ประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่4

ประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่4

ประเพณีแห่เทียนพรรษา และงานประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่4
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook



  งานประติมากรรมเทียนนานาชาติจัดขึ้นทุกปี โดยความร่วมมือของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มศว.ประสานมิตร

 

   ซึ่งในปีนี้จัดให้มี งานประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่ 4
ภายใต้แนวคิด "โลกของเทียน" ขึ้น
ระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2552
ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี




สัปดาห์แรก
วันที่ 1-5 กรกฎาคม 2552  “รวมพลศิลปินนานาชาติ” 
สัปดาห์ที่สอง
วันที่ 6-12 กรกฎาคม 2552  “รวมศาสน์ศิลป์ถิ่นอุบล” 
สัปดาห์ที่สาม
วันที่ 13-19 กรกฎาคม 2552  “รวมพลคนศิลปะ” 
สัปดาห์ที่สี่ 
วันที่ 20-26 กรกฎาคม 2552  “รวมใจนาฎศิลป์นานาชาติ” 
สัปดาห์ที่ห้า 
วันที่ 27-31 กรกฎาคม 2552  “รวมเชิดชูปราชญ์”


แนวคิด “ โลกของเทียน ที่ประเทศไทย” 
 

    คำว่า “เทียน” ในภาษาไทย มีหลากหลายความหมาย
ความหมายของเทียน ลำดับแรก ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบาย ว่า หมายถึง “เครื่องตามไฟที่ฟั่น ที่หล่อด้วยขี้ผึ้งหรือไขเป็นต้น มีไส้อยู่ตรงใจกลาง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Candle”

 

 
    เทียน ที่หมายถึงเครื่องตามไฟ นี้ นอกจากประโยชน์ในการให้แสงสว่างแล้ว เรารู้จักดีว่า เทียน เป็นหนึ่งในเครื่องบูชา ซึ่งประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป และเทียน โดยเราใช้สามสิ่งนี้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเคารพ ลดหลั่นลงมาตามจำนวน ธูปและเทียนที่ใช้ หรือประดิษฐ์ตกแต่ง ตามความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม ดังที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการริเริ่มออกแบบ ตกแต่งลวดลายของเทียนให้วิจิตรสวยงาม ประกอบในขบวนประเพณีแห่เทียนพรรษาในเทศกาลเข้าพรรษา ตามความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน (ซึ่งในปี 2552 ตรงกับวันพุธที่ 8 กรกฏาคม 2552)

 

    นอกจากประกอบเป็นเครื่องบูชาแล้ว เทียน ยังใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ผสมกลมกลืนกันทั้งพุทธ พราหมณ์ และผี เช่นการปฏิบัติสมาธิภาวนา การทำน้ำมนต์ศักสิทธิ์ แม้การเป่าเสกต่าง ๆ เทียนจึงสื่อความหมายถึง ความสงบรำงับ ความเคารพศรัทธา และความเรียบง่าย

    นอกจากนั้น เทียนยังถูกใช้สื่อความหมายต่าง ๆมากมาย ทั้งในแง่สุขภาพ ความรัก ความงาม และความสุข เช่น ศาสตร์บำบัดสปาเทียนหู ที่มีมาแต่โบราณก่อนคริสต์กาล การประดิษฐ์เทียนหอม ที่ออกแบบให้มีทั้งความสวยงามและกลิ่นหอมพึงใจ การร่ายรำบูชาหรือฟ้อนรำรื่นเริง การอบร่ำควันเทียน ที่เน้นความมหอมหวานให้กับอาหารนอกเหนือจากรสชาติกลมกล่อม

    เทียน ที่ตรงกับคำว่า “Wax” นั้น เป็นอีกความหมายหนึ่งที่เข้าใจกันโดยรวม ไปถึงวัสดุที่มีคุณสมบัติเดียวกัน หรือใช้ร่วมกัน ได้แก่ ขี้ผึ้งและไข เช่นมักใช้ประกอบตัวยาสำคัญบางชนิด ใช้ทำเครื่องใช้ที่บ่งชี้ถึงคุณสมบัติเฉพาะ คือ ความมันวาว และสีเหลือง ใช้เคลือบผิววัตถุเพื่อการรักษาสภาพและเพื่อความคงทน หรือใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่นใช้ประดิษฐ์ลวดลายบนผืนผ้าในกระบวนการฟอกและย้อมสี หรือใช้ทำแม่พิมพ์งานประติมากรรมที่ต้องการความประณีตละเอียดอ่อน



 
     โลกของเทียน จึงมีความหลากหลาย ทั้งมิติแห่งความศรัทธา ความงดงาม ความบริสุทธิ์ ความคงอยู่ ความคิดสร้างสรรค์ สุดแท้แต่ขนบความคิด ของผู้สำเร็จประโยชน์จากเทียน นอกจากนี้ โลกของเทียน ยังสะท้อนภาพวัฒนธรรมของสังคมของแต่ละประเทศนั้นได้อีกด้วย

ในปี 2552 ที่ประเทศไทย ศิลปินแต่ละท่านจะได้นำเสนองานประติมากรรมจากเทียน ตามแนวคิดและประสบการณ์ของตน ภายใต้มุมมองตาม Theme “โลกของเทียน”

 

โลกของเทียน

   มนุษย์ ต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น เพราะรู้รักษาคุณค่าของไฟไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และการพัฒนาปัญญาตีความ แปลความ และร่วมสร้างความหมายให้สัญญะของ “ไฟ – โลกของเทียน” มีความหมายหลากหลายในชีวิตประจำวันอันแฝงเร้นอยู่ในตัวตนของขนบ ปรัชญาความเชื่อ เรื่องเล่าพื้นบ้าน ความเชื่อทางศาสนา การละเล่นพื้นบ้าน ศิลปะและงานช่าง ตลอดจนภูมิปัญญาการนับถือตนเองและผู้อื่นแบบเท่าเทียมตามวิถีพุทธ

 
  

    ช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปีชาวพุทธที่จังหวัดอุบลราชธานีร่วมกันจัดกิจกรรมประกวดเทียนพรรษา ซึ่งถือปฏิบัติกันมากว่าครึ่งศตวรรษ จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และถือเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่ร่วมรับรู้ความรู้สึกปิติปราโมทย์ล้ำลึกที่ได้มามีโอกาสเดินทางมาแสวงบุญ “โลกของเทียน” ที่เมืองอุบลราชธานีที่มีพื้นที่เชิงนิเวศน์วัฒนธรรมหลากหลายในด้านปัญญาความเงียบแง่การปฏิบัติสมาธิภาวนา ในด้านศิลปะท้องถิ่นอลังการงานเทียน ในด้านงานหัตถกรรมสะท้อนรูปแบบสร้างสรรค์พื้นถิ่น ในด้านการเคลื่อนไหวแสดงออกทางนาฏศิลปะพื้นบ้าน นอกจากนี้ พื้นที่อันสงบสุขยังมีส่วนร่วมชวนจิตของเราเกิดปัญญาเข้าใจตนเองและผู้อื่นในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อมที่เจริญงอกงามบนพื้นฐานนิเวศน์วัฒนธรรมเชิงพุทธสะท้อนอัตลักษณ์พื้นที่

เรียบเรียงโดย
อ.โชคชัย ตักโพธิ์ วิทยาลัยอาชีวอุบลราชธานี

 

 



ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
สำนักงาน ททท. อุบลราชธานี
โทรศัพท์ 0 4524 3770
โทรสาร 0 4524 3771
www.thailandwaxcarving.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองสร้างสรรค์กิจกรรม ฝ่ายกิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook