“Phenomena” ปรากฏการณ์ของศิลปินหน้าใหม่ กับความเป็นไปในวงการศิลปะ

“Phenomena” ปรากฏการณ์ของศิลปินหน้าใหม่ กับความเป็นไปในวงการศิลปะ

“Phenomena” ปรากฏการณ์ของศิลปินหน้าใหม่ กับความเป็นไปในวงการศิลปะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่บ่อยนักที่ Sanook! Travel จะปลีกตัวจากทะเล น้ำตก และรีสอร์ทสวยๆ มาเดินเล่นชมงานศิลปะในแกลเลอรี วันนี้จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศจากสายลมแสงแดด มาใช้เวลาสงบๆ ในแกลเลอรีใหม่เอี่ยมอย่าง Joyman Gallery บนถนนมหาไชย กรุงเทพฯ เพื่อชมนิทรรศการศิลปะ “Phenomena” ซึ่งว่าด้วยปรากฏการณ์ในชีวิตของ 3 ศิลปินแนวเหนือจริงรุ่นใหม่ พร้อมพูดคุยกับศิลปินและคิวเรเตอร์ของนิทรรศการ ถึงพื้นที่ของศิลปินหน้าใหม่ในวงการ และสถานการณ์ของวงการศิลปะไทยในเวลานี้

Phenomena: Once upon a time, I believed in …

นิทรรศการ Phenomena บอกเล่าเรื่องราว “ปรากฏการณ์” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของศิลปินรุ่นใหม่ 3 คน ผ่านผลงานจิตรกรรมแนวเหนือจริง (Surrealism) โดยมีที่มาจากความตั้งใจของแกลเลอรีที่จะผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ในสายศิลปะเหนือจริง รวมทั้งมองเห็นถึงคุณสมบัติเฉพาะของคนรุ่นใหม่ในการสร้างงานศิลปะ นั่นคือการนำเสนอแง่มุมใหม่ และการทำเรื่องเล่นๆ ให้เป็นเรื่องจริงจัง

“เราให้โจทย์กับศิลปินไปว่าทำอย่างไรให้เขาเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้มันอยู่กับเราจริงๆ เกิดขึ้นกับเราจริงๆ แล้วเราอยู่กับมันได้จริงๆ มันก็เลยเกิดเป็นคำสร้อยของนิทรรศการ Phenomena ว่า Once upon a time, I believed in … ซึ่งศิลปินแต่ละคนก็จะมีความเชื่อต่อปรากฏการณ์ต่างๆ 3 อย่างด้วยกัน” วิชชากร ต่างกลางกุลชร คิวเรเตอร์ของนิทรรศการเปิดการสนทนา

Joyman Gallery

A Woman Powers

ชื่อนิทรรศการและรายชื่อศิลปินที่ทำจากสติกเกอร์สีแดงบนผนังสีขาวเหนือบันได บอกให้รู้ว่าเรากำลังเดินทางไปสัมผัสกับปรากฏการณ์ของศิลปินทั้งสาม โดยปรากฏการณ์แรกที่ดึงความสนใจให้เราเข้าไปพินิจพิจารณาใกล้ๆ ได้แก่ A Woman Powers ปรากฏการณ์ความเชื่อในพลังของผู้หญิง ฝีมือของ ปัณฑิตา มีบุญสบาย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัณฑิตา มีบุญสบาย ศิลปินเจ้าของผลงาน A Woman PowersJoyman Galleryปัณฑิตา มีบุญสบาย ศิลปินเจ้าของผลงาน A Woman Powers

A Woman Powers โดดเด่นด้วยงานจิตรกรรมบนผ้าใบรูปฝูงสุนัข ซึ่งมีการใช้สีหวานราวกับเทพนิยาย ประกอบกับอารมณ์ของภาพที่สดใส มีชีวิตชีวา สอดแทรกมุกตลกร้าย พร้อมลูกเล่นบนผนัง ทำให้การจัดแสดงผลงานของเธอดูสนุกสนานไม่น้อยทีเดียว ปัณฑิตาเล่าว่าแรงบันดาลใจของผลงานของเธอนั้น มาจากเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งเธอได้หยิบเอาเวอร์ชั่นล่าสุดที่หมาป่าเป็นตัวร้าย มาดัดแปลงเพื่อเล่าเรื่องราวของตัวเอง

“เรื่องหนูน้อยหมวกแดงมันถูกดัดแปลงมาหลายเวอร์ชั่นมาก จนมาถึงเวอร์ชั่นปัจจุบันที่หนูน้อยหมวกแดงไปหาคุณยาย แล้วเจอหมาป่ากลางทาง ซึ่งในเรื่องนั้นหมาป่าเป็นตัวร้าย เป็นสัตว์ที่ไว้ใจไม่ได้ เจ้าเล่ห์ แต่ในบริบทของเราเอง เราเลี้ยงหมาเป็นสิบตัว เป็นหมาที่เก็บมาเลี้ยง ไม่ใช่หมามีสกุล ก็จะผูกพันกับหมา ก็เลยเล่าเรื่องหนูน้อยหมวกแดงใหม่ว่าหมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งเป็นตัวแทนของเรา”

Joyman Gallery

นอกเหนือจากการตีความนิทานหนูน้อยหมวกแดงใหม่แล้ว ผลงานของปัณฑิตายังเน้นองค์ประกอบภาพที่มีผู้หญิงเพียงคนเดียว ท่ามกลางฝูงสุนัขตัวผู้ ซึ่งสะท้อนพลังความเป็นผู้นำของผู้หญิง ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องราวของตัวศิลปินเองด้วย อย่างไรก็ตาม ปัณฑิตากล่าวว่า แม้ผลงานของเธอจะสื่อถึงความเป็นสตรีนิยม แต่สิ่งที่เธออยากให้ผู้ชมได้สัมผัสมากกว่า คือความสวยงามด้านองค์ประกอบของผลงาน

“เราเป็นผู้หญิงและเลี้ยงหมาตัวผู้หมดเลย ก็เลยมีภาพความเป็นผู้นำของเพศหญิง มีความเป็นจ่าฝูงของหมาทั้งหมด ซึ่งมันก็โยงกับหลายๆ เรื่อง คือตอนเด็กๆ เราเคยเป็นหัวหน้าลูกเสือ หัวหน้าห้อง ซึ่งเราไม่อยากพูดถึงตรงนั้นมาก อยากให้ดูรูปแบบมากกว่า เรามองว่าศิลปะต้องดูแล้วสบายใจ อยากให้ดูความสวยงามมากกว่า”

Joyman Gallery

The Mystery of Nature

ถัดจากผลงานอันสว่างสดใสของปัณฑิตา เราขยับเข้าสู่โซนจัดแสดงผลงานที่ดูมืดทะมึนและเคร่งขรึมกว่า ในชื่อว่า The Mystery of Nature ว่าด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินหนุ่มหน้าใหม่อย่าง ชัชวาล พุทธวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการแสดงผลงานครั้งแรกในชีวิต แต่แนวคิดของเขานั้นไม่ธรรมดาทีเดียว

ชัชวาล พุทธวงศ์ ศิลปินเจ้าของผลงาน The Mystery of NatureJoyman Galleryชัชวาล พุทธวงศ์ ศิลปินเจ้าของผลงาน The Mystery of Nature

ชัชวาลเล่าว่า The Mystery of Nature บอกเล่าความรู้สึกด้านมืด จากปัญหาในชีวิตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ โดยใช้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันปั่นป่วนเป็นตัวแทนความรู้สึก และอิริยาบถต่างๆ ของตัวเขาเองที่อยู่ในภาพก็สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกับปัญหาเหล่านั้น และรอเวลาให้ปัญหาผ่านพ้นไป

“มันมีที่มาจากความรู้สึกของเรา เราก็อยากใช้ตัวเราเป็นตัวแทน งานของเราเป็นกึ่งเหนือจริง เพราะมันยังมีข้อเท็จจริง อย่างเช่นทิศทางแสง ลม ที่ยังเป็นจริงอยู่ ไม่ได้เหนือจริงทั้งหมด ส่วนการใช้แนวทางเหนือจริง เพราะว่ามันตอบสนองอารมณ์ได้มากกว่า เราสามารถสร้างบรรยากาศที่มันไม่น่าจะเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ง่ายๆ เราสามารถใส่จินตนาการของเราเข้าไปได้ แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ง่ายๆ จากจินตนาการของเรา”

Joyman Gallery

The Belief?

ผลงานชุดสุดท้ายมีชื่อว่า The Belief? เป็นผลงานของ กมลฉัตร เป็งโท ศิลปินอิสระ ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ชมไม่น้อย ด้วยการผสมผสานระหว่างความเชื่อทางไสยศาสตร์ของไทยกับวิทยาศาสตร์ ภาพวาดที่มีเนื้อหากระแทกใจ และสีสันที่สดใสคล้ายคอมพิวเตอร์กราฟิก

กมลฉัตร เป็งโท ศิลปินเจ้าของผลงาน The BeliefsJoyman Galleryกมลฉัตร เป็งโท ศิลปินเจ้าของผลงาน The Beliefs

กมลฉัตรเล่าว่า The Belief? เป็นการตั้งคำถามกับความเชื่อในสังคมไทยที่หลายคนมองว่างมงาย แต่กลับอยู่ร่วมกับความเจริญก้าวหน้าในยุคปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน ราวกับเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น มนุษย์ต่างดาวสวมศิราภรณ์แบบไทย ศาลพระภูมิอิเล็กทรอนิกส์ หรือจรวดปลัดขิก เป็นต้น

“แรงบันดาลใจในการทำงานของผมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือแรงบันดาลใจด้านเนื้อหา กับแรงบันดาลใจด้านรูปแบบ ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจด้านเนื้อหาก็จะเป็นพวกโฆษณาตลกๆ ของไทยสมัยก่อน ส่วนรูปแบบได้มาจากงานคอมพิวเตอร์กราฟิกในภาพยนตร์ พวก Concept art ต่างๆ เนื้อหาจะเป็นความเชื่อประมาณว่า สมมติเราเห็นคนพิมพ์ ‘สาธุ 99’ ในคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ ผมก็คิดว่ามันงมงาย แต่ถ้าเรื่องพวกนั้นมันได้ผลจริงๆ ความเชื่อทางไสยศาสตร์กับความเชื่อด้านเทคโนโลยีมันก็ต้องพึ่งพากันล่ะ ซึ่งไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่มันเป็นไปแล้วในงานของผม”

ในขณะที่งานของปัณฑิตาและชัชวาลบอกเล่าปรากฏการณ์ในชีวิตของตัวศิลปินเอง แต่งานของกมลฉัตรกลับเลือกนำเสนอปรากฏการณ์ความเชื่อในสังคมไทย ที่ทั้งเขาและคนทั่วไปล้วนเคยสัมผัสมาก่อน ผลงาน The Belief? จึงถือเป็นภาษากลางที่บอกเล่าสถานการณ์ของสังคมในวงกว้างได้มากกว่า

ศิลปินหน้าใหม่จะอยู่ตรงไหนในวงการศิลปะไทย

ขณะที่งานศิลปะในความคุ้นเคยของคนไทยมักจะมีเนื้อหาเชิงบวก รับใช้สังคม มีรูปแบบที่สวยงาม สีสันสดใส หรือเน้นไปที่เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา งานของศิลปินทั้งสามกลับ “แหกขนบ” ความงามทางศิลปะที่คนไทยคุ้นเคย นั่นหมายความว่า ผลงานในนิทรรศการ Phenomena น่าจะเป็นงานศิลปะที่ “ขายยาก” เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม วิชชากรยังยืนยันว่าศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแนวทางแตกต่างจากขนบเดิมๆ ยังมีพื้นที่ให้แจ้งเกิดอยู่เสมอ

“พื้นที่ที่จะให้ศิลปินรุ่นใหม่แจ้งเกิดมันมีหลากหลายมาก อยู่ที่ว่าศิลปินจะทำอย่างไรให้เจ้าของพื้นที่รู้สึกว่า คุณผลักดันฉัน แล้วคุณจะไม่เสียใจ แต่ควรโฟกัสที่หอศิลป์เอกชนมากกว่า เพราะแกลเลอรีเหล่านี้จะเป็นพื้นที่อิสระมากๆ เราพูดในฐานะตัวแทนแกลเลอรีหลายแห่งที่เปิดตัวด้วยตัวเอง เรามองว่าเขาพร้อมจะผลักดันเสมอ ขอแค่ศิลปินทำให้เขาเชื่อใจได้ว่า เขาจะภูมิใจ ถ้าเขาได้ผลักดันคุณ”

(จากซ้าย) กมลฉัตร เป็งโท, ชัชวาล พุทธวงศ์, วิชชากร ต่างกลางกุลชร และปัณฑิตา มีบุญสบาย ในพิธีเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2562Joyman Gallery(จากซ้าย) กมลฉัตร เป็งโท, ชัชวาล พุทธวงศ์, วิชชากร ต่างกลางกุลชร และปัณฑิตา มีบุญสบาย ในพิธีเปิดนิทรรศการเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2562

จากคำตอบของวิชชากร ทำให้คนนอกวงการศิลปะอย่างเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ขณะนี้วงการศิลปะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน และท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ผันผวน วงการศิลปะไทยยังมีความหวังอยู่หรือไม่ ซึ่งเธอได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ทุกวันนี้ งานศิลปะไม่ได้มีไว้แขวนบูชาอีกต่อไป เพราะศิลปินรุ่นใหม่เริ่มพัฒนาผลงานให้เข้าถึงได้ง่าย จับต้องได้ และอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น

“ทิศทางของศิลปินไทยตอนนี้พัฒนาขึ้นมามากแล้ว ล่าสุดที่ไปดูงานมา ก็มี Video Art เยอะขึ้น ปัจจุบันเป็นโฮโลแกรมแล้วก็มี ส่วนที่ประทับใจที่สุดก็คือ งานศิลปะของศิลปินรุ่นใหม่เริ่มมี interactive มากขึ้น ไม่ได้เป็นงานที่แขวนเพื่อบูชา แล้วชมว่าสวยจังเลย แต่เป็นอาการที่คนเข้าไปเล่นกับงานได้จริงๆ แล้วการที่คนเข้าไปเล่นกับงานกลายเป็นความหมายใหม่ของงานศิลปะทันที สาย Performance ก็มา จากเมื่อก่อนจะโผล่มารุ่นละคนสองคน หรือปีละ 3 คน เดี๋ยวนี้ค่อยๆ เริ่มมาเยอะ จริงๆ แล้ว งานของเด็กรุ่นใหม่ของไทยสามารถไปสู่สากลได้ ถ้ามีคนผลักดันหรือมีคนโค้ชงานเขาดีๆ แล้วเขาจะสามารถพัฒนาขึ้นไปในระดับสากล ฝีมือของศิลปินไทยไม่น้อยหน้าใครแน่นอน” วิชชากรกล่าว

นอกจากพัฒนาการของศิลปินไทยแล้ว นักสะสมและตัวแทนขายผลงานศิลปะทุกวันนี้ก็มีความสามารถในการพิจารณาผลงาน รวมทั้งเปิดกว้างในการเก็บสะสมผลงานที่หลากหลายกว่าเดิม จากเมื่อก่อนที่เน้นซื้อผลงานที่สวยงามและขายได้ง่าย เช่น ศิลปะไทยแบบดั้งเดิม

“สมัยนี้โชคดีตรงที่ว่านักสะสมเขาเปิดกว้าง เลือกเก็บงานร่วมสมัยมากขึ้น นี่เป็นข่าวดีของวงการ แต่ข่าวร้ายก็คือ สถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้อให้เขาสามารถเก็บสะสมผลงานเรื่อยๆ ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เศรษฐกิจไม่ครึกครื้นเหมือนเมื่อก่อน กลายเป็นว่านักสะสมต้องซื้องานในราคาที่เขาเอื้อมถึง จากเมื่อก่อนที่เขาสามารถทุ่มเงินเพื่อผลักดันศิลปิน ตอนนี้เขาต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน ดังนั้น เขาจึงเก็บงานในราคาที่ถูกกว่าเดิมมาก ซึ่งมักจะเป็นงานของศิลปินที่กำลังจะแจ้งเกิด เป็นศิลปินหน้าใหม่ คือเทรนด์มันไป แต่สถานการณ์มันไม่ไปด้วย” วิชชากรอธิบาย

ปรากฏการณ์ความหวัง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่สดใสนัก วิชชากรกลับมองว่าเธอยังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จากความร่วมมือและการทำงานอย่างหนักของแกลเลอรีต่างๆ รวมถึง Joyman Gallery ของเธอด้วย เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ที่ผันผวนในปัจจุบัน และช่วยกันขับเคลื่อนวงการศิลปะไปข้างหน้า ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เธอภาคภูมิใจ

“เรามองว่านิทรรศการ Phenomena นี้ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งหนึ่งที่รวมพลังศิลปินและคนทำงานในวงการ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ มาช่วยกันขับเคลื่อนวงการศิลปะไปในทิศทางที่ดีขึ้น และให้ศิลปินไทยได้ก้าวหน้าต่อไปในระดับสากล” วิชชากรทิ้งท้าย

นิทรรศการศิลปะ Phenomena จัดแสดงระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 2 มิถุนายน 2562 ณ Joyman Gallery ถนนมหาไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 065-124-2222
Facebook: Joyman Gallery
Website: www.joymangallery.com/

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ ของ “Phenomena” ปรากฏการณ์ของศิลปินหน้าใหม่ กับความเป็นไปในวงการศิลปะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook