากกว่าวิศวกร หากใครคิดมาขายอุปกรณ์แต่งรถที่นี่ คงต้องพับเสื่อกลับบ้านได้เลยเพราะคนที่นี่เขาไม่นิยมกัน

     สะหวันนะเขต มีชื่อและตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า แขวงสะหวันนะเขต ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นแขวงที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเป็นอันดับ 2 รองจากนครเวียงจันทน์ โดยตั้งอยู่ส่วนกลางของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวลุ่มเผ่าไทดำ กะเลิง กะตัง ลาเว้ ปาโก ถือเป็นแขวงที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด 

     เล่ามาถึงตอนนี้ก็ขอเล่าประวัติความเป็นมาของแขวงสะหวันนะเขต และจังหวัดมุกดาหาร เพิ่มเติมให้เป็นความรู้กันอีกสักหน่อยนะครับ โดยมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า

     เมื่อช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดินแดนที่ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง (ฝั่งแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว) บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุอิงฮังในปัจจุบัน มีหมู่บ้านเป็นชุมชนใหญ่ชื่อบ้านหลวงโพนสิน โดยมีเจ้าจันทรสุริยวงศ์ เป็นผู้ปกครองเมืองอยู่หลายสิบปี จนต่อมาได้ถึงแก่กรรม  ผู้เป็นบุตรชื่อเจ้าจันทกินรี ได้รับตำแหน่งขึ้นปกครองบ้านเมืองแทน 

     จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2310 ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามแม่น้ำโขงมายังปากห้วยบังมุก (ที่ตั้งของ จ.มุกดาหาร) ได้พบเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมมีความอุดมสมบูรณ์  จึงได้กลับไปรายงานให้เจ้าจันทกินรีทราบ  จากนั้นเจ้าจันทกินรีได้พาไพร่พลอพยพจากบ้านหลวงโพนสิม มาตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ 

     เมื่อครั้งตั้งเมืองใหม่นั้น ในช่วงเวลากลางคืนได้มีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใสเปล่งประกายแวววาวลอยออกมาจากต้นตาล 7 ยอด ริมแม่น้ำโขง แก้วดวงนั้นล่องลอยไปตามแม่น้ำโขงแทบทุกคืน จนใกล้เวลารุ่งสว่างจึงล่องลอยกลับมาที่ต้นตาลดังเดิม  เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตรดวงนี้ว่า “แก้วมุกดาหาร”  เพราะตั้งเมืองอยู่ตรงปากห้วยบังมุก อีกทั้งยังมีผู้พบไข่มุกอยู่ในหอยกี้ (หอยกาบ) ในแม่น้ำโขงอีกด้วย  ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าจันทกินรีจึงตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “เมืองมุกดาหาร” ตั้งแต่เดือน 4 ปีกุน จุลศักราช 1132 (พ.ศ.2313) 

     ถึงสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้าจันทกินรี เป็น พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร เมื่อปี พ.ศ.2321  และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2450 มีการปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดรเป็นจังหวัด และเมืองมุกดาหารถูกยุบเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครพนม  จนกระทั่งปี พ.ศ.2525 รัฐบาลได้จัดตั้งให้ขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

     ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารถือได้ว่าเป็นประตูสำคัญระหว่างกลุ่มประเทสอินโดจีน มีความสัมพันธ์กับแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว  ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงประเทศเวียตนาม อีกด้วย 

     จุดหมายแรกของการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองสะหวันนะเขต คือ การเดินทางไปนมัสการพระธาตุอิงฮัง ผมขับรถมอเตอร์ไซต์ด้วยท่าทางไม่ค่อยทะมัดทะแมงนัก ผ่านอาคารบ้านเรือนเก่าหลายหลังที่สร้างขึ้นสมันที่ฝรั่งเศษเข้ามาปกครอง อาคารที่มีความเก่าทว่าแฝงไว้ด้วยความสวยงามชวนให้คิดถึงอดีตอันขมขื่น ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านหมุนไปแต่กลับไม่ลบรอยอดีให้เลือนหาย การพัฒนาที่เป็นไปอย่างช้าๆ กลับสร้างคุณค่าให้กับแขวงสะหวันนะเขตได้อย่างมีคุณค่ามายิ่งขึ้น  

     ผมผ่านอนุสาวรีย์ท่านกุรวงศ์ ที่ตั้งอยู่บนถนนสุดธนู ด้านตรงข้ามเป็นศาลเจ้าจีน ท่านกุรวงศ์เป็นวีรบุรุษในสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น และท่านเคยเป้นรัฐมนตรีกลาโหมของคณะรัฐบาลฝ่ายขวา แต่ท่านกลับถูกลอบสังหาร รูปปั้นนี้สร้างเท่าขนาดจริง ท่านอยู่ในชุดขุนนางชั้นสูงสวมเสื้อไม่มีปก ยืนอยู่ท่ามกลางสวนดอกไม้  ครั้งหนึ่งรูปปั้นนี้ถูกเก็บซ่อนไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง และเพิ่งนำออกมาตั้งใหม่เมื่อปี พ.ศ.2538 เพื่อให้ประชาชนได้สักการะท่านต่อไป 

     จากจุดนี้ผมต้องขับรถมอเตอร์ไซต์ต่อไปอีก 13 กม. เพื่อไปนมัสการพระธาตุอิงฮัง จากตัวเมืองสะหวันนะเขต ต้องเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 13  แผนที่ที่ได้ซื้อมาจากน้องโซดาเกรสเฮ้าส์ ได้ถูกเปิดใช้เพื่อเพิ่มความแน่ใจว่าจะไม่หลง  ยวดยานพาหนะบนทางหลวงหมายเลข 13 เริ่มมากขึ้น ทางหลวงสายนี้ถือเป็นสายหลักที่เชื่อมไปถึงภาคเหนือของ สปป.ลาว การขับขี่รถต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ผมเลือกที่จะบังคับรถให้วิ่งอยู่บนไหล่ทางซึ่งน่าจะปลอดภัยกว่า 

     สายลมร้อนระอุปะทะใบหน้าให้รู้สึกแสบยุบยิบ ระหว่างทางให้พบเห็นภาพวิถีชีวิตของชาวลาวซึ่งดำเนินไปอย่างปกติวิสัย แต่แปลกตาสำหรับคนแปลกหน้าที่ดั้นด้นข้ามฝั่งโขงมา จริงแล้วครั้งหนึ่งในกาลก่อนเราเคยเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ด้วยความโลภของชาวศิวิไลย์เพียงเท่านั้นกระมัง ทำให้หนึ่งต้องกลายเป็นสองอย่างยากที่จะยอมรับได้ ความแทรกแซงจากมือที่สามไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ความอยากได้อยากมีล้วนไม่มีจุดจบ ก่อเกิดหายนะให้เขตแดนประเทศที่เคยเงียบสงบน่าพิศมัยกลับกลายเป็นปัญหารุนแรง ผู้คนมากมายต้องเสียสละชีวิตเลือดเนื้อและความสุข อารยธรรมเก่าแก่ถูกทำลายสูญหาย บ้างถูกเคลื่อนย้ายไปแต่งเติมความศิวิไลย์ให้คนทั่วไปยกย่องสรรเสริญ เปรียบประดุจดั่งมีบ้านหลังใหญ่หรูหราแต่หาสำนึกได้ว่าที่ได้มานั้นคือ ของคนอื่นล้วนๆ 

     โอ้…แค่เพียงสายลมร้อนแผ่วปะทะใบหน้า ทำให้เราคิดอะไรไปได้นะ…นั่นก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความคิดส่วนตัวที่ได้มีเวลาอยู่เพียงลำพัง อย่างที่เขาว่า “อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา”  การที่เราจะปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างหนึ่งยิ่งเป็นเรื่องอุปนิสัยของคนด้วยยิ่งแล้ว นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากในชีวิตหนึ่งเราอาจจะทำไม่สำเร็จด้วยซ้ำ สู้เปลี่ยนตัวเราจะง่ายกว่า ในเมื่อเราหนีไม่พ้นเราก็ต้องเปลี่ยนตัวเราเพื่อจะให้อยู่ได้อย่างสันติบนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ ดูอย่างคนลาวนั่นปะไรรู้จักปรับตัวเองให้กินขนมปังบาเก็ตปอนด์ยาวโรยหน้าด้วยหมูหยองหมูยอ ก็อร่อยไปอีกแบบ 

     เพลิดเพลินมาจนถึงพระธาตุอิงฮัง ช่วงก่อนถึงพระธาตุผมต้องรีบจอดรถเมื่อพบภาพประทับใจ คุณยายใบหน้าไม่ใสแต่โดยรวมดูซื่อ ในชุดเสื้อสีน้ำเงินสาบเสื้อมีรายปักโบราณ นั่งขายบายศรีที่ทำจากใบตองเขียวเป็นรูปกรวยซ้อนกลีบหลายชั้น มีดอกไม้ขาวแต่งเติมเสียบปลายเพิ่มความบริสุทธิ์ 

     “ไหว้ธาตุไหม” คุณยายเอ่ยถาม ผมพยัคหน้า “เท่าไรครับยาย” “ห้าพัน” คุณยายตอบ 5000 พันกีบ ก็ประมาณ 20 บาทไทยเรานั่นแหละ  ผมคุยกระเซ้าคุณยายไปเรื่อย เพราะถือเป็นการนั่งพักไปในตัว ด้วยไม่รู้จะรีบไปไหน นึกถึงชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ตัวเองต้องเร่งรีบมาทำงานให้คนอื่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  พลางแอบอิจฉาคุณยายที่ทำงานของตัวเองเพื่อตัวเองและครอบครัวด้วยกระมัง 

     “เมื่อก่อนยายคงสวยนะ” ผมแกล้งกระเซ้าคุณยายเล่นตามประสาคนหาเรื่องคุย…คุณยายยิ้มเห็นฟันดำๆ “บ่…งามกะดั๊กกะด้อ…เจ้าสิ.. เจ้าซู้ตายห่า” ผมตกใจแทบสำลักน้ำ แต่คุณยายกลับยิ้มหัวเราะร่วน  คุณยายพยายามอธิบายภาษาลาวต่อซึ่งคงเวทนาผมในใจ ได้ใจความประมาณว่า 

     งามกะดั๊กกะด้อ แปลว่า สวยมาก  ส่วน เจ้าซู้ตายห่า แปลว่า หล่อมาก  หลังจากกระจ่างในความหมายทำให้สองคนต่างวัยหัวเราะกันอย่างครื้นเครง ความเหงาที่ซ้อนท้ายมาถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เคยคิดว่าไม่อาจจะละทิ้งได้ บัดนี้ได้เลือนหายไป ณ หน้าพระธาตุอิงฮัง นี่เอง 

     พระธาตุอิงฮัง ในวันนี้ก็คงเหมือนกับทุกๆ วัน หากใครเคยเดินทางมานมัสการแล้วคงนึกภาพออก แต่ถ้ายังไม่เคยมาคงต้องชมภาพกันไปก่อน แล้วค่อยหาโอกาสมานมัสการในวันหน้าบ้าง ว่ากันว่า (อีกแล้ว) พระธาตุอิงฮัง เป็นพระธาตุคู่แฝด หรือ พระธาตุพี่น้อง กับพระธาตุพนมของประเทศไทย ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีชาวลาวจะจัดงานใหญ่ เช่นเดียวกันกับที่ชาวไทยจัดงานนมัสการพระธาตุพระพนมในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์  องค์พระธาตุอิงฮังมีความสูง 25 เมตร มีประตูทางเข้า 4 ด้าน ตัวองค์พระธาตุมีภาพแกะสลักแนวกามาวิจิตรตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดูอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ส่วนภายในนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  ด้านฐานล่างนั้นมีการเจาะเป็นช่องประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ 

     เมื่อตอนที่ผมเข้ามาถึงพระธาตุอิงฮังแห่งนี้ แล้วได้นั่งชมความงดงามของพระธาตุอยู่พักใหญ่ แสงแดดที่ร้อนระอุก็เริ่มอ่อนแสงลงเพราะมีเมฆมาบดบัง ผมเงยหน้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยความสนใจ มันเป็นภาพที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก ที่รอบดวงอาทิตย์จะมีเฉดสีรุ้งเปล่งประกายเป็นวงรอบ คงใช่ที่เขาเรียกว่า พระอาทิตย์ทรงกลด แม่ชีที่นั่งอยู่หน้าพระธาตุในเวลานี้ได้เงยหน้ามองด้วยเช่นกัน พลางสวดมนต์ไปด้วยแต่ผมฟังไม่ค่อยชัดเจนนัก 

     ภาพพระอาทิตย์ทรงกลด เหนือยอดพระธาตุอิงฮัง เป็นภาพที่ผมประทับใจ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากการหักเหของแสงเมื่อกระทบกับมวลความชื้นในอากาศ ก่อเกิดเป็นเฉดสีรุ้งรอบดวงอาทิตย์ 

     บายศรีที่ได้ซื้อมาจากคุณยายหน้าวัดถูกผมนำไปวางรวมกับผู้เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนคนอื่นๆ ก่อนจะกลับมานั่งภาวนาขอพรให้ตนเองพบกับความสุขสมหวัง…ผมไม่รู้ว่าพระธาตุอิงฮังมีความเป็นมาอย่างไร หรือใครเป็นผู้สร้างขึ้น ผมรู้แต่เพียงว่า วันนี้ผมได้มาไหว้ได้มาขอพร ได้มานั่งนิ่งทำใจให้สงบ หยุดความคิดถึงอดีตและอนาคต  หยุดความรู้สึกโกรธ  หยุดความรู้สึกอยาก…ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่หยุดคิดได้ แต่ทว่าเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขจริงที่ได้ตามหามานาน 

     ผมขับมอเตอร์ไซต์กลับมาตามทางเก่า ภาพพระธาตุอิงฮังค่อยๆ เล็กลงในกระจกมองหลัง ข้างหน้ารถรายังขวักไขว่เหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมกว่าขามาด้วยซ้ำ ผมต้องเดินทางอย่างระมัดระวังอีกแล้วซินะ เพราะกว่าจะถึงที่พักริมแม่น้ำโขงก็อีกตั้ง 10 กม.

ขอให้ทุกๆ ท่านมีความสุข....แล้วพบกันใหม่ครับ

นุ บางบ่อ...เรื่อง / ภาพ
4 มีนาคม 2553

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ความเดิมตอนที่แล้ว : สะหวันนะเขต (ตอนแรก)


 

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 

     สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่บ้านสงเปือย ตำบลบางไทรใหญ่ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือ 7 กิโลเมตร โดยข้ามไปลงที่ บ้านนาแก เมืองคันทะบูลี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวแขวงสะหวันนะเขตไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร 

     สะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางขนส่ง เชื่อมโยงจากตะวันออกคือเมืองดานัง (เวียดนาม) ข้ามแม่น้ำโขงที่แขวงสะหวันนะเขต ต่อมายังมุกดาหาร และผ่านไปยังตะวันตกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภอแม่สอด และเมืองเมียวดี และไปสิ้นสุดที่ เมืองมะละแหม่งของพม่า 

     ในการเดินทางข้ามสะพานฯ โดยบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ ค่าโดยสารท่านละ 45 บาท โดยฝั่งไทยจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดิน ส่วน สปป.ลาว มีการจัดเก็บดังนี้ หนังสือเดินทาง (Passport) วันธรรมดา 20 บาท วันหยุด 40 บาท หนังสือผ่านแดน (Borderpass และ Temporary Borderpass) วันธรรมดา 50 บาท วันหยุด 100 บาท โดยมีจุดจอดรถโดยสารบริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2

การเดินทางด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางระหว่างประเทศ 

      ซื้อตั๋วและขึ้นรถได้ที่สถานีรับ-ส่งผู้โดยสารของ บริษัท ขนส่ง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร หรือจุดจำหน่ายตั๋วบริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพขาออก ต้องแสดงหนังสือเดินทาง (Passport) หรือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) มีรถโดยสารบริการไปกลับวันละ 16 เที่ยว ระหว่าง 08.00-17.00 น.  

      ผู้โดยสารทุกคนต้องลงรถที่ด่านจุดตรวจพรมแดนสะพานฯ พร้อมนำสัมภาระติดตัวลงรถ เพื่อตรวจเอกสารการเดินทางตามพิธีการตรวจคนเข้าเมืองด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพฯ ตู้ตรวจที่ 1,2,3 และผ่านพิธีการศุลการกรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสิ่งของสัมภาระ แล้วจึงขึ้นรถเดินทางต่อไปได้ ปลายทางคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารแขวงสะหวันนะเขต ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งสามารถขึ้นรถโดยวารต่อไปยังนครหลวงเวียงจันทร์ แขวงสาละวัน แขวงคำม่วน แขวงจำปาสัก สปป.ลาว และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

หมายเหตุ  

     แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ พระธาตุอิงฮัง พระธาตุโผ่น และปราสาทเรือนหิน โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมผ่านประตู ค่าใช้กล้องถ่ายภาพนิ่งและกล้องวิดีโอ ที่นักท่องเที่ยวนำเข้าไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปและคนต่างด้าวที่พำนักใน สปป.ลาว แขกของทางการทั้งคนลาวและชาวต่างประเทศ นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ชาวลาวที่ถือสัญชาติต่างประเทศ หากกรณีที่เป็นแขกของทางการลาว จะต้องมีหนังสือแจ้งให้แผนกแถลงข่าวและวัฒนธรรมของแขวงสะหวันนะเขตทราบล่วงหน้า


 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
http://thai.tourismthailand.org


 

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ สะหวันนะเขต (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook