เกาะพยาม

เกาะพยาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม

เกาะพยาม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง ห่างจากปากน้ำระนองประมาณ 33 กม. ใช้เวลาเดินทางจาก ท่าเรือ 1-2 ชั่วโมง เกาะพยามเป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือกาหยู ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัด มี ชายหาดขาวสะอาดทอดตัวเป็นแนวยาวไปตามตัวเกาะหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านชาวเลตั้งอยู่หลาย สิบหลังคาเรือน การเดินทางจากปากน้ำระนอง ท่าเรือ สะพานปลา สามารถเช่าเหมาเรือ ในอัตราประมาณ 1,000 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นครับ

ประวัติความเป็นมา พื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลปากน้ำ ตำบลเกาะพยาม ตำบลหงาว และตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประกอบไปด้วยพื้นน้ำทะเล และเกาะน้อยใหญ่กว่า 15 เกาะ เช่น เกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะทะลุ เกาะไฟไหม้ เกาะสองพี่น้อง และเกาะขาม เป็นต้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะช้าง ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหินกอง-ป่าคลองม่วงกลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียว-ป่าคลองเกาะสุย รวมเนื้อที่ประมาณ 183,125 ไร่ หรือ 293 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 167 ตารางกิโลเมตร หรือ 104.375 ไร่ เริ่มดำเนินการสำรวจจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนโยบายของกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบในการประกาศต่อไป

ที่ตั้ง อาณาเขต และเส้นทางคมนาคม พื้นที่ที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปประกอบด้วย ที่ราบชายฝั่งในทะเลอันดามัน จากลักษณะพื้นที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มพื้นที่ คือ 1. กลุ่มพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นหาดงอกยื่นลงไปในทะเล ปกคลุมด้วยป่าชายเลนอย่างหนาแน่น มีลำคลองขนาดใหญ่หลายสานไหลผ่าน เช่น คลองหงาว คลองบางหนาง คลองละออง คลองราชกรูด คลองลาอุ่นคลองบางจาก ฯลฯ 2. กลุ่มพื้นที่เกาะที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง ได้แก่เกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน และเกาะบริวารอื่นๆ ซึ่งแต่ละเกาะมีป่าชายเลน ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ ส่วนด้านทิศตะวันตก จะมีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวและหาดทราย พื้นที่บนเกาะมีสภาพป่าดงดิบชื้นปกคลุม 3. กลุ่มพื้นที่เกาะที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวฝั่ง ได้แก่ เกาะช้าง เกาะทะลุ เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ เกาะไฟไหม้ เป็นต้น เป็นหมู่เกาะที่วางตัวกระจายในแนวเหนือ-ใต้ ขนานไปกับแนวชายฝั่ง พื้นที่บนเกาะแต่ละเกาะจะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบชื้นบริเวณ โดยรอบเกาะจะมีแนวปะการัง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

ที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ตั้งอยู่บริเวณคลองหัวถนน บ้านท่าฉาง หมู่ที 3 ตำบลงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ห่างจากกรุงเทพฯโดยถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ระยะทางประมาณ 612 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองระนองเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร จะถึงสุขาภิบาลหงาว แล้วเดินทางต่อไปอีก 6 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ท่าเทียบเรือ การเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ บริเวณหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติสามารถใช้เส้นทางโดยทางเรือ ซึ่งปัจจุบันมี 2 เส้นทาง คือ - ท่าเทียบเรือชั่วคราว บริเวณที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติ - ท่าเทียบเรือของการองค์การสะพานปลา ตั้งอยู่บริเวณท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ทรัพยากรธรรมชาติ 1. พืชพรรณ สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกเป็น - ป่าชายเลน รวมเรื้อที่ประมาณ 60,625 ไร่ คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประกอบด้วยพันธุ์พืชถึง 35 ชนิด 18 สกุล 14 วงศ์ เช่น แสม แสมขาว แสมทะเล แสมดำ ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุมดอกขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว โปรงแดง ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ฝาดดอกแดง ฝาดดอกขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน ตะบูนดำ ตะบูนขาว และจาก เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ สำมะง่า เถากระเพาะปลา เหงือกปลาหมอดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกม่วง ปรงทะเล ปรงหนู เป็นต้น

- ป่าดงดิบ เนื้อที่ประมาณ 18,125 ไร่ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่พบรวม 49 ชนิด เช่น กระท้อนป่า ตำเสา ขนุนป่า ขุนไม้ ไข่เขียว เฉียงพร้านางแอ ตะเคียนทอง ตีนเป็ด เทพธาโร ทุ้งฟ้า ยมหิน สะตอ เลือดควาย หลาวชะโอน เป็นต้น พืชพื้นล่างได้แก่ หวายกำพวน หวายแดง ระกำ มอส เฟิน เป็นต้น - ป่าชายหาด พบได้ตามแนวชายหาดบางส่วนของพื้นที่เกาะช้างและเกาะทรายดำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล จิกทะเล หยีทะเล เตยทะเล และปรงทะเล เป็นต้น - ทุ่งหญ้า พบบริเวณเขายิว เกาะทรายดำ โดยจะมีหญ้าชนิดต่างๆ มีหญ้าคาเป็นหลัก 2. สัตว์ป่า สามารถจำแนกออกได้เป็น - สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประกอบด้วย ลิงแสม นากใหญ่ขนเรียบ บ่าง กระรอก กระแต หมูป่า ตุ่น พังพอน ชะมดเช็ด กระจง ลิงลม ค่างดำ ชะนีธรรมดา เสือปลา เก้ง ค้างคาวแม่ไก่เกาะหนูชนิดต่าง และโลมา - นก สำรวจพบ 52 ชนิด เช่น กนยางชนิดต่างๆ เหยี่ยว อีกา นกนางแอ่น นกแซงแซว ไก่ป่า นกกวัก นกกินเปี้ยว นกออก นกเอี้ยง นกดุเหว่า นกแก๊ก นกขุนทอง นกเปล้า และนกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน นกเขาไฟ นกตบยุง นกกระแตแต้แว้ด นกเป็ดน้ำ เป็นต้น - สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย ตะกวด เหี้ย งูเห่า งูจงอาง งูเหลือม และเต่าชนิดต่างๆ - สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วยกบ คางคก อึ่งอ่าง เขียด และปาด - แมลง ได้แก่ ผีเสื้อ แมลงปอ ตั๊กแตน จิงโจ้น้ำ แมลงสาปทะเล เป็นต้น

3. ทรัพยากรทางทะเล ประกอบด้วย ปูก้ามดาบ ปูเสฉวน กุ้งแชบ๊วย กุ้งเคย กุ้งกะต่อม กุ้งดีดขัน แม่หอบ หอยตะโกรม หอยกะทิ หอยเจดีย์ หอยขาว ปลาตีน ปลากระบอก ปลากระทุงเหว ปลาข้างลาย ปลาปักเป้า ปลาสาก ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาอินทรี แมงกระพรุน หมึก หอยเม่น ปลิงทะเล และปะการัง เป็นต้น

การท่องเที่ยว 1.แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณใกล้แนวชายฝั่ง เป็นพื้นที่กว้างใหญ่คงสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งต่อกิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวรวมถึงการศึกษาวิจัย ต้นโกงกางเป็นกลุ่มของต้นโกงกางใบเล็กที่มีขาดสูงใหญ่ที่ยังคงเหลือแห่งเดียว ในประเทศไทย อยู่บริเวณทิศเหนือของเกาะยิว หาดทรายแดง บนเกาะตาวัวดำเป็นหาดทรายที่มีสีออกแดงคล้ายอิฐ เกิดจากการทับถมของ เปลือกหอยนานาชนิดที่ถูกกระแสคลื่นพัดพามาทับถมไว้เป็นเวลานาน ประกอบกับทิวทัศน์ของโขดหินและป่าเขาที่สวยงาม อ่าวปอ บริเวณทิศใต้ของเกาะทรายดำ มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าวที่เงียบสงบมีทิวทัศน์ของชายหาดและป่าชายเลนที่สวยงาม หาดหินงาม บริเวณรอบ เกาะไฟไหม้ พบเพียงแห่งเดียวในหลายๆเกาะ ในอุทยานแห่งชาติเกิดจากการทับถมของหินกลมมนหลายหลากสี ขนาดเล็กจำนวนมากเป็นเวลานาน เกิดแสงสะท้อนวาววับเมื่อยามกระแสคลื่นสาดซัด สะพานหินธรรมชาติ บนเกาะทะลุประติมากรรมทางธรรมชาติ โขดหินที่วางตัวสลับซับซ้อนและ หาดทรายที่ขาวสะอาดบริเวณเกาะช้าง

ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม สามารถจัดให้มีกิจกรรมนันทนาการได้อย่างหลากหลายอันนำไปสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวคือ กิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบต่างๆดังนี้ คือ 1) กิจกรรมเดินป่า ไปตามเส้นทางเดินเท้าที่ตัดผ่านเข้าไปในป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน 2) กิจกรรมถ่ายรูปตามธรรมชาติ อันเป็นรายละเอียดที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ป่า พืชหายาก และสัตว์ต่าง 3) กิจกรรมส่อง / ดูนก ทั้งที่เป็นนกประจำท้องถิ่น นกอพยพ และนกหายาก โดยการนั่งเรือหรือพายเรือไปตามลำคลองสายเล็กๆ ในป่าชายเลน หรือการเดินเท้าไปตามเส้นทางที่จัดให้มีขึ้น 4) กิจกรรมแล่นเรือและศึกษาธรรมชาติ เพื่อชมทัศนียภาพของเกาะแก่ง โขดหินและป่าชายเลน 5) กิจกรรมดำน้ำชมปะการัง เพื่อเกิดความเพลิดเพลิน และใกล้ชิดธรรมชาติใต้ทะเล 6) กิจกรรมพักแรมด้วยเต็นท์ บริเวณกลางป่าหรือชายหาดตามเกาะต่างๆ 2.สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ สถานที่กางเต็นท์ ลานจอดรถ ท่าเทียบเรือ ทางเดินศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ปิกนิก และห้องสุขารวม

ในการประกอบกิจกรรมนันทนาการในเขตอุทยานแห่งชาติไม่ว่าจะเป็น การเล่นน้ำ การนั่งเรือชมทิวทัศน์ ชมถ้ำ การดำผิวน้ำ ดูปะการัง การพักแรมค้างคืน การก่อไฟ ให้กระทำได้เฉพาะในเขตหรือบริเวณที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรกระทำหรือ ส่งเสียงอื้อฉาวรบกวนคนหรือสัตว์ ไม่เดินออกนอกเส้นทางถาวร ไม่สัมผัสหรือจับต้องภาพเขียนสีและหินงอกหินย้อย ตลอดจนป ฏิบัติตนตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด หรือตามที่เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับผู้ที่ไปกางเต็นท์พักแรมจะต้อง เตรียมเครื่องนอน และอุปกรณ์ในการพักแรมไปเอง และต้องเก็บและทำความสะอาดที่พักให้เรียบร้อยเมื่อเลิกใช้แล้ว การก่อไฟ จะต้องไม่เก็บหรือ ตัดกิ่งไม้ยืนต้นมาใช้และต้องระมัดระวังมิให้ไฟลุกลามไปยังที่อื่น ต้องดับไฟให้สนิททุกครั้งที่เลิกใช้ และสำหรับผู้ที่พิศมัยในการดำน้ำ ดูปะการังจะต้องเตรียมอุปกรณ์ไปเอง หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. (02) 5612918-21

ข้อมูลจาก http://www.forest.go.th กรมอุทยานแห่งชาติ (กรมป่าไม้เดิม) 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook