ซอกแซกย่านขุนนาง ที่ คลงบางหลวง

ซอกแซกย่านขุนนาง ที่ คลงบางหลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ซอกแซกย่านขุนนาง ที่ คลองบางหลวง
โดย ผู้จัดการออนไลน์
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง ...คลองบางหลวงในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก ออกจะเป็นคลองบรรดาศักดิ์สักหน่อย ทั้งนี้เพราะตลอดสองฝั่งคลองมีบ้านใหญ่ บริเวณกว้างขวางสะอาด เป็นบ้านขุนนางข้าราชการหรือไม่ก็ผู้มีฐานะดี หลังบ้านมีสวนผลไม้ตั้งอยู่เป็นระยะๆ ไปตลอดจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านเล็กเรือนน้อยมีน้อยจนแทบไม่มีเลยก็ว่าได้... เมื่อเร็วๆนี้ ฉันได้ไปขุดกรุหนังสือเก่าหยิบเอาเรื่อง เด็กคลองบางหลวง ของ กาญจนาคพันธุ์ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา ที่เคยอ่านสมัยวัยโจ๋มาอ่านแล้วก็เกิดติดใจกับเนื้อความในช่วงที่กล่าวมาข้างต้น ที่ฉันติดใจก็เพราะว่ามันช่างคล้ายกับบรรยากาศของบ้านฉันในสมัยเข้ากรุงใหม่ๆ ที่มีทั้งแม่น้ำลำคลอง สวนผลไม้ร่มรื่น บ้านไม้เรือนไทยที่แม้ว่าจะไม่ไฮโซเท่า แต่เรื่องพื้นที่กว้างขวางนั้นฉันว่าแถวบ้านฉันเหนือกว่า โดยเฉพาะแถวบ้านคุณอากำนัน เมื่ออ่านเจอเนื้อความใจก็ถามถึง คลองบางหลวงขึ้นมาทันทีว่าพวกบ้านเก่าของบรรดาขุนนางแห่งเมืองกรุงในยุคนี้ พ.ศ.นี้ จะเปลี๊ยนไป๋เหมือนแถวบ้านฉันไหมหนอ ว่าแล้วก็ไม่รอช้าไปค้นหาข้อมูลจนรู้ว่า คลองบางหลวง หรือที่บางคนเรียกว่าคลองบางกอกใหญ่ ก็คือลำคลองที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงช่วงระหว่างป้อมวิไชยประสิทธิ์และวัดอรุณราชวรารามนั่นเอง เมื่อรู้ตำแหน่งที่ตั้งแล้ว ฉันรีบพาตัวเองมาสำรวจหาบ้านขุนนางในคลองบางหลวงนี้ทันที

บ้านพระฤชาประมวล ที่เก่าแก่ไปตามกาลเวลา

จริงๆ แล้วบ้านของขุนนางในอดีตนั้นก็จะตั้งเรียงรายอยู่ริมคลองบางหลวงทั้งสองฝั่ง แต่วันนี้ฉันเลือกเดินสำรวจเพียงฝั่งเดียว คือฝั่งซอยอิสรภาพ 28 ติดกับสะพานเจริญพาศน์ หน้าปากซอยสังเกตได้ง่ายเพราะมีกุฎีเจริญพาศน์ตั้งอยู่ข้างหน้า เมื่อย่างเท้าเข้าไปในซอย ก็ถือว่าได้เหยียบย่างเข้าสู่ย่านขุนนางแล้ว ซึ่งหากไม่ทราบถึงเรื่องราวในอดีต ฉันก็คงจะมองบรรดาบ้านเรือนและตึกแถวในซอยแห่งนี้อย่างธรรมดาๆ แต่ครั้นเมื่อทราบถึงที่มาแล้ว ฉันก็สอดส่ายสายตามองหาบ้านที่ดูจะเข้าเค้าว่าเป็นบ้านขุนนาง เมื่อเดินเข้าไปถึงประมาณกึ่งกลางซอย ก็เห็นบ้านหลังหนึ่ง กำแพงสูงใหญ่ ต้นไม้ร่มครึ้ม มองเห็นตัวบ้านเพียงชั้นบนและหลังคาบ้านเท่านั้น ฮะ แฮ่ม... เห็นบ้านลักษณะนี้เดาได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นบ้านของขุนนางเก่าแน่นอน ซึ่งเมื่อถามไถ่คนแถวนั้นก็ได้ความว่าบ้านหลังนี้คือบ้านของ พระยาอาหารบริรักษ์ (ทิน ศิริสัมพันธ์) ข้าราชการกรมนาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งยังเป็นต้นสกุลชูโต ที่ในช่วงหลังๆ คนจะรู้จักบ้านนี้ในชื่อของบ้านคุณหญิงเนื่อง ชูโต แล้วฉันยังรู้มาว่า คุณไข่มุกต์ ชูโต ซึ่งเป็นข้าราชบริพารของสมเด็จพระราชินีก็ยังเคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังอีกด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีใครอาศัยอยู่แล้ว มีแต่เพียงคนเฝ้าเท่านั้น ส่วนบ้านอีกหลังที่อยู่ใกล้ๆกันเป็นบ้านของ ขุนอินทร์ไอยสวรรค์ (ผล ภูมิรัตน) ที่บรรพบุรุษของท่านคือพระมหาราชครูศิริวัฒนพราหมณ์ สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์เทศ ประเทศอินเดีย ในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยา และชาวบ้านจะเรียกบ้านนี้ว่า บ้านช่างทอง เพราะลูกหลานในสกุลนี้เป็นสกุลช่างทองที่ต่างก็รับใช้งานในวังมายาวนาน
แต่ว่าบ้านหลังนี้วันที่ฉันไปก็ดูเงียบเหงาเหมือนไม่มีคนอยู่ ฉันจึงเลือกเดินไปยังตรอกเล็กๆ ทางซ้ายมือ ที่อยู่ตรงข้ามกับบ้านของขุนอินทร์ฯ แล้วก็ไปเจ๊อะเจอกับบ้านของ พระฤชาประมวญ (สวาทดิ์ สายบัว) ที่เป็นขุนนางที่รับผิดชอบทางด้านกฎหมายในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 6 หรือที่คนแถบนี้รู้จักกันดีในชื่อ บ้านหมอสำราญ และ ตรอกหมอสำราญ ซึ่งหมอสำราญก็คือสะใภ้ของพระฤชาประมวญ และมีความสำคัญต่อชาวบ้านในแถบนี้มาก เนื่องจากว่าเป็นผู้ที่คอยทำคลอด หรือเป็น หมอตำแย คอยช่วยเหลือชาวบ้านในขณะที่การแพทย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน และฉันก็ได้ทราบมาว่า หมอสำราญนั้นยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนพยาบาลกับสมเด็จย่าอีกด้วย หลังจากที่ไปด้อมๆ มองๆ ที่บ้านของพระฤชาประมวลนี้จนกลัวว่าจะถูกสงสัยว่าเป็นขโมยแล้ว ฉันก็โชคดีได้มีโอกาสพูดคุยกับทายาทของพระฤชาประมวญถึงสองคน คือคุณลุง โกมล ผลาสินธุ์ อายุ 77 ปี ซึ่งเป็นหลานตาแท้ๆ ของพระฤชาประมวล แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเมื่อลุงโกมลเกิดมาไดาจะออกตัวว่าจำเรื่องราวเก่าๆ ไม่ค่อยได้แล้ว แต่ลุงโกมลก็เล่าถึงเมื่อสมัยยังเด็กๆ ว่าก็ยังว่ายน้ำเกาะเรือพ่วงเล่นอยู่ในคลองบางหลวง ยังวิ่งเข้าวิ่งออกตามบ้านต่างๆ เช่นบ้านของขุนอินทร์ฯ ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับตรอกหมอสำราญ ก็ยังเปิดให้เด็กๆ เข้าได้ ส่วนทายาทอีกคนหนึ่งคือ ธนพร เทหะจรรยา หรือพี่จิ๋ม ซึ่งเป็นหลานยายของหมอสำราญและอยู่ที่นี่มา 20 กว่าปีแล้ว พี่จิ๋มเล่าให้ฟังว่าบ้านหลังนี้มีอายุกว่า 150 ปีแล้วและเป็นบ้านหลังแรกๆ ที่สร้างขึ้นในละแวกนี้ ซึ่งขณะนี้ลูกหลานก็ยังคงอยู่อาศัยรวมกัน ยังเป็นมรดกตกทอดกันมา ปัจจุบันก็เป็นรุ่นที่ 7 แล้ว เมื่อสมัยที่หมอสำราญอยู่ที่บ้านนี้ ชั้นล่างของบ้านก็เคยเป็นห้องทำคลอดมาก่อน |ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าในซอยอิสรภาพ 28 นี้ เคยเป็นย่านขุนนางมาก่อน
คุณลุงโกมล ผลาสินธุ์ หลานตาของพระฤชาประมวล
เมื่อก่อนแถวนี้จะสวยมาก น้ำยังใส มีเรือพายเรือขายของเข้ามา บ้านแถวนี้ก็ยังสวย แต่มาถึงตอนนี้ก็ไม่เหลือของเก่าแล้ว พี่จิ๋ม บอก นอกจากนี้ที่คลองบางหลวง ก็ยังมีบ้านขุนนางคนอื่นๆอีก อย่างเช่น บ้านของ สับน้อย หรือ พระยากสิภูมิ บ้านของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี บ้านพระยาชลมารคฯ บ้านหลวงฤทธิณรงค์รอน บ้านพระยาราชานุประพันธ์ ฯลฯ ซึ่งบ้านเรือบางหลังก็ยังคงสภาพดีอยู่ ส่วนบางหลังก็ผุพังไปตามกาลเวลา อ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในย่านคลองบางหลวงนี้มีดีอะไร เหตุใดบรรดาขุนนางจึงมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันมาก คำตอบข้อหนึ่งที่ฉันรู้ก็คือ เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่กรุงธนบุรี พร้อมทั้งอพยพผู้คนมาด้วย ดังนั้นเหล่าบรรดาขุนนางที่ติดตามพระเจ้าตากสินมาก็มาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้กับพระราชวังด้วย ส่วนเหตุผลอีกข้อที่ กาญจนาคพันธุ์ บอกไว้ในหนังสือ เด็กคลองบางหลวงก็คือ ฝั่งธนบุรีนั้น เป็นพื้นที่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ กว่าฝั่งกรุงเทพฯ (ในยุคนั้น) ที่เป็นทะเลตม และที่ลุ่มต่ำ มีแต่ท้องทุ่ง เช่น ทุ่งพระเมรุ ทุ่งพญาไท ดังนั้น ผู้คนที่มีฐานะจึงตั้งบ้านเรือนและสวนผลไม้ดีๆ อยู่ทางฝั่งธนบุรีกันหมด และแม้จะย้ายกรุงมาอยู่ทางฝั่งกรุงเทพฯแล้ว แต่เหล่าขุนนางและข้าราชการก็ยังคงตั้งรกรากอยู่ที่เดิม มิได้ย้ายตามมาด้วย และถึงแม้ว่าในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯจะเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปอย่างลิบลับ แต่ที่คลองบางหลวงนี้ยังคงมีกลิ่นอายของย่านขุนนางให้เห็นกันอยู่ ซึ่งหลังจากฉันไปซอกแซกที่คลองบางหลวงแล้วก็อดคิดถึงบ้านนอกที่ฉันอยู่ไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าจะเปลี๊ยนไป๋ขนาดไหน แต่ว่าดูยังไงๆก็น่าอยู่กว่าเมืองกรุงอยู่ดี ขอบคุณอาจารย์ทำเนียบ แสงเงิน สำหรับข้อมูลเรื่องบ้านขุนนางในคลองบางหลวง

content by ติดตามอ่านข่าวทั้งหมดได้ที่นี่ี่ี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook