ฝูงสัตว์ออกหากิน คืนสู่ธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่ทุ่งแสลงหลวง หลังปิดอุทยาน
นับตั้งแต่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหนังสือคำสั่งประกาศปิดห้ามคนเข้าในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯลฯ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID – 19) ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น
นายวิทูร เดชประมวลพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวไม่ได้มาเยือน ถือเป็นครั้งแรกที่ป่ารอบๆทุ่งแสลงหลวง ไม่มีใครรบกวน ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง ผืนป่าและทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อาศัย และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในอาณาเขตของผืนป่านามว่า "ทุ่งแสลงหลวง" ในช่วงที่ปิดแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้เกิดการฟื้นตัวของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น กระทิง หมี กวาง สุนัขจิ้งจอก เก้งหม้อ เม่น และหมูป่า สรรพสัตว์เหล่านั้นได้ออกล่า หาอาหารตามวิถีทางการดำรงชีพและออกมายลโฉมให้พบเห็นช่วงการปิดแหล่งท่องเที่ยวในช่วงนี้
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เผยว่าปิดอุทยานฯไป 1 เดือนเศษๆ พบว่า สัตว์ป่าใช้ชีวิตธรรมชาติออกหากิน โดยเฉพาะ ครอบครัวหมูป่า ที่มีลูกน้อย ออกมาวิ่งเล่น เป็นจำนวนมาก บริเวณทุ่งโล่งใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากไม่มี กลิ่นและเสียงของมนุษย์ ซึ่งจนท.ได้กล้องที่ตั้งไว้อัตโนมัติสามารถบันทึกภาพสัตว์ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จุดที่พบสัตว์เห็นครั้งนี้ บริเวณ”ทุ่งนางพญา”ตำบลหนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อยู่ไม่ห่างจาก”ทุ่งหญ้าสะวันนา”มากนัก ซึ่งเป็นเส้นทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.8(หนองแม่นา) อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
ตามเส้นทางตรวจป่า จากที่ทำการ ทุ่งแสลงหลวง กม.80 เส้นทางไป หน่วยพิทักษ์ฯหนองแม่นาประมาณ 25 กิโลเมตร สองฝากเส้นทางตัดผ่านนั้น เป็นป่าเบญจพรรณจะพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามข้างทาง และลึกเข้าไปจึงเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ทุ่งหญ้าเมืองเลน ทุ่งโนนสนและทุ่งนางพญา นอกจากนี้ยังพบพันธุ์ไม้ดอกกำลังผลิจำนวนมาก และเป็นช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องเข้าฤดูฝน ป่าเริ่มเป็นสีเขียว ทำให้สัตว์ออกมาใช้ชีวิตกินอยู่บริเวณทุ่งหญ้าต่างๆ
อนึ่ง 7 ตุลาคม 2502 ได้กำหนดป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ กระทั่งปี พ.ศ. 2503 ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศ ถือเป็น“ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย”เนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ ครอบคลุม อ.วังทอง อ.นครไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และอ.เขาค้อ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ชื่อของอุทยานฯ สันนิษฐานว่า พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า “ทุ่งแสลงหลวง” มีป่าหลายชนิดและสัตว์ป่าชุกชุม ประกอบด้วย 1.ป่าดิบเขา 2. ป่าดิบชื้น 3. ป่าดิบแล้ง 4. ป่าสนเขา 5. ป่าเบญจพรรณ 6. ป่าเต็งรัง 7. ทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้าง จึงมักพบสัตว์ป่าที่ อาทิ ช้างป่า กระทิง ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กวางป่า หมูป่า กระต่ายป่า กระแต กระรอก กระเล็น หนูท้องขาว นกและ งู หลากหลายชนิด
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ