กลายเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อพูดถึงการนำวัชพืชที่ไร้ค่าจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ในปัจจุบันการนำวัชพืชจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์นั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งลักษณะและรูปแบบการประดิษฐ์สิ่งของ ซึ่งรังสรรค์ขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิดรักษ์โลกให้มีความทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มปัญหาขยะ และทำให้ชุมชนมีรายได้จากการนำวัชพืชมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
การสานกระจูดเป็นวิถีชีวิตของคนทะเลน้อย จ. พัทลุง ซึ่งเดิมกระจูดเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ไม่มีราคา แถมขึ้นเองในทะเลน้อย ชาวบ้านจึงนำกระจูดมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการสานเป็นเสื่อและกระสอบไว้ใช้เองในครัวเรือน ต่อมามีการพัฒนาส่งเสริมการผลิต กระจูดจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของทะเลน้อย
ผลิตภัณฑ์กระจูดของที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวทนทานและมีหลากหลายรูปแบบ ชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศถึงขนาดออกบูทขายที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ กันเป็นประจำ ทุกวันนี้ต้นกระจูดธรรมชาติในพื้นที่จึงมีไม่พอ ชาวบ้านต้องทำนาปลูกกระจูดกันเอง
ปัจจุบันนอกจากเสื่อกระจูด ยังมีผลิตภัณฑ์กระจูดที่หลากหลาย ทั้งหมวก กระเป๋า ตะกร้า ภาชนะรูปทรงต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งแบบสีธรรมชาติและย้อมสีสันสวยงาม
ภูมิปัญญาแห่งบ้านร่าหมาด ที่เปลี่ยนพืชในท้องถิ่นให้กลายเป็นสิ่งของมีค่า บ้านร่าหมาด เป็นชุมชนเก่าแก่ ในตำบลเกาะกลาง อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ติดป่าชายเลนที่เป็นแหล่งรวมของเตยหลากหลายพันธุ์ ที่ชาวบ้านใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับจักสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และยังสืบทอดทำกันมาจนปัจจุบัน
ต้นเตยทะเลมีมากหลายชนิด แต่ชนิดที่ชาวบ้านนิยมนำมาใช้งานมากที่สุดคือ “เตยปาหนัน” มีใบยาวเรียวสีเขียว มีหนามบริเวณขอบใบ และก้านกลางใบ ใบมีความเหนียวนุ่ม ทนทาน จักเส้นตอกได้ง่าย และย้อมสีติดทนนาน ขั้นตอนการทำเริ่มตั้งแต่การตัดเตย เหลาหนาม ต้ม ตาก ย้อมสี แล้วนำมาสานขึ้นรูปทรงต่างๆ เช่น เสื่อ กระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์ หมอน ที่ใส่ตะเกียบ ตะกร้า ภาชนะใส่ของรูปทรงต่างๆ เป็นต้น
งอบหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เหละ” ถือเป็นของฝากขึ้นชื่อของบ้านน้ำเชี่ยว และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองตราด ซึ่งงอบบ้านน้ำเชี่ยวต่างจากงอบแหล่งอื่นคือ ทำด้วยใบจาก มีน้ำหนักเบา รูปทรงเหมือนกระทะคว่ำหรือหมวกทหารสมัยโบราณ เคลือบด้วยน้ำมันวานิช เพื่อให้เงางามและทนแดดทนฝน
งอบถือเป็นเครื่องใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำใบจากซึ่งมีมากในท้องถิ่นมาสานให้เกิดประโยชน์ ใช้ใส่กันแดดกันฝนเวลาทำนาทำสวน ชาวน้ำเชี่ยวทำงอบมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถึงปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบงอบตามความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย โดยมีทรงหลักๆ มากถึงห้าทรง ได้แก่ ทรงกระทะ ซึ่งเป็นทรงดั้งเดิมที่ชาวน้ำเชี่ยวยังใช้กันอยู่ ทรงกระดองเต่าที่เป็นทรงปีกเว้าขนาดกะทัดรัด ทรงยอดแหลมลักษณะเหมือนกรวย ทรงสมเด็จซึ่งทำถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งพระองค์เสด็จมาที่หมู่บ้านในปี พ.ศ. 2524 และทรงกะโหลก ที่เป็นทรงกลมคล้ายหมวกทหาร
หากคุณกำลังมองหากระจาด ถาด ตะกร้า หรือกระเป๋าสวยๆ ดีไซต์เก๋ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เราอยากให้คุณนึกถึงกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านสันป่าม่วง อ. เมือง จ. พะเยา
ก็เพราะผักตบชวาเป็นวัชพืชที่แสนไร้ค่า ลอยน้ำไปวันๆ ตามห้วยหนองคลองบึงและกว๊านพะเยา กลุ่มแม่บ้านตำบลสันป่าม่วงจึงนำมาแปรสภาพให้เป็นเงินด้วยภูมิปัญญาบวกไอเดีย โดยนำวัชพืชที่มีมากในชุมชน อย่างผักตบชวามาจักสานเป็นของชำร่วยและเปลญวน ซึ่งใช้วิธีการที่ไม่ซับซ้อนมาก โดยการนำเอาก้านผักตบชวามาตากให้แห้ง และสานขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ กระทั่งกลายเป็นสินค้า OTOP ส่งออกขึ้นชื่อ ถูกอกถูกใจคนชอบสินค้าจากวัสดุธรรมชาติทั้งในและต่างประเทศ
กาบหมากแก่ หนา แข็ง ที่ร่วงหล่นไร้ค่าใต้ต้น ชาวบ้านอาจหาประโยชน์ได้เพียงใช้ห่อของ ทำซองใส่มีด หรือที่คนปักษ์ใต้นำมาห่อทำ “หมาต้อ” แทนขันตักน้ำ ส่วนเด็กๆ ครีเอตเป็นแผ่นรองนั่งผลัดกันลากสนุกตามวิถีชนบท
ปัจจุบันถูกเพิ่มมูลค่าให้เป็น “จาน–ชามชีวภาพ” ภายใต้ยี่ห้อไทยว่า “วีระษา” (Veerasa) ที่เห็นคุณค่าของเศษกาบต้นหมากที่ถูกทิ้งเปล่าเป็นขยะ นำมาแปรรูปให้เป็นภาชนะบรรจุอาหารรูปทรงต่างๆ แทนการใช้โฟม ข้อดีของกาบหมากคือ เมื่อนำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะแล้วยังให้สีสันและลวดลายสวยงามตามธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งมีทั้ง จาน ชาม ถ้วย ถาด ตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ จุดเด่นจะอยู่ตรงที่เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทำจากธรรมชาติ 100% สามารถนำไปล้าง ตากแห้ง และใช้ซ้ำได้โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ แถมยังเป็นภาชนะรักษ์โลกอีกด้วย