ท่องเที่ยววิถีชุมชน สัมผัสธรรมชาติ แวะชิมกาแฟ(ป่า) จ.เชียงราย
Mivana Organic Forest Coffee
ความเร็วของรถเริ่มชะลอลง ก่อนจะเลี้ยวเข้าไปตาม บ้านขุนลาว หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขา จ.เชียงราย แต่ใครจะไปคิดว่าในสถานที่แบบนี้จะเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของแบรนด์กาแฟอินทรีย์ มีวนา แล้วยิ่งเห็นสองข้างทางที่มีแต่ป่าด้วยแล้ว ความสงสัยก็เกิดขึ้นทันทีว่าเขาไปปลูกต้นกาแฟกันที่ตรงไหน ซึ่งคนที่จะมาเฉลยคำตอบนี้ให้เราได้รู้ก็คือ อาจารย์สมชาย เตชะอนันต์ หัวหน้างานภาคสนามของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ผู้ริเริ่มการปลูกกาแฟในหมู่บ้านแห่งนี้นั่นเอง
ถ้าเป็นการปลูกกาแฟในไร่ธรรมดา เราคงไม่ต้องดั้นด้นผ่านโค้งนับร้อยมาถึงที่นี่ แต่การปลูกกาแฟของมีวนาคือการปลูกกาแฟในป่าแซมไปกับต้นไม้ใหญ่เพื่อให้กาแฟและป่าพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นแนวคิดการอนุรักษ์ที่ส่งผลประโยชน์แก่ทั้งธรรมชาติและมนุษย์โดยไม่มีฝ่ายใดสูญเสีย แต่ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลานับ 5 ปี กว่าจะพิสูจน์ให้ชาวบ้านได้เห็นว่า ต้นกาแฟ ป่า และมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
“มีป่ามีกาแฟ มีกาแฟมีป่า คือแนวคิดหลักของกาแฟมีวนา ที่เราพยายามปลูกฝังให้ชาวบ้านได้รับรู้ เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้จะทำไร่เสาวรสกัน ซึ่งการปลูกเสาวรสจำเป็นต้องตัดต้นไม้เพื่อให้แสงแดดส่องถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการทำลายป่าดั้งเดิมที่มีอยู่ อีกทั้งยังถือว่าทำผิดกฎหมายสำหรับการถางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ เราก็เลยเข้ามาให้คำแนะนำการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่ากับพวกเขา พร้อมเหตุผลที่ว่าการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่านั้น พวกเขาไม่ต้องตัดต้นไม้ แถมยังต้องปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพราะต้นกาแฟต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโตเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัญหาเรื่องการทำผิดกฎของอุทยานฯ ก็หมดไป นอกจากนั้นทางมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ยังมีการจัดตั้งองค์กรกรีนเนต เอสอี (GREENET SE) ขึ้นมา เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายและราคาผลผลิตให้กับชาวบ้านอีกด้วย” คำพูดของอาจารย์สมชายสะท้อนความตั้งใจของการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้เป็นอย่างน่าชื่นชม
กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของกาแฟลอยมาตามลม ในที่สุดเราก็จะได้ลิ้มลองรสชาติของกาแฟมีวนากันเสียที โดยมีระดับความเข้มข้นของกาแฟให้เลือก 3 ระดับ ระดับแรกคั่วอ่อน คือการคั่วโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่นาน ใช้ความร้อนพอดี ๆ เมล็ดกาแฟที่ได้จะมีรสชาติออกเปรี้ยวนิด ๆ ไม่ขมมาก ระดับต่อมาคือคั่วกลาง คือการคั่วที่ใช้เวลาเยอะกว่าคั่วอ่อนเล็กน้อย ทำให้ได้รสชาติเข้มข้นกำลังดี และสุดท้ายคือคั่วเข้ม ใช้เวลาคั่วนานที่สุด รสชาติจะค่อนข้างขม ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย คั่วระดับนี้สังเกตง่าย ๆ เลยก็คือ เมล็ดกาแฟจะไหม้เกรียมเป็นสีดำสนิท งั้นขอลิ้มลองรสชาติแบบคั่วเข้มให้เหมาะกับคอกาแฟอย่างเราสักหน่อย กาแฟรสเข้มข้นหวานปลายนิด ๆ กลิ่นหอมจาง ๆ ยิ่งทำให้สงสัยในคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ว่าเหตุใดรสชาติและกลิ่นของกาแฟจึงดีกว่าที่อื่น ก่อนที่ บอย-อภิรุณ คำปิ่นดำ ประธานชมรมกาแฟบ้านขุนลาว และบาริสต้าอันดับ 1 ของหมู่บ้านจะมาเป็นผู้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง “การปลูกต้นกาแฟใต้ต้นไม้ในป่า จะทำให้ต้นกาแฟสามารถดูดซึมแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเมล็ดกาแฟจะสุกช้ากว่าการปลูกในไร่ เหมือนเป็นการเพาะบ่มให้รสชาติของกาแฟนั้นมีความเข้มข้นและกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น”
INFO: กาแฟอินทรีย์มีวนาได้รับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากลจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (INTERNATIONAL FEDERATION OF ORGANIC AGRICULTURE MOVEMENTS: IFOAM) ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตว่าปลอดสารเคมีจริงนานถึง 36 เดือน
“อยากไปชมกาแฟที่ปลูกอยู่ในหมู่บ้านข้างในหุบเขาด้วยมั้ยครับ?” ไม่ต้องเดาก็น่าจะพอรู้คำตอบกันอยู่แล้ว ลึกเข้าไปในเทือกเขาผีปันน้ำตะวันตกยังมีหมู่บ้านอีก 4 หมู่บ้าน ที่เป็นสถานที่ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า เพื่อส่งผลผลิตให้กับมีวนา ซึ่งสำหรับหมู่บ้านที่อาจารย์สมชายพาเราเข้าไปเยี่ยมชมนั้น ตั้งอยู่ห่างจากบ้านขุนลาวไปเพียง 30 กิโลเมตร ระยะทางสั้น ๆ แต่ใช้เวลาเดินทางนับชั่วโมง และต้องเดินทางด้วยรถยนต์แบบขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น
ด้วยทางดินลูกรังสลับถนนลาดยางเป็นระยะ เหมือนเป็นการฝึกขยับกล้ามเนื้อท้องไปในตัว พอได้ลงจากรถก็รู้สึกรักพื้นดินขึ้นมาทันที และแล้วเราก็เดินทางมาถึง บ้านห้วยมะเกลี้ยง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังคงเข้ามาไม่ถึง (เพราะขนาดถนนลาดยางยังไม่มี คงไม่ต้องถามหาไฟฟ้ากันนะ) แต่ทดแทนด้วยความเงียบสงบและทัศนียภาพอันสวยงามกลางหุบเขา
ที่นี่เราได้พบกับ พ่อหลวงสุวัฒน์ สิทธิบุญ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยมะเกลี้ยง ที่เล่าให้ฟังว่า จากตอนแรกที่ลูกบ้านส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอยกัน แต่เมื่ออาจารย์สมชายเข้ามาแนะนำการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่าและได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้จึงมั่นใจแล้วว่าการปลูกกาแฟสามารถเป็นรายได้หลักให้กับคนในหมู่บ้านได้ แถมพ่อหลวงยังอาสาพาไปดูต้นกาแฟบนเนินเขาด้วยตัวเอง ใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าล้วนแล้วแต่มีต้นกาแฟซึ่งกำลังออกเมล็ดสีเขียวสดเต็มต้นเรียงรายเป็นทิวแถว แสดงให้เห็นว่าการปลูกกาแฟรักษาป่าโดยไม่ใช้สารเคมีนั้น ไม่ได้ส่งผลให้ต้นกาแฟออกผลผลิตน้อยลงแต่อย่างไร แถมยังช่วยทำหน้าที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไว้ด้วยอีกต่างหาก
INFO: ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางเข้ามาเรียนรู้และเยี่ยมชมการปลูกกาแฟรักษาป่าของมีวนาได้ โดยติดต่อผ่านอาจารย์สมชายล่วงหน้าที่โทร. 08 6116 3165 นอกจากนั้นแล้ว ภายในหมู่บ้านบ้านห้วยมะเกลี้ยง ยังมีโฮมสเตย์ของลุงทองสุขคอยให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านและธรรมชาติที่โอบล้อมท่ามกลางอุณหภูมิในหน้าหนาวซึ่งลดต่ำถึง 4 องศาเซลเซียส โดยสามารถติดต่อได้ที่พ่อหลวงสุวัฒน์ โทร. 08 8259 4720 (ติดต่อได้เฉพาะช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น)
ก่อนเดินทางกลับ อาจารย์สมชายยังทิ้งท้ายให้เราได้คิดด้วยว่า“ชุมชน ธรรมชาติ และเศรษฐกิจนั้น ต้องมีความสมดุลกัน และต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” มาชมการปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่าครั้งนี้ ทำให้เราได้ข้อคิดดี ๆ หลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาสอนให้เรารู้ว่ามนุษย์เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่ต้องทำลาย ถ้าเรารู้จักคิดให้มากพอ ธรรมชาติก็จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับคืนสู่พวกเรา
CONTACTบ้านขุนลาว ต.ป่างิ้ว อ.ป่าปงเปียก08 6116 3165
SUPPORTING SUSTAINABLE TOURISM: การท่องเที่ยววิถีชุมชน นอกจากการเข้ามาเยี่ยมเยียน แลกเปลี่ยนความรู้ ทำความรู้จักกันแล้ว การเลือกซื้อสนับสนุนสินค้าท้องถิ่น (ที่ถูกกฎหมาย) ก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีในการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้กับชุมชน