ข้าวต้มกุ๊ยโบราณ ( เล่าตั๊งเจ้าเก่า )

ข้าวต้มกุ๊ยโบราณ ( เล่าตั๊งเจ้าเก่า )

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สวัสดีครับ คุณผู้อ่านที่นิยม แสวงหาความเอร็ดอร่อยทุกท่าน คราวนี้ "โกตี่" ขอพาท่านไป ชิมอาหารอีกประเภทหนึ่งของเยาวราช ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้อาหารชนิดอื่น นั่นคือ ข้าวต้มกุ๊ย ที่ตั้งอยู่ตามปากตรอกซอกซอยของเยาวราช ข้าวต้มกุ๊ยของย่านนี้ ยังคงความขลังของบรรยากาศดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ไม้สักเก่าๆ โต๊ะกลมหินอ่อน ตู้ใส่กับข้าว รวมทั้งโหงวเฮ้งของ เถ้าชิ้ว ( เถ้าชิ้ว หรือ มือหนึ่ง - หมายถึงพ่อครัว หรือคนจัดอาหาร ) ที่พอมองปุ๊บ ต้องรู้สึกได้ทันทีว่า มีฝีมือเข้าขั้นในการปรุงอาหารคนจีนแต้จิ๋ว เรียก ข้าวต้มกุ๊ย ว่า "ชิวเซียม้วย" ซึ่งแปลว่า "ข้าวต้มคนลากรถ" แต่ทำไมคนไทย ถึงเรียกกันว่า "ข้าวต้มกุ๊ย" เรื่องนี้มีสาเหตุ "โกตี่" เล่าถึงที่มาว่า ข้าวต้มนั้น เป็นอาหารดั้งเดิมของ คนจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่ออพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม ก็นำวิธีการรับประทานข้าวต้ม ติดตัวเข้ามาด้วย คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในย่านเยาวราช ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ส่วนใหญ่จะยากจน ทำงานรับจ้างเป็นกรรมกร แบกหามทั่วไป คนพวกนี้กลางวันทำงานหนัก พอตกเย็นก็นั่งรับประทานอาหารกัน กินข้าวต้มไปดื่มเหล้าไป พอเมาได้ที่ก็ทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสมัยนั้น เห็นภาพนี้จนชินตา จึงเรียก แผงขายข้าวต้ม หรือ ร้านขายข้าวต้ม ทำนองนี้ว่า "ข้าวต้มกุ๊ย" ส่วนชื่อร้านนั้นก็นิยมตั้งชื่อตามเจ้าของร้าน หรือชื่อของเถ้าชิ้ว อาทิ "เล่าตั่ว" หมายถึงพี่ใหญ่ ส่วน"เล่าตั๊ง" หมายถึงท่านผู้อาวุโส แซ่ตั้ง ซึ่งก็คือร้านที่ "โกตี่" จะแนะนำครั้งนี้แหละครับร้านนี้แปลกครับ ไม่มีป้ายติดหน้าร้าน แต่ลูกค้าเก่าแก่ของย่านเยาวราช จะเรียกร้านข้าวต้มกุ๊ย ร้านนี้ จนติดปากว่า "ร้านเหล่าตั๊ง" เพราะในอดีตร้านนี้มีเถ้าชิ้ว ชื่อ เหล่าตั้ง ต่อมาเมื่อเหล่าตั้ง แกลามือจากวงการไป ลูกชายของแกก็ขึ้นมาทำหน้าที่ เป็นเถ้าชิ้วแทน และ แยกตัวเองออกมาตั้งร้านใหม่ อยู่ตรงกันข้ามกับร้านเหล่าดั้งเดิม แล้วนำ ชื่อของพ่อ มาเขียนขึ้นป้ายติดหน้าร้านว่า "เหล่าตั้ง" ร้านนี้จึงเป็นร้านที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร้านดั้งเดิม ที่แนะนำ คุณผู้อ่านอย่าสับสน เดี๋ยวจะไปนั่งร้านผิด เวลาไปทานให้เข้าไปนั่ง ร้านที่ไม่มีป้ายก็แล้วกัน รับรองว่าเข้าร้านถูก การเดินทาง ร้านนี้หาไม่ยากครับ หากเริ่มต้นที่ประตูวัฒนธรรม เข้าสู่ถนนเยาวราช ขับรถผ่านหน้า โรงพยาบาล เทียนฟ้า ผ่านหน้า โรงแรมเอ็มไพร์ ให้ชิดซ้ายไว้ ข้างหน้าจะเห็นสี่แยกไฟแดง หรือที่เรียกกันว่า"แยกเจ็ดชั้น" หรือ "แยกเฉลิมบุรี" ให้ขับรถเลย สี่แยกนี้ไปประมาณ 10 เมตร ซ้ายมือจะเห็นตรอกคนเดิน ให้หาที่จอดรถ แล้วเดินเข้าตรอกนี้แหละครับ เดินไปจนสุดตรอกประมาณ 20 กว่าเมตร จะเห็นคนนั่งกินเรียงรายเต็มไปหมด หรือหากใครยังหาที่จอดรถไม่ได้ ให้ขับรถมาเรื่อย ๆ ผ่านตรอกนี้ไปประมาณ 20 เมตร จะพบแยกเมืองทอง ซึ่งรถเลี้ยวเข้าไปไม่ได้ ให้ขับเลยมาเข้าซอยถัดไป คือ ซอย เทียนกัวเทียน หรือ ซอย เยาวพาณิชย์ พอเข้า ซอยมาแล้วให้ขับเลี้ยวซ้ายเข้าถนน พาดสาย ขับตรงมาเรื่อย ๆ ก็จะเจอร้าน "โกตี่"บอกว่า พอเดินเข้าไปถึงหน้าร้านเท่านั้นแหละครับ จะเห็นกับข้าวตั้งอยู่เรียงรายไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด แต่ละชนิดล้วน แล้วแต่อร่อยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผัดใบปอ โรยกระเทียมเจียวรสกลมกล่อม ไม่เค็มหรือขมจนเกินไป ต้มจับฉ่าย คากิต้มเปื่อย ผัดปลาฉลาม ผัดเป็ดสับ ผัดกระเพาะปลา หอยเค็ม ปลานึ่ง ปลาทอด ผัดผักต่าง ๆ เกือบทุกชนิด รวมทั้งเป็ดพะโล้ หมูต้ม สรุปแล้วมีอาหารเอร็ดอร่อยหลายอย่างครับ แต่ที่ "โกตี่" บอกว่าเด็ดสุดของร้านนี้ไปแล้วต้องสั่งคือ หมูเค็มทอด เพราะเวลาทานกับข้าวต้มร้อน ๆ อร่อยอย่างบอกใคร ร้านนี้มีแต่ข้าวต้มนะครับ ไม่มีข้าวสวย เพราะเจ้าของร้านยังคงความดั้งเดิม ของร้านข้าวต้มแต่โบราณไว้ที่มีขายเพียงข้าวต้ม เปิดขาย 2 รอบครับ รอบเช้าหนุ่มจีนผิวขาวหน้าตี๋ เป็นคนตักกับข้าวหรือกับแกล้ม ส่วนรอบบ่าย เจ๊ผู้หญิงเข้าเวรตักขายไปจนถึงกลางคืนประมาณ 4 ทุ่ม ใครหิวข้าวแล้วเชิญนะครับ หรือจะทานกับแกล้มอร่อย ๆ นั่งดูบรรยากาศของเยาวราชไปด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย วันนี้ผม พัลลภ สุภัคสถาพรพันธุ์ ผู้เรียบเรียงและ"โกตี่"ขอลาไปก่อนครับ ไว้พบกับความอร่อยแบบกินแล้วต้องคิดถึงแม่ต่อไปในคราวหน้า ทีมงานวันว่าง ท่านผู้อ่านมีคำแนะนำหรือติชมหรือคุยกับทีมงานวันว่างได้ที่ leisure@th.mweb.com
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook