เดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึง

เดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึง

เดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

20 พ.ย. 43  เดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึง

          เมื่อคืนนี้เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ  มายังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง  เดินทางมาถึงประมาณตี 2 เราเลยต้องกางเต็นท์นอน เอาแรงกันก่อน เพื่อที่จะเดินขึ้นสู่ยอดภูในตอนเช้า

          อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีเนื้อที่ประมาณ  348 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 217,581 ไร่ บนยอดจะมีที่ราบ  60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 37,500 ไร่  มีลักษณะเป็นพื้นที่กว้างใหญ่เป็นแอ่งกระทะ  ระดับความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร   ที่ราบบนยอดภูกระดึงนั้นประกอบด้วยเนินลูกเตี้ยๆหลายสิบลูก ลูกที่สูงที่สุดมีชื่อว่า  ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร

          การเดินทางไปที่ภูกระดึงนั้นเราใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ สระบุรี  เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ  ผ่านหมวกเหล็กถ้าใครมีเวลาไม่รีบมากนักก็อาจจะแวะซื้อกระหรี่พัฟกินก่อนก็ได้ จากนั้นก็ผ่านกลางดง ปากช่อง สีคิ้ว แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านทางหลวงหมายเลข 201 ป้ายจะบอกว่าไปชัยภูมิ  ผ่านด่านขุนทด  หนองบัวจัตุรัส  ชัยภูมิ แก่งค้อ ภูเขียว ชุมแพขับตรงไปเรื่อยๆ ก็จะผ่านผานกเค้า และถึงทางแยกเข้าภูกระดึงตรงหลักกิโลเมตรที่ 133 เลี้ยวซ้ายอีกทีผ่านตลาดอำเภอภูกระดึง ตรงไปเรื่อยๆก็จะถึงด่านตรวจอำเภอภูกระดึงเสียค่าธรรมเนียมก่อนเข้า จากนั้นตรงสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

          การเตรียมตัวก่อนเดินขึ้นภู ถ้าใครยังไม่เคยขึ้น หรือเคยแต่นานมาแล้ว ผมขอแนะนำให้ไปฟังคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่เสียก่อน เมื่อฟังคำบรรยายเสร็จแล้วก็ควรจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ท่านนำกระเป๋าหรือสำภาระ ที่ต้องการจะจ้าง หาบ ไปยังฝ่ายจัดหาบสำภาระหลังศาลาประชาสัมพันธ์เพื่อชั่งนำหนักและนับจำนวนชิ้น   หรือใครที่ต้องการที่จะหาบไปเองก็ได้ สำหรับ ค่าจ้างหาบนั้นจะอยู่ที่กิโลละ 10 บาท  ส่วนเสื้อผ้าที่จะใส่เดินขึ้นภูนั้น  เสื้อก็ควรจะใส่เสื้อที่บางและเบา   กางเกงก็ควรจะเป็นขาสั้น หรือใส่แล้วมีความสบายคล่องตัว  ถุงเท้าก็ให้หนาสักนิด  รองเท้าก็ควรจะเป็นรองเท้าผ้าใบ  ถ้าใครเป็นโรคประจำตัว เช่น หอบ ก็ควร จะนำยาติดตัวไปด้วย  ยาแก้เคล็ดขัดยอก  กระติกน้ำหรือขวดน้ำขนาดพอดีมือ  เมื่อมีอุปกรณ์เหล่านี้ครบก็ออกเดินขึ้นสู่ยอดภูได้ แต่ก่อนที่จะเดินขึ้นนั้นก็ควรจะเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยเสียก่อน !!!
          พอเราทำภาระกิจส่วนตัวเสร็จก็เดินขึ้นภูกันเลย  ตรงปากทางขึ้นภูจะต้องเสียค่าธรรมเนียมก่อนขึ้น แล้วลงชื่อไว้ว่าขึ้นไปกี่คน ระยะทางเดินขึ้นจากที่ทำการถึงหลังแปรประมาณ 5.5 กิโลเมตร  และจากหลังแปรไปศูนย์ฯวังกวางประมาณ 3.8 กิโลเมตร เดินขึ้นไปเรื่อยๆตามทางที่เจ้าหน้าที่ทำให้เป็นขั้นบันไดก็จะมาถึงซำแฮกหรือซำตาแหก  ซำในที่นี้ภาษาชาวบ้านท้องถิ่นแปลว่า แหล่งน้ำเล็กๆ ที่ซึมออกมาจากใต้ดิน  ไม่ว่าหน้าอะไรก็ไม่มีวันแห้ง  ชาวบ้านจะไปขุดคุ้ยให้เป็นแอ่งเล็กๆ ไว้ให้น้ำซึมออกมาขัง ไว้กิน ในฤดูแล้ง ส่วนซำแฮกก็แปลได้ตรงตัวเลยว่า  เดินขึ้นมาจะหอบแฮกๆ ขนาดไหน

       จากนั้นเราก็เดินขึ้นมาถึงจุดแยกเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้วเลี้ยวขวา  เดินตรงไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ   ก็จะมาเจอร้าน อาหารชั่วคราว  แต่ก็ไม่ได้แวะกินอาหารกัน เพราะยังไม่เหนื่อยมากเท่าไหร่ จากนั้นเราจึงเดินทางต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเริ่มที่จะเหนื่อยกันบ้างแล้วจนมา ถึงซำต่อไปซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ซำกกโอ  ความหมายของซำนี้ก็คือ  ตรงบริเวณนี้เมื่อก่อนได้มี ชาวบ้าน นำต้นส้มโอขึ้นมาปลูกเอาไว้สองต้นจึงได้เรียกกันต่อมาว่าซำกกโอ เราแวะทานน้ำและพักเหนื่อยสักครู่จึงออกเดินทางต่อ ซึ่งทางเดินต่อไปนั้นเป็นทางเสือผ่านเราเดินกันอย่างเร็ว อาจเพราะกลัวเล็กน้อย ทางต่อไปก็เป็นดงจงอาง ถัดมาก็เป็นดงช้าง ซึ่งทางที่เราเดินมาแต่ละซำนั้นเดินทางยากลำบากมากเพราะทางเดิน แทบจะไม่มีทางเดินแบบเรียบๆ เลยจะเป็นทางชันเหมือนทางขึ้นเขาตลอดระยะในการเดิน ยิ่งเราเดินไกลมากทางจะยิ่งชันมากขึ้น พวกเราแทบเดินไม่ไหว โดยเฉพาะ Wcm ของเราต้องแบกกระเป๋าโน๊ตบุก ซึ่งมีน้ำหนักมากแต่ก็ยังดีที่มีคุณ B ช่วยถือของบ้างเล็กน้อย ซึ่งทั้งสองคนก็เหงื่อตก หายใจแทบไม่ทันคงเพราะเหนื่อยในการขึ้นกันมาก 

       เดินมาอีกก็ถึง ซำกกโดน ความหมายของซำนี้ว่ากันว่าซำนี้จะมีต้นกระโดนเยอะมาก  ชาวบ้านจะนำใบและยอดมากินกันได้  เราก็แวะ พักเหนื่อยกันตามเคย  เพราะแรงในการเดินขึ้นไปนั้นเราดูทางกันแล้ว  ชันมากมีหินเยอะมากจะเดินลำบากมากขึ้นทุกที ที่ซำนี้เราแวะกิน น้ำกันและกินผลไม้ที่นี่นิยมกินคือ มะเฟื่อง  ซึ่งในกรุงเทพบ้านเราไม่ค่อยนิยมกินกัน หรืออาจจะหากินยาก แม่ค้านำมาให้เราลองชิมกัน และคนที่ติดใจก็คงเป็น wcm ของเรา เห็นบอกว่ากินแล้วชุ่มคอดีมาก  เลยเหมาแม่ค้าหมดเลย  พักกันอยู่ครู่ใหญ่มากพอหายเหนื่อยก็ต้อง ทำใจแบกของ และเดินขึ้นภูกันต่อ ซึ่งทางต่อไปเรื่อยๆเราเดินต่อไปจนถึงซำสุดท้ายที่เรียกกันอีกว่า ซำแคร่  ก็มีความอีกเช่นกันว่า ตรง บริเวณนั้นจะมีต้นแคร่ขึ้นอยู่ตามซำนี้   ถ้าเราคิดกันอีกที  ที่ชาวบ้านเรียกซำแต่ละซำความหมายก็คือว่า ชื่อนำมาจากแหล่งกำเนิดน้ำวึ่งเราเรียกกันว่า ซำ 

          เราเดินกันมาจนแทบไม่ไหวแล้วคนที่เหนื่อยมากและดูจะปวดขามากถึงขนาดต้องทายา แก้เคล็ดไปตลอดทาง (หมดไปหลายหลอด ) ก็คือคุณ B ไง แต่เพื่องานก็สู้เดินต่อไป  เรานึกว่าจะถึงกันแล้วความหวังพังทลาย  เพราะทางขึ้นด่านสุดท้ายสุดยอดสำหรับพวกเรา (กำลังจะตาย)

         ทางขึ้นแสนจะลำบากสุด ๆ  ขอบอก...สำหรับคนที่มีความคิดที่จะไปเที่ยวภูกระดึง  แต่มันก็คงเป็นความภาคภูมิใจ อีกอย่างที่เราทำได้ ทางขึ้นสุดท้ายเราไม่สามารถเดินไปได้ เพราะส่วนมากแทบจะปีนขึ้นมากกว่าการเดิน ก่อนถึงจะมีบันได อยู่ประมาณ 4 จุด  ผสมกับการปีนขึ้นซึ่งจะชันมาก  ทางเดินที่ชันและยังเป็นทางแคบอีก  เราต้องระวังในการปีน เป็นอย่างมาก  จนในที่สุดพวกเรา สามคนก็มาถึงหลังแปร  ความรู้สึกแสนที่จะบรรยาย  เรามีความรู้สึกที่ดีเป็นอย่างมาก จากการที่เราเหนื่อยและลำบากกันมานาน เราหายเหนื่อยกันเลยกลับมีความรู้สึกสดชื่นแทน จะมีป้ายเป็นเอกลักษณ์ให้ทุกคนที่ขึ้นมารู้สึกภูมิใจ ป้ายจะเขียนว่าเราเป็นผุ้พิชิตภูกระดึง

        เรามาถึงกันมืดแล้วจึงรีบเดินต่อเลยจากหลังแปรเดินอีกประมาณ 3.8 กิโลเมตร กว่าจะถึงที่พักก็เล่นเอาพวกเราเหนื่อยกันแทบใจขาด แต่ก็ยังดีที่ทางเดินไปที่พักเป็นทางเรียบเดินได้สะดวก ไม่อย่างนั้นคุณ B คงแย่เพราะยาหมดหลอดแล้ว ส่วนทาง WCM หลังแทบหักในการแบกของแล้ว เราเดินกันจนถึงที่ทำการ ก็ติดต่อทำเรื่องที่พัก และรับของที่ลูกหาบแบกขึ้นมาให้ แล้วขนของเดินไปที่พัก จัดของและนอนหลับกันเป็นตาย

WEBCAMMAN

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook