โบกี้หมายเลข 1981 สู่ยุคทองของงานกราฟิตี้นิวยอร์กที่ Aurum Gallery

โบกี้หมายเลข 1981 สู่ยุคทองของงานกราฟิตี้นิวยอร์กที่ Aurum Gallery

โบกี้หมายเลข 1981 สู่ยุคทองของงานกราฟิตี้นิวยอร์กที่ Aurum Gallery
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในพื้นที่โครงการ Warehouse 30 ยังมีอีกหนึ่งแกลเลอรีสุดเฉี่ยว Aurum Gallery แกลเลอรีแห่งใหม่ที่ก่อตั้งโดย Clifford Joseph Price  นักดนตรี โปรดิวเซอร์ ดีเจ ควบตำแหน่งศิลปินชาวอังกฤษ หรือที่รู้จักในนาม Goldie ผู้ที่มีฟันสีทองอร่ามเป็นเอกลักษณ์ แกลเลอรีนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่รวบรวมผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยเฉพาะแนว Urban Art และ Street Art จากศิลปินทั่วโลก

5r800x520-main
Aurum Gallery ไม่ได้เน้นการจัดงานแบบนิทรรศการ แต่เน้นการนำงานจากหลายศิลปินมาหมุนเวียนโชว์ในพื้นที่เดียวกันขนาด 500 ตารางเมตร เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในพื้นที่แกลเลอรีสิ่งที่สะดุดตาคือผนังด้านซ้ายที่ตกแต่งเป็นรูปโบกี้รถไฟใต้ดินพ่นสีทองอร่ามและหมายเลข 1981 เพื่อสื่อให้เห็นถึงยุคทองของงานกราฟิตี้ในนิวยอร์กช่วงปี 70s -80s ที่บรรดาศิลปินมักแอบเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อพ่นงานกราฟิตี้ตามโบกี้รถไฟและในสถานีรถไฟ โดยผลงานโบกี้รถไฟนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Goldie กับศิลปินไทยฉายาว่า Jecks

2r800x520-main
“โครงการ Warehouse 30 ตั้งอยู่ในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ทำให้ผมนึกถึงย่าน Shoreditch ในลอนดอนที่มีประวัติศาสตร์ย้อนไปถึงยุคศตวรรษที่ 19 ที่นั่นเป็นย่านสายอาร์ตเต็มไปด้วยตึกเก่าที่มีสถาปัตยกรรมงดงามมาก ส่วนที่เลือกมาเปิดแกลเลอรีในกรุงเทพฯ เพราะที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางศิลปะแห่งหนึ่งและผมชอบกรุงเทพฯ มาก ๆ” Goldie ผู้ซึ่งคอหนังอาจจะคุ้นเคยกับบทบาทการแสดงในหนังเรื่อง James Bond ตอน The World is Not Enough และเรื่อง Snatch ให้สัมภาษณ์กับเรา

3r800x520-main
4r800x520-main

Goldie กล่าวว่าผลงานที่เลือกมาแสดงส่วนใหญ่เป็นงานของเพื่อนศิลปินที่รู้จักกันมายาวนาน และพยายามเลือกผลงานที่ยังไม่เคยแสดงที่กรุงเทพฯ มาก่อน ผู้ชมจะได้เห็นงานแนวคอลลาจของ Alexandre Farto หรือที่รู้จักในฉายา Vhils ศิลปินกราฟิตี้และสตรีตอาร์ตชาวโปรตุเกสที่มีชื่อเสียงในการทำงานแนวกราฟิตี้ด้วยเทคนิคการสกัดผนังคอนกรีตให้พื้นผิวกระเทาะเป็นร่องลึกต่างระดับจนเกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ หนึ่งในผลงานโดดเด่นของเขาที่ใช้เทคนิคนี้คือบนกำแพงสถานทูตโปรตุเกส ในซอยเจริญกรุง 30 ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโครงการ Warehouse 30 โดย Vhils ทำงานนี้เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของประชาชนทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินอื่น อาทิ Belin, Saturno, Ben Eine, Odeith, Bio, Crash, David Speedและ Toni Cogdell และผลงานของศิลปินไทยอย่าง P7, Wal Chirachaisakul, 2Choey, Benzilla และ Jecks ซึ่ง Goldie กล่าวว่าศิลปินไทยกลุ่มนี้มีศักยภาพเติบโตในเวทีศิลปะโลก

1r800x520-main
“90% ของงานที่นำมาจัดแสดงเป็นงานที่ผมเป็นคนเลือกมาเอง ส่วนตัวผมเองนั้นจริง ๆทำงานหลากหลายแนวโดยเริ่มจากงานแนวกราฟิตี้ แต่ปัจจุบันงานจะออกแนวคล้ายกับภาพพิมพ์หิน (lithograph) เมื่อคนดูจะให้ความรู้สึกเหมือนงานภาพพิมพ์หินในยุค 100 ปีที่แล้ว”

แกลเลอรีซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ยังมีพื้นที่สำหรับเวิร์กชอปเพื่อแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ระหว่างศิลปินกับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ และมีส่วนที่จำหน่ายงานภาพพิมพ์ของหลากหลายศิลปินที่ผลิตในจำนวนจำกัด แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย Goldie ยอมรับว่าส่งผลกระทบกับการขายงานศิลปะอยู่พอสมควร

“เรามีช่องทางขายงานผ่านทาง Artsy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับนักสะสม ทำให้ประคับประคองไปได้ในสถานการณ์ตอนนี้” Goldie กล่าว

Fact File

โครงการ Warehouse 30 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ 
https://aurum.gallery/

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ โบกี้หมายเลข 1981 สู่ยุคทองของงานกราฟิตี้นิวยอร์กที่ Aurum Gallery

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook