เที่ยวโหดมันฮา ที่บ้านคีรีวงกต

“ถ้าไม่ผ่านเขาวงกต คุณมาผิดแล้วละครับ” เสียงหัวเราะพร้อมคำตอบจากปลายสายคลายความหวั่นใจของเราไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะเส้นทางที่ผ่านมาช่างคดเคี้ยว โอบล้อมด้วยผืนป่าและภูเขา ชวนให้คิดว่าหลงอยู่ในเขาวงกตสมชื่อหมู่บ้านคีรีวงกต เสียจริงๆ !
ไม่นานพวกเราก็ถึงจุดหมายที่ซ่อนตัวในผืนป่าของอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม ในตำบลนาแค อำเภอนายูง นรินทร์ อนันทวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของเสียงหัวเราะในสายโทรศัพท์ ยิ้มร่ามาพาแขกต่างถิ่นขึ้นบ้านไปเก็บสัมภาระ นั่งไม่ทันหายเหนื่อยก็ได้ยินเสียง “พี่เสือ” ดังมาแต่ไกล ใครมาเที่ยวบ้านคีรีวงกตย่อมรู้ดีว่า นี่คือกิจกรรมนั่งรถเสือภูเขา ไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด !
รถเสือภูเขาของคนที่นี่ เราขอเรียกว่า “พี่เสือ” มันไร้ลายพาดกลอน คำรามเป็นเสียงเครื่องยนต์ มีตัวถังสีดำมะเมื่อมประกอบขึ้นจากเหล็ก ชาวบ้านนำรถไถนามาใส่เกียร์ ล้อหน้า พวงมาลัย กลายเป็นรถสี่ล้อที่มีสมรรถนะสูง นับเป็นภูมิปัญญาสุดเจ๋งเพราะทำให้รถไถกำลังเครื่องยนต์เพียง 14 แรงม้าวิ่งฉิวขึ้นเนินได้ราวเสือหนุ่มปราดเปรียว
ชาวคีรีวงกตมีนาข้าว ไร่มันสำปะหลัง ลูกเดือย และสวนยางพาราอยู่ในป่าและบนภูเขา รถเสือภูเขาจึงเป็นพาหนะใช้เดินทางและบรรทุกผลิตผลที่สำคัญ เมื่อปี 2550 พวกเขาคิดจัดกิจกรรมท่องเที่ยว จึงต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ด้วยการจัดทริปพานั่งรถเสือภูเขาไปชมวิถีชีวิต ซึ่งนอกจากสร้างรายได้เสริม ยังเป็นอีกวิธีที่ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและช่วยกันรักษาผืนป่า
เมื่อทุกคนก้าวขึ้นหลังเรียบร้อย “พี่เสือ” ก็ออกวิ่งจากถนนลาดยางที่ราบเรียบกลางหมู่บ้านสู่ทางดินขรุขระ ทิ้งรอยเท้าไว้เป็นทางยาว ผ่านทุ่งนาเขียวขจี ผ่านไร่มันสำปะหลังกว้างสุดสายตา ก่อนปีนไปตามสวนยางพาราบนเนินเขา ช่วงที่เร้าใจที่สุดคือตอนที่ “พี่เสือ” กระโจนลงลำธาร น้ำกระเซ็นแหวกเป็นสองข้าง ตะกอนดินฟุ้งขึ้นจนน้ำขุ่นคลั่ก
สี่ล้อของรถเสือภูเขาบดขยี้ไปตามโขดหินสูงต่ำในน้ำจนตัวรถกระเด้งกระดอน ผู้โดยสารอย่างพวกเราต้องเกาะรถไว้แน่น เกรงจะกลิ้งตกลงน้ำเปียกมะล่อกมะแล่กจนดูไม่จืดไม่ว่าจะขึ้นเขา ลงห้วย หรือข้ามลำธาร “พี่เสือ” พาไปอย่างไม่หวาดหวั่น จนเรารู้สึกเหมือนนักผจญภัยที่กำลังขี่หลังเสือวิ่งทะยานไปในพงไพร
ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษ รถเสือภูเขาก็พามาถึงน้ำตกห้วยช้างพลาย ปลายฤดูฝนเช่นนี้มีน้ำไหลบ่าเต็มผาหิน บรรยากาศปกคลุมด้วยความชุ่มชื้น ชาวบ้านพาเราล้อมวงกินข้าวในป่า พวกเขานำกระบอกไม้ไผ่ที่ตัดเตรียมไว้มาล้าง จากนั้นนึ่งข้าวเหนียว ย่างไก่ ต้มน้ำซุป และตัดใบตองมารองนั่ง เรียกว่าแทบไม่ใช้วัสดุแปลกปลอมไปจากธรรมชาติเลย แม้แต่ช้อนและที่คีบน้ำแข็งยังเหลาจากไม้ไผ่อย่างสวยงาม
“เราจะกินข้าวป่าต่อเมื่อออกไปล่าสัตว์ คนสมัยก่อนเข้าป่าไม่ได้นำภาชนะอะไรติดตัวไปเลย จะให้ถือหม้อไปด้วยก็ไม่สะดวก จึงไปตัดกระบอกไม้ไผ่มาหุงหาอาหารแทนหม้อ คนรุ่นใหม่ไม่เคยทำแล้ว พอเขามากินข้าวในป่า เราก็จะได้บอกว่าสมัยก่อนคนรุ่นพ่อแม่เขากินอย่างไร” ผู้ใหญ่บ้านไขความลับว่าทำไมถึงชวนแบกท้องมากินข้าวที่นี่
ไม่นานนักข้าวเหนียวที่นึ่งในกระบอกไผ่ก็สุก ส่งกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทุกคนในทีมกินกับไก่ย่างหอมฉุยและต้มไก่รสแซ่บอย่างเอร็ดอร่อย
จกข้าวเหนียวกันจนเม็ดสุดท้าย ตบท้ายด้วยการจิบกาแฟหอมกรุ่นในกระบอกไม้ไผ่ พลางนั่งฟังเสียงน้ำตกอย่างเพลินใจ ก่อนรถเสือภูเขาจะวิ่งพากลับมาส่งที่บ้านพักโฮมสเตย์ให้พักผ่อนตามสบาย
ช่วงค่ำมี “โฮมพาแลง” หรือการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันซึ่งเป็นวัฒนธรรมการต้อนรับแขกผู้มาเยือนของชาวอีสาน มีเด็กๆ มารำเชิญขวัญและรำบายศรี นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว ใครที่มาคงสัมผัสได้ถึงความสุขที่ส่งออกมาจากแววตาของชาวคีรีวงกตยามเห็นลูกหลานของตนแสดงต่อหน้าผู้ชมต่างถิ่น
หลังจากนั้นมีพิธีบายศรีสู่ขวัญซึ่งเป็นการเรียกขวัญให้กลับคืนมา ช่วยให้คนที่เจ็บไข้หรือหมดหวัง มีกำลังใจดีขึ้น คำสวดมีใจความว่า ขอให้บรรดารุกขเทวดา เทวดา ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยคุ้มครอง เมื่อสวดเสร็จสิ้นชาวบ้านนำไข่ในพานบายศรีให้เรากิน ด้วยเชื่อว่าขวัญกลับมาอยู่ในไข่ เมื่อกินไข่ ขวัญก็จะกลับคืนมาสู่ตัวเรา จากนั้นพ่อหมอก็พรมน้ำมนต์ขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป แล้วให้ทุกคนล้อมวงเข้ามาผูกข้อมือ
“ขอให้อยู่ดีมีแฮง ขอให้ร่ำรวย เจริญๆ เด้อ” เสียงผู้เฒ่าผู้แก่อวยพรระหว่างผูกสายสิญจน์ ทำให้คนที่ได้รับฟังรู้สึกอบอุ่นและสบายใจราวกับเป็นลูกหลานบ้านนี้
เช้าตรู่พวกเราขึ้นรถเสือภูเขาอีกครั้ง นั่งฝ่าความสลัวไปยังไร่มันสำปะหลังของผู้ใหญ่บ้าน เราได้ชมบรรยากาศยามเช้าจากบนเขาเหนือหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บอกว่า ช่วงหลังฝนตกหรือฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกปกคลุมดูสวยงามมาก แม้วันนั้นมีหมอกไม่มากนัก แต่ทิวทัศน์ก็ดูสวยงามในอีกแบบ
ความงามยามเช้าเป็นดังฉากสุดท้ายที่ฝากความประทับใจไว้ ก่อนผู้มาเยือนจากเมืองกรุงอย่างเราจะจากลา นอกจากสัมภาระและของฝากแล้ว ที่ได้ติดไม้ติดมือกลับมาเพิ่มคือประสบการณ์ตะลุยป่าอันแสนสนุกและอบอุ่นใจในมิตรภาพของชาวบ้าน...เป็นความทรงจำดีๆ จากหมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าที่มีทางเข้าคดเคี้ยวราวเขาวงกต
>>>กลุ่มการท่องเที่ยวบ้านคีรีวงกต โทร. 08-3147-9004 ค่าร่วมกิจกรรม (รวมค่าที่พักและอาหารสามมื้อ) คนละ 900 บาท ถ้าเฉพาะนั่งรถเสือภูเขาและกินข้าวป่า คนละ 300 บาท