กินข้าวป่าชมภาพเขียนสีที่ภูผาม่าน

กินข้าวป่าชมภาพเขียนสีที่ภูผาม่าน

กินข้าวป่าชมภาพเขียนสีที่ภูผาม่าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่นยังเป็นที่ที่อบอุ่นสำหรับเราเสมอ ทุกครั้งที่มาเยือนนอกจากบรรยากาศดีๆ กลิ่นไอท้องทุ่งบ้านนาและป่าเขาแล้ว ผู้คนที่นี่ยังพร้อมเป็นมิตรและส่งมอบสิ่งดีๆ ให้เราทุกครั้งที่มา ทริปนี้แสนพิเศษ ถือได้ว่าทั้งเที่ยวพักกายพักใจชมธรรมชาติและยังได้ถือโอกาสสำรวจพื้นที่ใกล้ๆ บ้านเกิดที่เรายังไม่เคยรู้จัก ชมศิลปะบนผาหินของผู้คนในยุคบรรพกาลที่สุดแสนจะประทับใจจนอยากบอกต่อ

694546

ภูผาม่านที่ไปแล้วต้องอยากกลับมาอีก

ช่วงหน้าหลังออกพรรษาในฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากหน้าฝนเข้าสู่หน้าหนาว บรรยากาศกำลังเย็นสบาย อบอวลไปด้วยสายหมอกและลมเอื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ผู้เขียนและเพื่อนร่วมทีมสองสามคนตั้งใจออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปกับรถไฟนอนที่เป็นการจองตั๋วรถไฟนอนเบาะแดงสายอีสานได้เองครั้งแรกในชีวิต (เพราะปกติเต็มตลอด) ถือเป็นแรกเริ่มฤกษ์ดีในทริปนี้ ภาษาอีสานเรียกว่า “ก้าวแรกแฮกหมาน”

จากนั้นขับรถกันต่อกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อเดินทางไปยังอำเภอภูผาม่าน อำเภอเล็กๆ ที่ห้อมล้อมไปด้วยภูเขา ทุ่งนา และลำน้ำยังอบอุ่นต้อนรับเราเสมอที่มาเยือน พวกเรามีการนัดหมายไกด์ท้องถิ่นอย่างพี่กุล กุลชาติ เค้นา เจ้าของร้านหมูกระทะในฟาร์มผักสุดเท่ใกล้ถ้ำค้างคาวไว้ล่วงหน้าว่าจะมาเยี่ยมยาม พี่กุลก็จัดหาที่พักในหมู่บ้านให้ในราคาหลักร้อยที่มีวิวและอากาศดีๆ อย่างประเมินค่าไม่ได้ พักเหนื่อยจากการเดินทางด้วยการเติมพลังหมูกระทะร้านฟาร์มคิดของพี่กุลอีกสักรอบ หมูที่หมักเอง น้ำจิ้มสูตรพิเศษที่ทำเอง และผักที่อยู่ในแปลง เป็นหมูกระทะที่เหมือนกินที่บ้านจริงๆ

ก่อนจะแยกย้ายเข้านอนพักผ่อน พี่กุลบอกลาพวกเราสามสาวเชิงนัดหมายว่า “พรุ่งนี้เช้าก่อนเดินป่ากันเรามาดริปกาแฟกันก่อนเนาะ พบกันสักหกโมงเช้า” ในใจได้แต่คิดว่ากินกาแฟอะไรกันเช้าขนาดนั้น

596086
809441

ร้านกาแฟริมหนองสมอ ภูผาม่าน

หกโมงเช้าตามเวลานัดหมายแต่กว่าจะมาถึงที่ก็คลาดเคลื่อนเลื่อนเวลาไปเกือบหกโมงครึ่ง เดินทางออกจากที่พักประมาณห้านาทีถึงที่หมาย ได้แต่มองหน้ากันและอุทานว่า “โอ้ โห” เข้าใจทันทีทำไมจึงต้องตื่นเช้าขนาดนี้มาเพื่อนั่งกินกาแฟ

วันนี้พวกเราก็ผลัดกันรับบทเป็นบาริสต้าริมหนองสมอ ก่อกองไฟดริปกาแฟชมนกชมไม้ ชมสายหมอกยามเช้าและตั้งวงนั่งเสวนาชวนคุยกระชับความสัมพันธ์กันต่อเพื่อรอน้ำในกาเดือด ไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตนี้ต้องมาติดเตาถ่านก่อกองไฟต้มน้ำชงกาแฟเองในบทบาทที่ไม่ใช่วิชาลูกเสือ ยุวกาชาดสมัยมัธยมตื่นเต้นไปอีกแบบ หนุ่มน้อยวัยหัดเดินชวนเราดูธรรมชาติบ้านเขาด้วยความเต็มใจ “พุ่นๆ เห็นบ่ นกใหญ่ๆ” เราก็ได้แต่อมยิ้มและบันทึกภาพนี้ไว้เป็นความทรงจำ

“เราขายวันละแก้วสองแก้วนี่แหละ” พี่กุลชวนเราคุยถึงโปรเจ็คพาคนกินกาแฟชมวิวภูผาม่านที่เพิ่งเกิดได้เกือบเดือนนี้ด้วยความสนุกสนาน ดูบรรยากาศแล้วหากสายเกินไปเงาที่สะท้อนน้ำจะหายและแสงจะไม่สวย ฉะนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือเวลา 06:00 – 07:30 น. และอีกอย่างพื้นที่ริมหนองน้ำเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาและใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน ร้านกาแฟริมบึงแห่งนี้จึงเปิดได้แค่วันละชั่วโมงและรับแขกได้เพียงไม่กี่คนต่อวัน และแขกที่มาต้องทำเองแทบจะทุกกระบวนการตั้งแต่ลองติดเตาไปจนถึงดริปกาแฟเอง

492369

เรากลับมาภูผาม่านคราวนี้พี่กุลเริ่มขยับขยายชวนพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวกันเอง สัมพันธ์กับคนในชุมชนทั้งที่พัก ที่กิน และที่เที่ยว สำหรับจุดนี้จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่ม วิวผาม่าน – View Phaman หากสนใจจะเป็นบาริสต้าริมน้ำวิวดีแบบนี้ก็ติดตามทางนี้เลยค่ะ https://web.facebook.com/viewphaman/

ว่าแล้วพวกเราก็จำใจต้องอำลาภูผาม่านที่ตระหง่านรับแสงแรกของวันเพื่อเดินทางเข้าป่าปีนถ้ำไปตามหาภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เรากลับมาที่นี่อีกครั้ง เก้าอี้ ข้าวของที่บรรทุกหลังรถกระบะมาต้องเก็บให้ครบทุกชิ้นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนอย่างเดิม
203789
594359
865723

กินข้าวป่าชมภาพเขียนสี

“เราจะพากันกินข้าวป่านะ” ได้ฟังแล้วแอบตกใจ การกินข้าวในป่าแบบนี้ได้ใช่แค่เห็นในทีวีน่ะสิ ว่าแล้วก็ห่อเสบียงเตรียมของเข้าป่ากัน ขับรถออกจากหมู่บ้านมุ่งเข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูผาม่านเพื่อติดต่อและขอพบเจ้าหน้าที่ผู้จะนำทางโดยติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว

หนึ่งฤทัย ทองเหล็ก หรือ หนึ่ง และคุณพี่บุญถม ศรีบุญ หรือ พี่ถม ที่จะเป็นผู้นำพาเราเข้าป่าในครั้งนี้ “ขึ้นรถเลยครับผม” พี่ถมเปิดประตู สตาร์ทรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อคู่ใจที่ใช้ลงพื้นที่บ่อยๆ ขับพาพวกเราเข้าสู่หนทางป่าเขาที่สุดแสนจะลำบากลำบนด้วยความชำนาญโดยไม่มีพลาดพลั้งแม้แต่จุดเดียวทั้งที่หนทางเป็นโขดหิน โคลน ทรายและมีน้ำไหลผ่านเป็นร่องลึกอยู่หลายจุด

“ผมว่าคงต้องเดินแล้วครับ ขับต่อไม่ได้แล้ว” พี่ถมจำเป็นต้องพาเราลงเดินตรงนี้ ก่อนถึงถ้ำประมาณหนึ่งกิโลเมตรเป็นหนทางลาดชันที่รถยนต์ไม่สามารถพาเราเข้าไปได้จึงจำเป็นต้องใช้ร่างกายที่สุขสบายในเมืองนานจนเคยตัวมาสัมผัสกับธรรมชาติในป่าจริงๆ สักที เดินมาสักพักเริ่มเห็นป้ายที่ถูกโอบกอดอย่างแน่นหนาของเหล่าพืชไม้เลื้อยที่เติบโตเป็นอย่างดีในหน้าฝนที่ผ่านมา

“นี่กลุ่มแรกเลยนะคะหลังจากหน้าฝน” หนึ่งบอกพลางดูพี่ถมกำลังแผ้วถางทางสำหรับฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นให้ผู้คนเข้ามาเที่ยว

เดินทางลาดชันและปีนผาหินขึ้นไปอีกหน่อยไม่ได้ถือว่าลำบากจนเกินไป แต่ก็อันตรายพอสมควรหากพลัดตกลงมา “นั่นไงภาพเขียนสี” ใครสักพูดขึ้นมา ภาพเขียนสีแดงคล้ำคล้ายสีน้ำหมาก และปะปนด้วยภาพสีแดงอมส้ม ประมาณ 74 ภาพ ศิลปะของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่เราดั้นด้นเดินทางไกลเข้ามา ได้พบสมใจแล้ว สวยงามสมคำร่ำลือจริงๆ

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจโดยโครงการโบราณคดีประเทศไทยพบว่าชุดภาพเขียนสีบนผนังถ้ำนี้หากเปรียบเทียบกับภาพเขียนสีที่พบในภาคอีสานสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ราว 6,000 – 5,000 ปีมาแล้ว และมีการทำต่อเนื่องมาจนถึงราว 3,000 – 2,000 ปีมาแล้ว ทางกรมศิลปากรตีความวิธีการเขียนเป็น 2 วิธีการ คือ อย่างแรกเป็นการนำมือทาสีแล้วทาบลงบนผนัง และอย่างที่สองคือการใช้สีเขียนเป็นเส้นรอบฝ่ามือและนิ้ว

ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำสะท้อนถึงความเชื่อพื้นฐานของผู้คนก่อนประวัติศาสตร์ที่นับได้ว่าเป็นพัฒนาการแห่งศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ในยุคแรกเริ่มที่เรียกว่า “Animism” ที่มนุษย์มีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงเชื่อว่าเป็นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนความเชื่อจากตำนานท้องถิ่น จากการพูดคุยกับชาวบ้านใกล้เคียงพบว่าคนท้องถิ่นเชื่อว่าภาพเขียนฝาผนังถ้ำลายแทงนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการบ่งบอกลายแทงสมบัติของคนยุคโบราณจึงเรียกขานกันว่า “ถ้ำลายแทง”

106843

ชมภาพเขียนสีและมองภูมิทัศน์รอบๆ จนหายเหนื่อยแล้ว เที่ยงตรงเหมาะเจาะกับเวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี ก่อนกลับก็พากันหยิบห่อข้าวน้อยห่อใบตองที่บรรจุไก่ปิ้ง ข้าวเหนียวนึ่ง ผักลวกและกลิ่นหอมๆ ของแจ่วปลาร้าบองขึ้นมา เมนูอาหารช่างเข้ากับบรรยากาศกินข้าวป่าของทริปนี้เสียจริง ปิดท้ายบรรยากาศป่าเขาดีๆ ก่อนเดินทางไปขึ้นรถไฟในเมืองเพื่อแยกย้ายกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองในวันจันทร์ต่อ

อ้างอิง

กรมศิลปากร. 2558. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีและแหล่งศิลปกรรมในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

เล่มที่ 2 โครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณ บ้านนาโพธิ์ ตำบลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

ศรีศักร วัลลิโภดม. 2560. พุทธศาสนาและความเชื่อในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ขอบคุณ

คุณกุลชาติ เค้นา และ วิวผาม่าน – View Phaman

คุณหนึ่งฤทัย ทองเหล็ก นักวิชาการป่าไม้ คุณบุญถม ศรีบุญ พนักงานพิทักป่า จากอุทยานแห่งชาติ ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น

แตงกวา และพี่เป้ เพื่อนร่วมทริป

ถ้ำลายแทง

ที่ตั้ง ต.ภูผาม่าน อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ กินข้าวป่าชมภาพเขียนสีที่ภูผาม่าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook