ล่องเรือชมบ้านย้อนยุค ริมคุ้งน้ำเจ้าพระยา

ล่องเรือชมบ้านย้อนยุค ริมคุ้งน้ำเจ้าพระยา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ล่องเรือชมบ้านย้อนยุค ริมคุ้งน้ำเจ้าพระยา โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤศจิกายน 2547
มัสยิดบางอ้อ
บ้านขุนด่ำ
วังบางขุนพรหม
บ้านบางยี่ขัน
บ้านหวั่งหลี
แบงก์สยามกัมมาจล
สถานทูตโปรตุเกส
ศุลกสถาน
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แลนด์ แอนด์ เฮาส์ถือโอกาสพาลูกค้าระดับโลว์โปรไฟล์ ไฮโปรฟิต ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา พาชมทัศนียภาพสถาปัตยกรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแรงบันดาลใจก่อให้เกิดโครงการบ้านริมน้ำ ลดาวัลย์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้นำรูปแบบเรือนคหบดีย่านถนนเจริญกรุง และสาทรมาประยุกต์ใช้กับบ้านในปัจจุบัน อาทิ หลังคาทรงมะนิลา งานปูนปั้นประดับตามกรอบหน้าต่าง รวมถึงราวระเบียงโดยรอบแบบระเบียงไม้ เป็นต้น เมื่อแดดลมลมตกถือเป็นสัญญานของการเริ่มต้นล่องเจ้าพระยา ทริปนี้มีจุดนำชม 11 จุด ซึ่งล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอดีตยาวนาน และถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ มาเริ่มกันที่ มัสยิดบางอ้อ อาคารชั้นเดียวที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก โดดเด่นตรงเรือนไม้สักที่ฉลุลวดลายประณีตเรียกว่า เรือนขนมปัง ซึ่งความละเอียดของลายยังบ่งบอกถึงฐานะของเจ้าบ้านอีกด้วย ต่อมาเป็น บ้านขุนด่ำ หรือที่ผู้เฒ่าผู้แก่เรียกว่า บ้านเขียวมีขุนโยธาสมุทร (อาดัมหรือต่ำ โยธาสมุทร) เป็นเจ้าของบ้าน เดิมทีบริเวณหน้าบ้านทั้งซ้ายขวามีบันไดขึ้นชั้นบนโดดเด่นด้วยลายฉลุแบบขนมปังขิง บ่งบอกถึงความเชื่อตามยุคสมัยของคนโบราณที่ไม่นิยมสร้างบันไดไว้ในบ้านเนื่องจากถือเป็นอัปมงคล แต่ภายหลังได้ย้ายบันไดดังกล่าวไปประดับไว้ภายในบ้าน จากนั้นเป็น วังบางขุนพรหม อาคารที่ก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างเรอแนสซองส์ กับ บาโรก ส่วนลวดลายประดับเป็นแบบโรโคโค ออกแบบโดย ดร. คาร์ล ซิกฟรีด เดอริง สถาปนิกชาวเยอรมันผู้ออกแบบพระราชวังบ้านปืน จ.เพชรบุรี ก่อนที่จะกลายเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยดังเช่นปัจจุบัน ในอดีตวังแห่งนี้เคยเป็นที่ทำการสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 หรือช่อง 9 อ.ส.ม.ท. นั่นเอง บ้านบางยี่ขัน เป็นอาคารหลังต่อมาโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ต่อต้นรัชกาลที โดยมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์อาทิเช่น ตัวตึกเป็นคอนกรีต 2 ชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับแม่น้ำ ชั้นล่างทำเป็นช่องซุ้มโค้งแบบตะวันตกหลายช่อง ส่วนช่องลมประดับกระจกสีเป็นแฉกรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง เป็นต้น เดิมทีเป็นบ้านของอำมาตย์เอกพระยาชลภูมิพานิช (ไคตั๊ค) ขุนนางไทยเชื้อสายจีนส่วนภรรยาเป็นอดีตข้าหลวงของพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 5 พักใหญ่จึงมาถึง บ้านหวั่งหลี เดิมทีเป็นท่าเรือกลไฟ หรือ ฮวยจุ่งโล้งของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ก่อนขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ตัวอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ประกอบด้วยอาคารสำคัญสามหลังโดยมีตึกตรงกลางเป็นเรือนประธานหันหน้าออกแม่น้ำ คือ ศาลเจ้าแม่หมาโจ้ว มีตึกแถวสองชั้น เพดานสูงทำหลังคาแบบจีนสร้างขนาบ 2 ข้าง ส่วนเนื้อที่ตรงกลางเป็นลานโล่งแจ้ง ปัจจุบันใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมของตระกูลในวันสำคัญตามประเพณีจีน ต่อด้วยสถาบันการเงินแห่งแรกของไทย แบงก์สยามกัมมาจล หรือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อยในปัจจุบัน เป็นอาคารแบบบาโรกอิตาเลียนที่งดงามและสมบูรณ์แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ถัดมาเป็นสถานฑูตของชาติตะวันตกที่เก่าแก่สุดในกรุงเทพฯ สำหรับ สถานทูตโปรตุเกส ที่ยังคงความสวยงามอันสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้ มิช้านานจึงมาถึง ศุลกสถาน หรือโรงภาษี ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นศุลกสถานที่งดงามแห่งหนึ่งโดยมีนายช่างชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ สมัยก่อนชาวบ้านมักเรียกว่า โรงภาษีร้อยชักสามเป็นด่านศุลกากรที่พ่อค้าชาวต่างชาติต้องเข้ามาติดต่อถือเป็นปากประตูสุดแดนพระนคร ปัจจุบันเป็นสถานีดับเพลิงบางรัก และสถานีตำรวจน้ำบางรัก เรื่อยมาถึง สถานทูตฝรั่งเศส อาคารนี้สันนิษฐานว่าสร้างโดยช่างชาวอิตาเลียน ตัวอาคารยกพื้นล่างไม่สูงมากมีระเบียงด้านหน้า อุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนได้รับอิทธิพลจากอิตาลี "บมจ.อีสต์เอเชียติค" เริ่มดำเนินกิจการสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของไทย พร้อมนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาค้าขายด้วย เดิมสำนักงานตั้งอยู่ข้างโรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ลักษณะเด่น คือ กรอบประตูหน้าต่างเป็นซุ้มโค้ง ผนังเหนือกรอบประตูหน้าต่าง ประดับด้วยปูนปั้นปัจจุบันอาคารหลังนี้ปิดทิ้งไว้ เพราะย้ายสำนักงานไปย่านคลองเตย ทริปนี้เรียกได้ว่าหวังสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกบ้าน เพราะแรงบันดาลใจในโครงการนี้ขึ้นชื่อว่ารวมผลงานสถาปัตยกรรมย้อนยุคจากริมเจ้าพระยามาไว้ ทำเอาบรรดาลูกบ้านหลายท่าน ยิ้มแก้มปริ หัวใจพองโต สุดแสนปลื้มใจเป็นทิวแถวทีเดียว!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook