3 เทรนด์ ยุค NEO Tourism ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังโรคระบาด

3 เทรนด์ ยุค NEO Tourism ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังโรคระบาด

3 เทรนด์ ยุค NEO Tourism ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่หลังโรคระบาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลาเกือบ 3 ปี กว่าที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะเริ่มที่จะคงที่ ทว่าอันที่จริงสถานการณ์การระบาดอาจไม่ได้ดีขึ้นขนาดนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมก็ยังคงสูง เพียงแต่เราเริ่มคุ้นชินกับชีวิตแบบที่เป็นอยู่กันมาเกือบ 3 ปีแล้วมากกว่า ท้ายที่สุดเราก็ไม่รู้เลยว่ามันจะมีวันที่ COVID-19 หายไปจากโลกนี้ แบบสิ้นซาก ยุติการแพร่ระบาดไปเลยหรือไม่ ถ้ามีวันนั้นจริงต้องรออีกนานแค่ไหน แต่เท่าที่เรารู้กันตอนนี้ก็มีแค่ว่านาทีนี้ COVID-19 มันอยู่กับพวกเรา

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงในเวลานี้ก็คือ เราควรจะเดินหน้าต่อไปเสียที เพราะเราหยุดนิ่งมานานเกินไปแล้ว ถ้ายังหยุดต่อก็น่าจะเกิดความเสียหายหนักกว่าที่เป็นอยูก็ได้ ดังนั้น เราจึงหันมาใช้วิธีปรับตัวให้อยู่กับโรคระบาดนี้ให้ได้จะดีกว่า แบบที่เราเรียกกันว่า ชีวิต New Normal แต่ถ้าจะมองไปข้างหน้ามากกว่านั้น แค่ New มันอาจจะไม่พอ แต่ต้องเป็น Next แล้ว

ช่วงนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการการรับนักท่องเที่ยว มีการเปิดประเทศเพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถเดินหน้าต่อเป็นปกติเหมือนก่อนที่เราจะได้รู้จักกับ COVID-19 ภายหลังจากที่เราต้องเผชิญกับการปิดประเทศ การล็อกดาวน์ การจำกัดการเดินทาง การเว้นระยะห่างทางสังคม และอีกหลาย ๆ มาตรการ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มา 2 ปีเต็ม

ซึ่งเมื่อการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติในขณะที่สถานการณ์ยังไม่ปกติดีเท่าที่ควร ก็ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็น โดยจะเรียกว่ายุค NEO Tourism ซึ่งเป็นคำนิยามใหม่ของรูปแบบการท่องเที่ยวหลังยุคโรคระบาด ผ่านการถอดบทเรียนจากการที่เราต้องใช้ชีวิตกันท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 มาเกือบ 3 ปี สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น จะก้าวข้ามจาก New Normal ไปสู่ Next Normal หรือเป็นขั้นที่มองข้ามขั้นชีวิตวิถีใหม่ธรรมดา ๆ ไปเป็นชีวิตวิถีถัดไป

NEO Tourism มีแนวโน้มอย่างไร

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดทำรายงานแนวทางการพลิกธุรกิจการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จากข้อมูลงานวิจัย “NEO TOURISM ท่องเที่ยวมิติใหม่ เจาะอินไซต์นักเดินทาง” ซึ่งพบว่าท่องเที่ยวไทยไม่อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป และปี 2565 นี้ นับเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ที่ต้องปรับตัวให้ทัน

สำหรับการท่องเที่ยวในยุค NEO Tourism จะให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ (Young Neo Traveler) อายุ 18-35 ปี ยังไม่มีบุตร โดยจะเป็นกลุ่มแรกที่มีพฤติกรรมการเที่ยวที่เปลี่ยนไป และกลุ่มครอบครัว (Family Neo Traveler) อายุ 27-45 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่มีบุตรแล้ว และเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน มักมีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

การท่องเที่ยวในยุค NEO Tourism นี้ จะเป็นการท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคเน้นออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ โดยจะยังให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ต้องมีความยืดหยุ่นในการให้บริการการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย

Nature Seeking ตามหาธรรมชาติ 

สาเหตุง่าย ๆ ที่เข้าใจได้ก็คือ “การล็อกดาวน์” ที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่แต่บ้าน จะออกไปไหนก็ไม่ได้เพราะถูกสั่งปิดหมด เกิดเป็นความเครียดและเบื่อหน่าย อย่างไรก็ดี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ กลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวอยากไป อยากกลับไปพักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ เปลี่ยนบรรยากาศจากการอยู่บ้านไปไหนไม่ได้เป็นเวลานาน และให้ธรรมชาติช่วยบำบัดความเครียด อีกทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติยังทำให้ผู้คนกังวลเรื่องการติดเชื้อน้อยกว่าด้วย เนื่องจากอากาศปลอดโปร่ง

Hygieneaholic ติดสะอาด

ทุกอย่างค่อย ๆ ทยอยกลับมาเดินหน้าต่อได้ก็จริง แต่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์จริง ๆ ยังไม่ได้คลี่คลายถึงขั้นที่จะเลิกกังวลได้ นักท่องเที่ยวจึงจะยังคงให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดก่อน เลือกสถานที่ท่องเที่ยวหรือที่พักที่มีบริการและมาตรการป้องกันโรคที่ดี จะต้องไม่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อจากการท่องเที่ยว จะทำให้รู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและสร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานการป้องกันโรคได้ดีกว่า

ซึ่งมาตรฐานสุขอนามัยที่ได้ก็ต้องเป็นระดับสากลด้วย เช่น โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA) และเมื่อบุคคลในสถานประกอบการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีสัญลักษณ์ SHA Plus+ ที่ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม

Flexi Needed ต้องการความยืดหยุ่น

ต้องย้ำว่าแม้สถานการณ์ทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ที่เราจะลืมไม่ได้เด็ดขาดก็คือนาทีนี้ COVID-19 ก็ยังอยู่กับเรา เกิดเป็นความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โรคระบาด ดังนั้น การวางแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันจึงมีความสำคัญมาก แผนการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่นจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ดีกว่า ทำให้นักท่องเที่ยวคาดหวังการบริการที่ยืดหยุ่นตามไปด้วย

จากความต้องการนั้น ทำให้นักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนเริ่มมองหาบริการที่มีการประกันความเสี่ยง รวมถึงต้องการทริปที่มีความยืดหยุ่นสูง โดยเฉพาะบริการที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น การยกเลิกที่พักเมื่อมีอาการป่วยกะทันหัน จะได้รับความนิยมมากขึ้น หรือหากมีบริการที่ช่วยเหลือให้นักท่องเที่ยวสามารถปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook