งบประมาณมีจำกัด ก็เที่ยวสนุกได้ถ้าวางแผนเป็น
ว่าด้วยเรื่อง “เที่ยว” ถ้าโอกาสมาเงินมี ใคร ๆ ก็มีที่เที่ยวในฝันที่อยากจะไปให้ได้ดูสักครั้งทั้งนั้นล่ะ แต่เรื่องเที่ยวมันจะไม่กดดันและตึงเครียดขนาดนี้ ถ้าช่วงเกือบ 2 ปีมานี้ไม่มีโรคระบาด ต้องยอมรับว่าการจำกัดการเดินทางนาน ๆ แบบที่ผ่านมาทำให้คนรู้สึกกระหายที่อยากจะไปเที่ยวกันมากกว่าเดิม ณ เวลานี้โอกาสเริ่มมาแล้ว ตรงที่เราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนกันได้โดยสะดวก ลางานก็พอทำได้ แต่ที่ไม่ค่อยพร้อม น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” มากกว่า
แต่เข้าใจไหมว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ไม่มีอะไรที่คาดเดาได้เลยว่าเราจะได้เดินทางกันแบบสะดวกแบบนี้อีกนานแค่ไหน หรือรัฐบาลจะประกาศจำกัดการเดินทางประชาชนอีกเมื่อไร ในช่วงเวลาแบบนี้อะไรที่พอจะกอบโกยได้ก็ต้องรีบแล้วล่ะ ใครจะรู้ เราอาจจะได้กักตัวกันยาวกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาก็ได้ ตอนนี้มีเงินอยู่เท่าไร ลองเอามาคำนวณแล้ววางแผนเที่ยวกันดูดีไหม เที่ยวแบบที่งบประมาณจำกัดแบบนี้นี่ล่ะ! ใจอยากไปก็ต้องได้ไป ถ้าวางแผนดี ๆ งบค่าใช้จ่ายที่จำกัดแบบนี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้การเที่ยวของเราไม่สนุกหรอกนะ
จริง ๆ แล้วหลายคนก็ตั้งงบประมาณสำหรับการเที่ยวในแต่ละทริปอยู่แล้ว แต่ก็มักจะพลาดท่าเสียทีให้กับความอยากอยู่บ่อย ๆ แต่ในกรณีนี้คงจะปล่อยให้พลาดค่าใช้จ่ายงอกไม่ได้ ถ้าอยากคุมค่าใช้จ่ายจริง ๆ ก็ต้องวางแผนเที่ยวตามงบที่มีจำกัดให้ได้ งบน้อยงบจำกัดก็เที่ยวได้ ของแบบนี้อยู่ที่ทักษะและฝีมือ (ในการวางแผน) ล้วน ๆ
วางแผนทุกอย่างให้รัดกุม
ย้ำว่าต้องวางแผนอย่างรัดกุมทุกขั้นตอน ด้วยความที่งบประมาณเรามีจำกัด และไม่ควรจะให้มันงอกเพิ่มจนบานปลายด้วย โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกสถานที่ แล้วรีบเตรียมการจองตั๋วเครื่องบิน จองที่พักไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อพร้อมที่จะไปแน่ ๆ เราจะได้ราคาที่ดีกว่าการจองแบบปุบปับ กะทันหันไม่เผื่อช่วงเวลาใด ๆ จากนั้นเริ่มมาวางแผนงบประมาณที่จะใช้ ด้วยการศึกษาที่ที่จะไป วางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้คุณรู้งบประมาณโดยคร่าว ๆ ควบคุมการใช้จ่ายง่ายกว่าเดิม ลองหาอ่านจากบล็อกท่องเที่ยวหรือพวกที่ชอบรีวิวที่เที่ยวดูก็ได้ จะช่วยได้มากสำหรับการวางแผนเดินทาง
หวังพึ่งโปรโมชัน
ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาจะมีงานจัดโปรโมชันแข่งกัน ซึ่งช่วงที่พวกสายการบิน โรงแรมที่พักต่าง ๆ พากันจัดโปรโมชันนี้ บอกเลยว่ามันทำให้งบประมาณการเดินทางของเราประหยัดลงได้อีกมากจริง ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรดูโปรดี ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าเป็นราคาโปร ทั้งที่ราคาปกติก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไรนัก หรือราคาจริงอาจจะถูกกว่าด้วย เช็กให้แน่ใจก่อนเสมอ โดยการเข้าเว็บไซต์ออฟฟิเชียลของสายการบินหรือโรงแรมที่พักนั้น ๆ จากนั้นค่อยเปรียบเทียบราคาแต่ละเจ้า (และราคาที่อ้างว่าเป็นโปรโมชัน)
ศึกษาเส้นทางการเดินทางและวิธีการสัญจร
การเดินทางที่ประหยัด ก็คือเดินทางวิธีแบบที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เขาใช้กัน หรือก็คือขนส่งสาธารณะอย่างรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า ย่อมประหยัดกว่าการนั่งแท็กซี่ ต่างประเทศบางประเทศขนส่งมวลชนจะมีแพ็กเก็จด้วย หรือใช้บัตรสารพัดประโยชน์จ่ายก็ลดราคาลงอีก นอกจากนี้ต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศมีการใช้จักรยานสำหรับเดินทางอย่างเป็นรูปธรรม นักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถเช่าจักรยานใช้ได้เช่นกัน ส่วนการเดินทางไปสถานที่ใกล้ ๆ ก็เดินเท้าเอา ต้องศึกษาเส้นทางก่อนดี ๆ หรือจะเลือกเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เสียค่าเข้าชมก็สนุกดีเหมือนกัน
ศึกษาเรื่องค่าครองชีพ
หากเป็นการเที่ยวต่างประเทศ คนส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบค่าเงินของประเทศนั้น ๆ กับเงินบาทไทย แล้วศึกษาค่าครองชีพจากคอนเทนต์ที่มีคนรีวิวไว้หลังไปมา เพื่อดูว่าจะเที่ยวอย่างคุ้มค่าและประหยัดเงินได้แค่ไหน ถ้าที่ที่จะไปค่าครองชีพสูงกว่าในเมืองไทยมาก ก็หาประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่างด้วยก็จะดีมาก เช่น ค่าอาหาร ของกิน เครื่องดื่ม ค่าช้อปปิ้ง การรู้คร่าว ๆ ว่าต้องใช้เงินเท่าไรช่วยควบคุมงบได้ง่ายขึ้น ทำให้เราไม่เผลอจ่ายค่าอาหารสูงเกินงบที่กำหนดไว้ด้วย
เคล็ดลับการช้อปปิ้ง
กิจกรรมที่ทุกคนทำเมื่อไปเที่ยว คือ ช้อปปิ้ง ยิ่งถ้าไปต่างประเทศ เรามักจะไปตามล่าหาของที่ไม่มีขายในบ้านเรา หาของฝาก ของราคาถูก (เพราะซื้อจากแหล่ง) มีเคล็ดลับการช้อปปิ้งเล็กน้อย นอกเหนือจากการไปร้านเอาท์เลทหรือแหล่งช้อปชื่อดัง คือ เข้าร้านที่คนท้องถิ่นเข้ากัน เราจะได้ของราคาเดียวกันกับคนท้องถิ่น อาจมีลดราคาจากป้ายด้วย และหากเราได้ภาษาท้องถิ่น การต่อรองราคาก็เป็นสิ่งที่ทำได้ตามแหล่งช้อปปิ้งหลาย ๆ ที่ และการทำเรื่องขอคืนภาษี (Tax Refund) ก็เป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม สังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ Tax Free แต่ละที่จะมีเงื่อนไขต่างกัน
เที่ยวนอกเทศกาล
อาจดูเป็นสวนกระแส ตรงที่เวลาใครเขาออกเที่ยวกัน ฉันไม่ไป! แต่พอเขากลับมาทำงานกันเป็นปกติ ฉันจะไป! ซึ่งการเที่ยวนอกเทศกาลเนี่ยช่วยให้เราประหยัดงบประมาณไปได้ส่วนหนึ่งจริง ๆ ตรงที่มันไม่ใช่ช่วงที่คนต้องแย่งกันซื้อแย่งกันจองสายการบิน โรงแรม และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จนของก็ขึ้นราคาตามกลไกตลาด หรือไม่ก็ถือโอกาสขึ้นราคาสูงกว่าปกติ แพงคนก็ยอมจ่าย พอพ้นช่วงนั้นแล้วอุปทานจะเหลือเฟือ อุปสงค์ก็มีแค่พวกที่เที่ยวไม่ตรงชาวบ้านเท่านั้น ดังนั้น ถ้าอยากเซฟเงินในกระเป๋า แนะนำให้ไปเที่ยวนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low season)
อย่าเสียเล็กน้อยเสียน้อยกับของส่วนตัวที่เตรียมล่วงหน้าได้
ย้ำว่าการวางแผนให้รัดกุมเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะประหยัดงบประมาณบางส่วน เราควรเตรียมของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นไปให้พร้อม จะได้ไม่ต้องไปหาซื้อใหม่ข้างหน้า และอาจไม่จำเป็นต้องหาซื้อขนาดพกพาด้วย เช่น ครีมอาบน้ำ โลชั่นทาผิว ครีม ฯลฯ หากเป็นการไปเที่ยวระยะสั้นไม่กี่วัน ซื้อพวกขวดเล็ก ๆ หรือตลับแบ่ง มาแบ่งจากขวดใหญ่ที่เราใช้อยู่ทุกวัน หรือภาชนะกินข้าว อะไรที่หาได้จากในครัวก็ไปหยิบจากครัวได้เลยไม่ต้องซื้อ ของส่วนนี้ล้วนเตรียมล่วงหน้าได้ทั้งหมด ถ้าเช็กดี ๆ รอบคอบ รัดกุม ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้งอกมาเพิ่มอีก