9 พิกัด ศาลเจ้าลับๆ ฉบับเดินตามตรอก ออกเยาวราช-สำเพ็ง

9 พิกัด ศาลเจ้าลับๆ ฉบับเดินตามตรอก ออกเยาวราช-สำเพ็ง

9 พิกัด ศาลเจ้าลับๆ ฉบับเดินตามตรอก ออกเยาวราช-สำเพ็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลเจ้าจีน กระจายอยู่คู่ชุมชนลูกหลานชาวจีนเขตกรุงเทพฯ ร่วมร้อยแห่ง แต่ละศาลเจ้าสร้างขึ้นโดยชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยในยุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในการสร้างชุมชนใหม่ ชาวจีนนิยมสร้าง ศาลเจ้า ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมความเชื่อ ศรัทธา พิธีกรรม โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปะแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มภาษา เช่น จีนฮกเกี้ยน จีนกวางตุ้ง จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ และหากย้อนไปในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ศาลเจ้า มักกระจุกตัวอยู่ในย่านชุมชนชาวจีนสำเพ็ง เยาวราช และตลาดน้อย

ch-shrine-5(1)

ที่ว่าการเกิดขึ้นของ ศาลเจ้า สื่อโดยตรงถึงการเกิดขึ้นของชุมชน เพราะศาลเจ้าผูกพันกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนจีนตั้งแต่เกิดจนตายและหลังความตาย ซึ่งนั่นก็แปลว่าศาลเจ้าไม่จำเป็นต้องใหญ่โต ขอแค่มีการเกิดขึ้นของชุมชนก็ย่อมมีศาลเจ้า เช่นเดียวกับ 9 พิกัด ศาลเจ้าลับๆ ฉบับเดินตามตรอก ออกตามย่านเยาวราชไปจนถึงสำเพ็งที่ Sarakdee Lite คัดสรรมา ออกแบบเป็นเส้นทาง One Day Trip ที่สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้สนุกมาก ที่สำคัญแต่ละแห่งไม่ได้เป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่โด่งดัง หรือมีผู้คนมากราบไหว้หนาแน่น ตรงกันข้ามแต่ละศาลเจ้าอาจจะเล็กๆ แคบๆ ต้องเดินซอกแซกให้หลงเล็กน้อยสมกับเป็น ศาลเจ้าลับๆ แต่การันตี ศาลเจ้าลับๆ เหล่านี้ว่ามีเรื่องเล่าเกร็ดศาลเจ้าที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่โด่งดังอย่างแน่นอน

ch-shrine-4

01 “ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ” ศาลเจ้าลับกลางตรอกหัวเม็ด

ระหว่างสะพานหันถึงถนนจักรวรรดิถูกเรียกว่า ตรอกหัวเม็ด ย่านค้าขายเพชรพลอยที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ส่วนปัจจุบันเพชรพลอยได้ถูกแทนที่ด้วยสารพัดสิ่งของที่ขายกันอย่างแน่นขนัดตั้งแต่ร้านใหญ่ไปจนถึงรถเข็น และความแน่นขนัดของร้านค้าและความคึกคักผู้คนนี่เองที่ได้ซ่อนศาลเจ้าเล็กๆ อย่าง ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ ไว้อย่างมิดชิดจนเรียกได้ว่าถ้าไม่ตั้งใจไปก็อาจจะไม่เจอ

ch-shrine-6

ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ เป็นศาลเจ้าเล็กๆ ทางเข้าแคบๆ แต่การันตีว่าควรค่าแก่การไปเยือน ตัวศาลเจ้ามีแผนผังในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียกว่า ผังกง ตามตัวอักษรจีน พบหลักฐานว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเจาะช่องหน้าต่างทรงกลม กรุด้วยกระเบื้องตามแบบศิลปกรรม “หมิ่นหนาน” ที่ได้รับความนิยมในฮกเกี้ยน แต่ภายหลังก็ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมาจนพบงานศิลปะแต้จิ๋วผสมอยู่อย่างกลมกลืน เช่น การสร้างบ่อเสือและบ่อมังกรตามศิลปะแต้จิ๋วนิยม รวมทั้งยังมีเครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 เป็นกระถางธูปสลักอักษร จปร.ของสำคัญที่อยู่คู่ศาลแห่งนี้มาเนิ่นนาน

ch-shrine-7

ด้านในสุดของศาลประดิษฐาน เทพหลู่ตงปิน แกะสลักจากไม้ มีดาบเป็นสัญลักษณ์เพื่อกำราบสิ่งชั่วร้าย และอีกไฮไลต์ที่ห้ามพลาดชมคืองานแกะสลักไม้ประดับโครงสร้างศาลที่มีสัตว์มงคลต่างๆ ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น แมว ช้าง สิงห์ ม้า เป็นต้น​ (ซอยวานิช 1 ถนนจักรวรรดิ กรุงเพทฯ)

ch-shrine-12

02 “โรงเจบุญสมาคม” โรงเจเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5

“…ถึงกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ว่าได้พิจารณาสืบสวนเรื่องราวจีนอูเม้งกับจีน มีชื่อรวม 5 คนเปนอันได้ความว่า จีน 5 คนที่ยื่นเรื่องราวนี้ จะขอยี่ห้อ สถานที่กินแจริมตรอกพระยาไกร เพื่อเปนเกียรติยศสําหรับให้คน ทั้งหลายทราบทั่วกันว่าที่นั้นเปนที่สําหรับทําการบุญกุศล เจ้าพระยายมราชคิดจะให้ชื่อว่า บุญสมาคม เขาก็ยินดีพอใจนั้น ได้ทราบแล้ว ให้บอก อนุญาตแลให้ชื่อไป…” (สํานักผังเมือง, 2559, น.188)

ch-shrine-10
ch-shrine-9

ข้อความดังกล่าวคือที่มาของชื่อ โรงเจบุญสมาคม โรงเจแห่งแรกในย่านสัมพันธวงศ์ และเป็นโรงเจได้รับพระราชทานป้ายชื่อจากรัชกาลที่ 5 ในคราวที่เปลี่ยนจากชื่อศาลเจ้าตรอกไกร เป็น บุญสมคม ความโดดเด่นของที่นี่ไม่ใช่แค่ป้ายพระราชทานเก่าแก่ ทว่าตัวสถาปัตยกรรมเองก็โดดเด่นด้วยฝีมือช่างชาวจีนยุคเก่าที่ผสมผสานระหว่างช่างแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน โครงสร้างตัวอาคารแม้จะมีการสร้างอาคารใหม่ที่ใหญ่ขึ้นซ้อนทับอาคารหลังเดิม แต่ด้านในยังคงความซับซ้อนของงานแกะสลักไม้สไตล์ฮกเกี้ยนที่เน้นเส้นโค้งและการแกะสลักลวดลายไม้ที่ทับซ้อนหลายชั้น ทั้งยังมีการแกะสลักรูปสัตว์และผลไม้มงคลอยู่บริเวณคานด้านบน ด้านในสุดประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมสีทองอร่ามในกรอบไม้สีทองแกะสลักเรื่องราวเรื่องสามก๊ก วรรณกรรมจีนยอดนิยมในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ch-shrine-11
ch-shrine-8

เดินลอดประตู 8 เหลี่ยมไปทางปีกด้านซ้ายและขวาคือสถานที่เก็บป้ายดวงวิญญาณของบรรพบุรุษชาวจีน เป็นป้ายไม้แบบดั้งเดิมที่เมื่อเลื่อนแผ่นป้ายออกจะพบชื่อและประวัติของแต่ละท่านเขียนไว้ด้านใน และอีกไฮไลต์ที่ห้ามพลาดชมคืองานศิลปะลอยตัวทำจากระเบื้องที่ประดับอยู่ตลอดผนังบริเวณประตูทางเข้า เป็นเรื่องราววิถีชีวิตชาวจีนในอดีต และอุปรากรจีน หรือ งิ้ว ซึ่งที่นี่มีโรงงิ้วเก่าอยู่ในพื้นที่ศาลเจ้าด้วยเช่นกัน (ถนนราชวงศ์ กรุงเทพฯ)

03 “ศาลเจ้าอาเนี้ย” ศาลเจ้าที่ตั้งกระถางธูปกลับด้าน

ch-shrine-14

ศาลเจ้าอาเนี้ย เป็นศาลเจ้าแม่กวนอิมแห่งย่านสำเพ็งที่แม้จะไม่ใหญ่โต เป็น ศาลเจ้าลับๆ ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจเข้าไปไม่ถึง แต่สำคัญอย่างมากในแง่ประวัติศาสตร์ชุมชน ย้อนไปถึงยุครุ่งเรืองของท่าน้ำราชวงศ์ในฐานะท่าเรือขนส่งสินค้านำเข้า ส่งออกต่างประเทศที่สำคัญของกรุงเทพฯ ดึงดูดให้ชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาลงหลักปักฐานสร้างชุมชน แต่ด้วยโกดังสินค้าที่ตั้งอยู่กลางชุมชนที่แออัดบวกกับตรอกซอกซอยที่ค่อนข้างแคบ ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ชุมชนอยู่บ่อยครั้ง ชาวชุมชนจึงสร้างศาลเจ้าอาเนี้ยขึ้นเพื่อปกป้องชุมชนจากเพลิงไหม้ ด้านในประดิษฐาน กวนอิมเสี่ยเจี่ย ปางประทานพรนั่งบนดอกบัว แต่ที่เรียก ศาลเจ้าอาเนี้ย ก็เพราะ อาเนี้ย เป็นชื่อที่ชาวแต้จิ๋วนิยมใช้เรียกเจ้าแม่กวนอิม

ch-shrine-13
ch-shrine-15

ความน่าสนใจของศาลเจ้ากลางชุมชนแห่งนี้ไม่ใช่แค่เพียงลักษณะของเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นองค์เล็กนั่งประทับบนฐานบัวที่แตกต่างไปจากเจ้าแม่กวนอิมองค์ยืนที่เป็นภาพจำเท่านั้น ทวารบาลบริเวณบานประตูสองฝั่งยังวาดเป็นรูป กิมท้ง กับ เง็กนึ้ง บริวารผู้ดูแลเจ้าแม่กวนอิม และเมื่อผ่านประตูเข้ามาหลายคนอาจจะแปลกใจกับกระถางธูปที่มีการนำผ้าแดงมาพันไว้ด้านหน้า ซึ่งนี่ต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนครั้งใหญ่ ชาวสำเพ็งจึงทำการแก้เคล็ดด้วยการกลับทิศกระถางธูปด้วยการนำผ้าแดงมาผูกเปลี่ยนด้านหน้าเป็นด้านหลัง ให้ด้านหน้ากระถางธูปหันหน้าไปสู่ชุมชนแทน เพื่อให้องค์เจ้าแม่กวนอิมปกป้องชุมชนจากไฟไหม้ที่เกิดอยู่บ่อยครั้ง (ซอยอาเนี้ยเก็ง ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ)

04 “วัดกุศลสมาคร” วัดญวนแห่งอนัมนิกาย

ch-shrine-16

วัดกุศลสมาคร วัดญวนแห่งอนัมนิกายมีความหมายว่า “วัดที่มีแต่ความดี ความบริสุทธิ์ ดุจน้ำในสาคร” ปรากฏหลักฐานการสร้างชัดเจนในเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พบการบันทึกเรื่องราวของท่านเจ้าอธิการเยียนหมาง อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ซึ่งได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ เพื่อขอผูกพัทธสีมาและฉลองเป็นพระราชกุศล จากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพระราชทานนามอารามแห่งนี้

ch-shrine-17
สถาปัตยกรรมญวนที่ได้อิทธิพลของจีนของวัดแห่งนี้คือ อุโบสถก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายปูนปั้นรูปมังกรดั้นเมฆ หลังคาประดับกระเบื้องกาบกล้วยซ้อนชั้น ปลายหลังคามีชายสั้นอันเป็นเอกลักษณ์​ของ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป​ปางสมาธิศิลปะอย่างพุทธมหายาน ซ้ายขวาคือพระอานนท์​ และพระมหากัสสปะ อัครสาวกที่นุ่งห่มจีวรในแบบมหายาน (ซอยกุศลสามัคคี ถนนราชวงศ์ กรุงเทพฯ)

05 “ศาลเจ้ากวางตุ้ง” โบราณสถานสถาปัตยกรรมจีนโบราณ

ch-shrine-18

ศาลเจ้ากวางตุ้ง หรือ ศาลเจ้ากงจิ้งถัง หรือ ศาลเจ้ากว๋องสิว คือศาลเจ้าไม่กี่แห่งในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่เรียกว่า “ซาน เหอ ย่วน” หมายถึงอาคารสามหลังที่สร้างให้เชื่อมต่อกันล้อมลานโล่งไว้ตรงกลาง ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดของการใช้ศาลเจ้าเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ศาลเจ้ากวางตุ้งสร้างโดยสมาคมกว๋องสิวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมของชาวจีนกวางตุ้ง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2420 โดยใช้ศาลเจ้าเป็นที่ทำการมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ch-shrine-19
ch-shrine-20

ศาลเจ้ากงจิ้นถังเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นตามความเชื่อทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ผสมกับลัทธิบูชาเทพเจ้าดั้งเดิมแบบจีน จากหลักฐานบนแผ่นหินจารึกซึ่งติดอยู่บนกําแพงรอบศาลเจ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระบุว่าศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2423 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากโครงสร้างตามสาปัตยกรรมจีนโบราณแล้ว ความร่ำรวยของกิจการค้าขายชาวจีนยุคบุกเบิกในสยามยังส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบการสร้างศาลเจ้า โดยวัสดุเกือบทั้งหมดที่ใช้สร้างศาลเจ้ากวางตุ้งล้วนเป็นวัสดุที่ต้องนั่งเรือไปเสาะแสวงหาถึงเมืองจีน และอีกสิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือตัวอักษรคำว่า “ฟู่” ขนาดใหญ่ที่เขียนไว้บนบานประตู เพื่อให้พรด้านความโชคดีตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในศาลแห่งนี้  (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)

06 “ศาลเจ้าฉือปุยเนี่ยเนี้ย” เปลี่ยนย่านกองขยะเป็นความมงคล

ch-shrine-21

ศาลเจ้าลับๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม แม้ศาลเจ้าแห่งนี้จะดูใหม่เพราะมีการบูรณะเป็นอาคารค่อนข้างสมัยใหม่ ทว่ายังคงโครงสร้างไม้ และเครื่องไม้แบบเดิมให้ได้เห็นพร้อมอักษรจีนบนแผ่นป้ายไม้เก่าแก่ในศาลเจ้าซึ่งแปลได้ว่า ปีอู้จื่อแห่งรัชสมัยพระเจ้ากวางซู่ เทียบได้กับ พ.ศ. 2431 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย

ch-shrine-22

เรื่องเล่าของศาลเจ้าแห่งนี้มาพร้อมกับการก่อสร้างชุมชน เปลี่ยนจากย่านกองขยะเป็นย่านชุมชนที่มีความมงคล ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้สำเพ็ง เยาวราชจะเป็นย่านค้าขายที่คึกคัก แต่ก็มีย่านตรอกที่เสื่อมโทรมเกิดขึ้นคู่กัน เช่น ตรอกแขวนคอ ตรอกเว็จขี้ ตรอกหมาเน่า ส่วนถนนพาดสายเส้นนี้ก็เป็นแหล่งทิ้งขยะ กระทั่งมีการย้ายเจ้าแม้กวนอิม ซึ่งตามธรรมเนียมจีนต้องทำการเสี่ยงทายหาตำแหน่งเพื่อสร้างศาลเจ้า ผลการเสี่ยงทายหลายครั้งลงเอยที่คำตอบว่าเทพเจ้าปรารถนาที่จะประทานพรอยู่บนพาดสายที่ยุคนั้นเต็มไปด้วยกองขยะ ดังนั้นเมื่อจะมีการสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ จึงต้องมีการปรับพื้นที่ เปลี่ยนขยะเป็นศรัทธาที่ทำให้เกิดชุมชนแห่งใหม่ และเป็นหนึ่งต้นแบบของการขัดเกลาจิตใจ ซึ่งเจ้าแม่กวนอิมองค์นี้มีความพิเศษคือใบหน้าอวบอิ่มยิ้มแย้ม หน้าผากโหนก แกะสลักจากไม้ทั้งชิ้น นอกจากนี้ด้านข้างยังประดิษฐานเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ไฉ่ซิงเอี๊ย ปางทิเบต ในมือกำลังจับพังพอนเพื่อให้คายเงินทองที่ซ่อนไว้ออกมา ดังนั้นหลายคนที่มาที่นี่จึงนิยมมาขอพรเรื่องโชคลาภเงินทองกับไฉ่ซิงเอี๊ยด้วยเช่นกัน (ถนนพาดสาย กรุงเทพฯ)

07 “ศาลเจ้าเซียงกง” ต้นกำเนิดเซียงกงที่ไม่ใช่เทพแห่งอะไหล่

เมื่อนึกถึง “เซียงกง” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงย่านขายอะไหล่เครื่องยนต์มือสอง แต่ทราบหรือไม่ว่าชื่อเซียงกงคำนี้เป็นชื่อที่มาจาก ศาลเจ้าเซียงกง หรือ เซียนกง ซึ่งตั้งอยู่ย่านทรงวาด ตามประวัติย่านเซียงกงและศาลเจ้าเซียงกงเกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้อพยพมาอยู่เมืองไทย ชาวจีนกลุ่มนี้เก่งเรื่องค้าขาย และมีแนวคิดที่จะค้าขายอะไหล่รถยนต์ขึ้นมาในย่านการค้าที่ใกล้ท่าเรือ สะดวกแก่การขนส่ง อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าที่ดินบริเวณนี้เป็นส่วนของท้องมังกร เมื่อทำการค้าขายก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง แต่การสร้างชุมชนชาวจีนจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยถ้าไม่มีการสร้างศาลเจ้าขึ้น และนั่นจึงเป็นที่มาของ ศาลเจ้าเซียงกงประดิษฐานเทพท้องถิ่นของชาวฮกเกี้ยนที่อัญเชิญมาจากมณฑลฮกเกี้ยนเพื่อดูแลทุกข์สุขของผู้คนในชุมชน แต่ไม่ได้เป็นเทพเจ้าแห่งอะไหล่มือสองอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด (ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ)

ch-shrine-25
08 “ศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว” ขอพรความรัก / เซียมซียา

ศาลเจ้าลัทธิเต๋าที่เป็นที่รู้จักดีในหมู่คนที่นิยมขอพรเรื่องความรัก ขอคู่ครอง ให้รักสมหวัง ตัวศาลเจ้าสร้างขึ้นใน  สร้างในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง ราว พ.ศ.2445 โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างพระราชวังจีนและศาลเจ้า ต้องขึ้นบันไดสูงอย่างพระราชวังเข้าไปจึงจะถึงตัวศาลเจ้าซึ่งตกแต่งอย่างโอ่โถง เพดานสูง ประดิษฐานองค์หลีไทตี้เป็นเทพประธาน ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขผู้คนรวมทั้งให้พรเรื่องความรัก ส่วนคนที่มีคู่แล้วก็นิยมมาขอลูกด้วยเช่นกัน

ch-shrine-27
อีกความน่าสนใจของที่นี่คือ “เซียมซียา” ซึ่งหน้าตาเหมือนเซียมซีตามศาลเจ้าจีนทั่วไป ทว่าแตกต่างด้วยการเน้นไปที่สุขภาพ ใครเจ็บป่วยด้านไหนก็หยิบกระบอกเซียมซีที่แยกไว้ตามลักษณะอาการของโรคขึ้นมาเสี่ยงทาย เช่น ยาสตรี ยาบุรุษ ยากุมาร ได้เลขอะไรก็นำใบเซียมซีที่เป็นภาษาจีนให้เจ้าหน้าที่อ่านเพื่อรับยาแพทย์แผนจีนโบราณกลับบ้าน สะท้อนความสำคัญของศาลเจ้าจีนในอดีตที่ไม่ได้มีแค่เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา หรือเป็นสถานที่พบปะของสมาคมจีนต่างๆ แต่ศาลเจ้าจีนยังเป็นสถานที่เล่าถึงชีวิตลูกหลานชาวจีนในทุกขณะไม่เว้นแต่เมื่อความเจ็บป่วยมาเยือน (ถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ)

09 “ศาลเจ้าพ่อยี่กอฮง” จากโรงหวยสู่ศาลเจ้าบนดาดฟ้า สน. พลับพลาไชย

ch-shrine-28

เหตุแห่งการสร้างศาลเจ้านั้นมีหลากหลาย เช่น บูชาบรรพชนประจำตระกูล สืบทอดงานสาธารณกุศล เป็นที่พึ่งพาของชุมชน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพื่อระลึกถึงผู้ที่มีคุณูปการต่อสังคม เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ ศาลเจ้าพ่อยี่กอฮง ซึ่งมีที่ตั้งค่อนข้างลึกลับ ต้องเดินผ่านสถานีตํารวจนครบาลพลับพลาไชยขึ้นไปยังชั้น 4 ดาดฟ้าที่เชื่อมระหว่างสถานีตำรวจกับแฟลตตำรวจ ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง ยี่กอฮง หรือ พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) ผู้เป็นลูกหลานชาวแต้จิ๋วซึ่งไม่ใช่เทพ ไม่ใช่เซียน แต่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ไทยและได้รับการกล่าวขานให้เป็น “เจ้าพ่อหวยเมืองไทย” เหตุเพราะท่านคืออดีตนายอากรบ่อนเบี้ย ผู้ให้กำเนิดโรงหวย ก.ข. ที่โด่งดังที่สุดแห่งยุค และสถานที่ตั้งศาลของท่านที่เป็น สน.พลับพลาไชย ในปัจจุบันก็คือบ้านหลังเดิมของยี่กอฮงนั่นเอง

แม้ยี่กอฮงจะสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยโรงหวย การพนัน แต่ก็ทำงานสาธารณกุศลไว้ไม่น้อย และเมื่อท่านสิ้นชีวิตลงจึงมีการสร้างศาลเจ้าพ่อยี่กอฮงขึ้น และแน่นอนว่าคนที่มากราบไหว้ก็มักจะขอเรื่องหวย โชคลาภ ตามความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชีวิตของท่านนั่นเอง (ถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ)

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ

อัลบั้มภาพ 22 ภาพ ของ 9 พิกัด ศาลเจ้าลับๆ ฉบับเดินตามตรอก ออกเยาวราช-สำเพ็ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook