Awakening Khonkaen ครั้งแรกของเทศกาลแสงไฟในเมืองอีสาน
เก็บบรรยากาศมาฝากทุกคนแล้ว สำหรับเทศกาลไฟ Awakening Khonkaen ครั้งแรกในอีสาน จัดขึ้นพร้อมความม่วนในจังหวัดขอนแก่นที่มีจุดแสดงงานถึง 14 จุด 27 ผลงานมาร่วมต่อช่วงเวลาคึกคักยามค่ำคืนในย่านเก่าแก่อย่างถนนศรีจันทร์ สำหรับศิลปินที่มาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้มีทั้งศิลปินจากกรุงเทพฯ ที่ได้ร่วมเดินทางกับ Awakening มาหลายครั้งและที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือศิลปินจากภาคอีสานที่ได้มาปล่อยไอเดียและความสนุกร่วมบอกเล่าวัฒนธรรมคนอีสานในผลงานสมัยใหม่ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของตนเอง ใต้คอนเซปต์ร่วมของงานที่ชื่อว่า “Esan Spectum สาน สี มี แสง” ให้ผู้ร่วมงานได้ลัดเลาะเดินทางตามแผนที่ไปจอยความม่วนในแต่ละจุดกัน จัดแสดงแล้ววันนี้ – 10 กรกฎาคม พ.ศ.2565 และแน่นอนว่า Sarakadee Lite เก็บไฮไลต์ของงานครั้งนี้มาฝากทุกคนแล้ว ตามมาได้เลย
ไต้…เดือนหงาย
ศิลปิน : วิมลวรรณ วิชัยคำจร และ รักษิณา นามษร
สถานที่ : 1502 Srichan Creative Sharing Space
บริเวณชั้น 3 ของอาคาร 1502 Srichan Creative Sharing Space ถูกจำลองด้วยบรรยากาศคืนเดือนหงายที่มีแสงจันทร์ส่องสว่าง ฉะนั้นทั้งหมดของบริเวณจึงถูกย้อมด้วยสีของหลอดไฟโซเดียมความดันต่ำ (Low Pressure Sodium Lamp) ที่ให้แสงสีเหลืองตัวแทนแสงของดวงจันทร์ ส่วนบริเวณพื้นจำลองภาพธรรมชาติถิ่นอาศัยของสัตว์และแมลงโดยเลือกพืชกินได้ เช่น ผักแพว ผักแกล้มที่นิยมของภาคอีสาน มาจับคู่กับดอกไม้ เช่น ดอกกระเจียว ดอกบานไม่รู้โรย ดอก For Get Me Not โดยพืชพรรณเหล่านี้เราจะมองเห็นเป็นสีขาวดำเหมือนสายตาที่เรามองในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงไฟ
ที่สนุกคือท่ามกลางธรรมชาติเหล่านั้น สองศิลปินชาวจังหวัดมหาสารคามได้ซ่อนลูกบอลที่ภายในมี Aduino nano board หรือตัวรับส่งสัญญาณเอาไว้ เมื่อเราเล่นกับผลงานโดยเอาไฟฉายเล็กสำหรับส่องกบไปส่องที่ลูกบอลก็จะเกิดเสียงกบเสียงแมลง ด้วยศิลปินต้องการสื่อสารถึงวิถีการกินอยู่ของคนอีสาน โดยการจำลองประสบการณ์การหากบหาเขียดในค่ำคืนเดือนหงายขึ้นมา เหมือนเราได้มีส่วนร่วมในประสบการณ์นั้นเองจริงๆ
Time Hopper
ศิลปิน : บุณยาพร ยาสา
สถานที่ : Ozone Village
ผลงานที่เล่นกับแสงของช่วงเวลา ศิลปินต้องการสร้างสรรค์ให้ผลงานชิ้นนี้สามารถมองได้หลายมุมตั้งแต่เดินเข้าไปในห้องจัดแสดงก็จะเห็นเป็นภาพหนึ่งคือกักฟิล์ม แต่เมื่ออยู่กลางห้องก็จะมองเห็นภาพรวมเป็นรูปนาฬิกา และผู้ชมจะได้เห็นแสงเงาที่สะท้อนผนังหมุนเวียนต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เป็นการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้กับผู้ชมแบบไม่ซ้ำ ความน่าสนใจคืองานนี้ศิลปินตั้งใจให้ภาพที่ถูกถ่ายออกไปมีลักษณะเหมือนถ่ายด้วยฟิล์มถ่ายภาพที่มีองค์ประกอบสำคัญคือแสงและเวลา
Khonkaen Kaleidoscope
ศิลปิน : นิชากร และสุทธมน เฮงรัศมี
สถานที่ : บริเวณด้านบนทางเข้าที่จอดรถ อาคาร Khonkaen Innovation Center
อีกหนึ่งชิ้นงานที่รวบรวมเอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่นเอาไว้ด้วยกัน แต่สื่อสารออกมาในอีกหนึ่งมุมมอง นิชากรและสุทธมนเลือกฉายภาพ Projection Mapping แนว Kaleidoscope หรือ ภาพลานตาจากกล้องสลับลาย เพื่อต้องการนำเสนอมุมมองใหม่ต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างมีสีสัน ตั้งแต่กระติ๊บข้าวเหนียว ประตูเมืองหรือภาพจิตรกรรมฮูปแต้มที่มีชื่อเสียงของแดนอีสานจะถูกฉายอยู่เต็มผนังด้านบนทางเข้าลานจอดรถ จุดนี้สามารถมองเห็นจากฝั่งตรงข้ามได้แบบเต็มๆ ตา เสริมด้วยดนตรีแนว Funky Disco ที่มีกลิ่นอายของเสียงแคนเพื่อสร้างบรรยากาศ
KOON x KOON (คูณ คูณ คูณ)
ศิลปิน : ปิยะฉัตร ศรีบุญลือ นิชากร เฮงรัศมีและ ธปนนท์ ธีรศาสตร์
สถานที่ : รักอัน คอฟฟี่
จากชื่อผลงานก็คงเป็นอะไรอีกไม่ได้นอกจาก ดอกคูณหรือดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่นที่กำลังบานสะพรั่งอยู่บริเวณหน้าร้านรักอัน คอฟฟี่ การจำลองดอกราชพฤกษ์รับหน้าที่โดย ปิยะฉัตร ศรีบุญลือ มือพร็อพชาวขอนแก่นที่นำถุงพลาสติกมาจำลองเป็นช่อดอกคูณที่กำลังเบ่งบานในฤดูร้อน รับกับแสงไฟเรืองแสงโดย นิชากร เฮงรัศมี และเสียงดนตรีประกอบโดย ธปนนท์ ธีรศาสตร์ ที่นำเสียงแคนเอกลักษณ์ของเมืองอีสานมารวมกับดนตรีแบบฮิปฮอปที่ยังคงให้ความรู้สึกถึงเพลงหมอลำที่คุ้นเคย
บาดาล
ศิลปิน : เจ้าแม่นาคี เดอะแก๊งค์
สถานที่ : ชั้น 2 ร้าน Florista.HQ ฮักซ์ มอลล์
แม้ว่าบันไดทางเดินขึ้นจะชัน และทางเข้าจะแอบลึกลับหายากนิดหน่อย แต่เมื่อขึ้นมาที่ชั้น 2 ของร้านดอกไม้ Florista.HQ จากประตูด้านหลังก็บอกเลยว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากความสวยของผลงานที่ใครเห็นรูปก็พูดตามกันว่าต้องไปแล้ว เมื่อได้เจอเจ้าของผลงานก็ยิ่งสนุกเพราะเป็นทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรม สาขาวิชาการออกแบบกราฟิกและมัลติมีเดีย มาร่วมทีมกันสร้างสรรค์ทั้งหมด 7 คน
อรอุมา สีลาโคตร เป็นตัวแทนชาวแก๊งค์บอกเล่าคอนเซปต์ของชิ้นงานให้เราฟังในวันนั้น โดยที่เลือกจำลองเมืองบาดาลและฉายภาพโมชันกราฟิกพญานาคผ่านโปรเจคเตอร์เพราะความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนอีสานมาอย่างยาวนาน จากภาพจะเห็นว่าพญานาคมีสีโฮโลแกรม ส่วนนี้อรอุมากล่าวว่าเพราะจริง ๆ แล้วเราเองก็ไม่รู้ว่าพญานาคมีสีอะไรจึงเลือกสื่อสารออกมาเป็นสีโฮโลแกรมให้มีความทันยุคสมัยมากขึ้นท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างที่จำลองมาให้เหมือนโลกบาดาลจริง ๆ เช่น ความระยิบระยับใต้น้ำและสัตว์น้ำอย่างแมงกระพรุน เห็นแล้วอยากให้มีพื้นที่ศิลปะสำหรับเด็กรุ่นใหม่อีกเยอะ ๆ เลย
Silk ๐.๒
ศิลปิน : ASITNAHC
สถานที่ : ชั้น 3 ร้าน Florista.HQ ฮักซ์ มอลล์
ศิลปะบนผืนผ้าทอเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมในแต่ละภาคของไทยได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันความสนใจต่อสิ่งเหล่านั้นเริ่มห่างหายไป แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล หรือ ASITNAHC หลังจากที่ได้ถ่ายทอดลายทอผ้าไหมของจังหวัดเชียงใหม่ที่จดจำได้ผ่านผลงานใน Awakening ย่านเจริญกรุงครั้งที่ผ่านมา คราวนี้เมื่อมาเยือนอีสานแพรวก็ไม่ลืมที่จะหยิบคอนเซปต์นั้นกลับมาอีกครั้ง ถักทอลายเส้นผ่านโปรแกรมดิจิทัลจนเกิดลวดลายผ้าของภาคอีสานให้กลับมาใกล้ชิดกับคนยุคใหม่ด้วยการถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยี
Element of Khonkaen
ศิลปิน : P-Nut หรือ พีรณัฐ พิมพ์ดี
สถานที่ : กำแพงด้านหน้า Pixel Bar & Gallery
เต็มกำแพงด้านหน้าของ Pixel Bar & Gallery กำลังฉายภาพ 5 เอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่นในรูปแบบที่โมเดิร์นขึ้นด้วยการเลือกใช้สีและรูปแบบกราฟิกโฮโลแกรมและนีออน แบ่งออกเป็นส่วนแรกคือกลิ่นอายหมอลำและเครื่องดนตรีที่นำเสนอผ่านภาพที่เล่นกับสีสันสดใส ต่อด้วยลวดลายผ้าไหมแคนแก่นคูณ ไดโนเสาร์ทีเร็กซ์ งานขอนแก่นมาราธอนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สีสันของไนต์ไลฟ์ในจังหวัดขอนแก่นและปิดท้ายด้วยภาพแลนด์มาร์กอย่างบึงแก่นนครที่มองเห็นพระมหาธาตุแก่นนครอยู่ในภาพเดียวกัน ทั้งหมดนี้ฉายวนลูปราว 5 นาทีแต่บอกเลยว่าดูจนจบก็สามารถดูซ้ำได้อีก และแค่เดินเข้ามาในพื้นที่จัดแสดงก็เพลินแล้วเพราะซาวด์ประกอบส่งเสียงเรียกด้วยดนตรีแนวอีสาน Lo-fi ที่เจ้าของงานแอบบอกว่าจะมีดีเจมาเล่นเพลงประกอบด้วยนะ
Fact File
Awakening Khonkaen จัดขึ้นย่านถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันนี้ – 10 กรกฎาคม พ.ศ.2565
รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Time Out – กรุงเทพฯ
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ