สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พื้นที่หย่อนใจ ชมผืนน้ำ ผืนฟ้าของเมืองกรุงฯ

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พื้นที่หย่อนใจ ชมผืนน้ำ ผืนฟ้าของเมืองกรุงฯ

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พื้นที่หย่อนใจ ชมผืนน้ำ ผืนฟ้าของเมืองกรุงฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากนึกถึงสวนสาธารณะที่ทำให้เราสัมผัสกับบรรยากาศของผืนฟ้ากรุงเทพฯ และผืนน้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มๆ ตา คงต้องยกให้สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่เป็นทั้งสวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว จุดชมวิวเมืองกรุงฯ และเป็นจุดแลนด์มาร์กชมวิว 360 องศาเหนือแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องมาสัมผัสกันสักครั้ง

สวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของไทย

เดิมพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นโครงสร้างของรางรถไฟฟ้าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยที่คนกรุงเทพฯ มีข่าวดีว่าจะมีโครงการรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยชื่อรถไฟฟ้าลาวาลิน แต่แล้วความฝันของคนเมืองก็ต้องดับลง เพราะโครงการที่ดำเนินอยู่ไปต่อไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างทำให้ต้องหยุดชะงักลง ด้วยโครงสร้างของสะพานที่สร้างไม่เสร็จ จึงถูกเรียกขานตามภาพที่ผู้คนมองเห็นว่า “สะพานด้วน”

จากสะพานด้วนที่ถูกทิ้งร้างต่อมาทางกรุงเทพมหานครมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางของสะพานพระปกเกล้าให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางสัญจรฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกัน

โดยสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเป็นโครงการยุทธศาสตร์ของโครงการกรุงเทพฯ 250 ที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จ ด้วยเล็งเห็นประโยชน์จากการเชื่อมต่อโครงข่ายการสัญจรโดยเท้าและจักรยาน การสร้างจุดชมวิวแห่งใหม่ของเมือง เป็นการส่งเสริมความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตชาวเมือง ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในย่านประวัติศาสตร์ฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี ซึ่งมีมากกว่า 200 แห่ง 

สำหรับความยากในการออกแบบสวนสาธารณะแห่งนี้ ด้วยโครงสร้างเดิมถูกสร้างมาสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ข้อจำกัดอย่างแรกคือ ตำแหน่งของโครงการอยู่ระหว่างทางรถวิ่ง เป็นถนน 3 ช่องทางทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ทางเดินข้ามสะพานนี้ค่อนข้างแคบ แต่ก็ยังมีข้อดีคือตำแหน่งของโครงการที่แม้ว่าจะถูกแนวจราจรบนสะพานพระปกเกล้าบังอยู่ก็ยังสามารถมองเห็นทั้งสถานที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นสะพานพระพุทธยอดฟ้า, พระปรางค์วัดอรุณ, พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสฯ, วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน, ไปรษณียาคาร, ยอดพิมาน, ไอคอนสยาม และสามารถมองไกลไปได้ถึงตึกสูงๆ ย่านสามย่านอีกด้วย

ไฮไลต์สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา 

เป็นที่เดินเล่นชมวิวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกกำลังกายริมน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่การออกแบบทางเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีราวกันตกสูง 2-3 เมตร พร้อมลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ บรรยากาศด้านบนมีการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด มีพื้นที่สีเขียวตลอดทางเดิน โดยเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ และพันธุ์ไม้อื่นๆ อีกหลายชนิดเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ให้กับเมือง อีกทั้งพืชบนสวนลอยฟ้ายังมีประโยชน์ต่อแมลงและระบบนิเวศโดยรวมอีกด้วย

เป็นจุดชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบ 360 องศา โดยแบ่งจุดชมวิวออกเป็น 3 จุด ประกอบด้วยลานอรุณรุ่ง ลานใจเจ้าพระยา และลานตะวันรอน เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครที่มีชีวิตชีวา และมีความหมายต่อเมืองเก่าสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ทางเดินบนสวนลอยฟ้า เมื่อสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาได้เชื่อมต่อการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร และเชื่อมพื้นที่และส่งเสริมภูมิทัศน์บริเวณชุมชนกุฎีจีนถึงย่านคลองสาน เชื่อมสวนป่ากรุงเทพมหานครพระปกเกล้า สะพานเข้าสวนพระปกเกล้า เขตพระนคร เรื่อยมาจนถึงบริเวณคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์และเขตอื่นๆ ทำให้เราสามารถเดินไปยังจุดอื่นๆ ในระยะใกล้ได้เช่นกัน เช่น ไปรษณียาคาร สะพานพระพุทธยอดฟ้า วัดประยุรวงศาวาส วัดซางตาครู้ส และชุมชนกุฎีจีน

ถึงแม้พื้นที่ส่วนนี้จะถูกออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กๆ ในค่ำคืนเคานต์ดาวน์ หรือในงานวาระสำคัญต่างๆ ที่ผ่านมา จุดนี้ก็ยังเป็นสถานที่ชมพลุวันขึ้นปีใหม่ในกรุงเทพฯ ที่สวยงามไม่แพ้ที่ไหนเลย

การเดินทางไปสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สามารถใช้รถโดยสารประจำทางมาลงที่สะพานพุทธฯ มีตั้งแต่ สาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก และ 82 ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยามาขึ้นที่ท่าสะพานพุทธฯ หรือใช้รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (MRT) สถานีสนามไชย ทางออก 4 แล้วเดินเท้าต่อในระยะทางประมาณ 800 เมตรเท่านั้น

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ช่องกลางสะพานพระปกเกล้า ถนนพระปกเกล้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดให้บริการ 05.00-20.00 น.

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พื้นที่หย่อนใจ ชมผืนน้ำ ผืนฟ้าของเมืองกรุงฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook