เลาะสองเมืองอีสาน เล่าตำนาน "อุรังคธาตุ"

เลาะสองเมืองอีสาน เล่าตำนาน "อุรังคธาตุ"

เลาะสองเมืองอีสาน เล่าตำนาน "อุรังคธาตุ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดยคณินพงศ์ บัวชาติ

บริเวณพื้นที่จังหวัดทางภาคอีสานนั้นว่ากันว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธธรรม เพราะนอกจากจะเป็นศูนย์รวมของพระธาตุสำคัญและมากมายด้วยพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเบ้าหลอมของวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และผสมผสานกันอย่างลงตัว 

และเมื่อรอบที่แล้วเราไปม่วนหลายที่อีสานใต้กันมา ครานี้จึงอยากอาสาพาไปอีสานเหนือบ้าง ก็คงจะดีไม่น้อย สำหรับผู้ชื่นชอบการเดินทางและเรียนรู้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมร่วมกับเพื่อนบ้านอาเซียนแล้วล่ะก็ น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ควรหาเวลาไปเที่ยวชมอย่างยิ่ง

 ....ว่าแล้ว ไปเลาะอีสานนำกันเด้อ

แต่ก่อนที่เราจะเดินทางเพื่อสักการะขอพรองค์พระธาตุสำคัญ หรือถ่ายรูปวิวทิวทัศน์สวยๆ พร้อมสัมผัสอากาศแสนเย็นสบายริมแม่น้ำโขงแล้ว เราก็ควรมารู้จักดินแดนอีสานเหนือกันก่อน ว่าเหมือนหรือต่างกับอีสานใต้ที่เราเคยไปอย่างไร

 อีสานเหนือ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แอ่งสกลนคร” เป็นที่ราบบริเวณตอนเหนือของเทือกเขาภูพานในเมืองสกลนครโดยมีอาณาเขตครอบคลุมถึง 1 ใน 4 ของภาคอีสานทั้งหมด นอกจากจะเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมของอารยธรรมโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาอีกด้วย

เราจะเริ่มกันที่สกลนครครับหลายๆ คนฟังชื่อที่นี่ก็คงจะนึกถึงเนื้อโคขุนโพนยางคำที่แสนจะอร่อยนุ่มลิ้นกันเป็นอันดับแรก แต่ที่เมืองแห่งนี้กลับซ่อนมนต์เสน่ห์เอาไว้และมีนิทานพื้นบ้านที่มีต่อวัฒนธรรมและความเชื่อของคนอีสานอย่างมากมายเช่น ที่ทะเลสาบหนองหาน หรือหนองหานหลวง ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน ที่มีตำนานว่าเกิดจากการกระทำของพญานาค ในนิทานท้าวผาแดง-นางไอ่

เมืองสกลนคร ในอดีตเรียกว่าเมืองหนองหารหลวงครับ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ที่ตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งโขงในเขตนครพนม-ลาวและอาณาจักรเขมรโบราณ เพราะมีชื่ออยู่ในตำนานการสร้างพระธาตุพนมหรือ “ตำนานอุรังคธาตุ” นั่นเอง

 เป้าหมายแรกที่วางไว้ คือ การสักการะพระธาตุเชิงชุมภายในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคล พระธาตุองค์นี้นอกจากจะเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครแล้ว ตามอุรังคนิทานยังเล่าว่าเป็นสถานที่บรรจุรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ด้วย หลังจากทำบุญและถ่ายรูปกันแบบจุใจแล้ว เราไปต่อกันที่ปราสาทขอมของดินแดนอีสานเหนือกันบ้าง อย่างที่พระธาตุนารายณ์เจงเวง และพระธาตุดุม ที่แสดงให้เห็นถึงการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณในดินแดนอีสานเหนืออีกด้วย

 สำหรับช่วงบ่ายนั้นเห็นทีต้องหนีอากาศร้อนอบอ้าวไปนั่งเรือเล่นในทะเลสาบหนองหานก็คงจะเข้าที เพราะนอกจากจะมีสายลมเย็นๆ และละอองน้ำกระเซ็นมาแตะที่ใบหน้าแล้ว ยังสามารถถ่ายรูปหรือเซลฟี่ตัวเองกับบรรดาบัวหลวงที่บานสะพรั่งพร้อมเรียกรอยยิ้มและความประทับใจในความงดงามเสมอ

นอกจากสกลนครแล้วหากมีเวลาก็ควรเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียงนั่นก็คือนครพนมนั่นเอง

นครพนมเป็นเมืองที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณครับในฐานะที่เป็นเมืองเก่าเคียงคู่กับแคว้นศรีโคตรบูรณ์ แรกเริ่มนั้นตัวเมืองอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ฝั่งขวาสลับกันหลายครั้ง โดยชื่อของเมืองนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็น "มรุกขนคร" และต่อมารัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "นครพนม" ตามภูมิประเทศที่ติดกับทิวเขามากมายทางฝั่งลาว

มานครพนมทั้งที หากไม่ได้มาสักการะองค์พระธาตุพนมก็คงเหมือนมาไม่ถึง พระธาตุองค์นี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของทั้งชาวไทยและชาวลาวครับ มีผู้คนจากทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงมากราบไหว้ขอพรไม่ขาดสาย ตามตำนานอุรังคนิทานกล่าวถึงประวัติการสร้างไว้ว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระอานนท์ได้เสด็จมาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เมื่อพระองค์เข้านิพพานแล้ว พระมหากัสสปะจะนำเอาพระอุรังคธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุระมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้

พระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง จนมีลักษณะแบบที่เห็นในปัจจุบัน และยังป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีวอก (ลิง) รวมถึงผู้ที่เกิดวันอาทิตย์อีกด้วย

นอกจากจะได้ขอพรและถ่ายภาพสวยๆ กับพระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งแดนอีสานแล้ว ระหว่างทางจะพบกับอำเภอเรณูนคร อันเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “เรณูผู้ไท” วรรคหนึ่งในคำขวัญของนครพนมนั่นเอง

ชาวผู้ไท หรือภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะทางอีสานเหนือในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์, สกลนคร และนครพนมครับ โดยเฉพาะที่นครพนมนั้นมีการแต่งกาย,วัฒนธรรมและประเพณีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น การฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ที่จะแสดงในงานเทศกาลนมัสการพระธาตุพนม หรือในวันออกพรรษาก่อนงานไหลเรือไฟทุกๆ ปี

ก่อนจะเดินทางกลับผมไม่อยากให้พลาดทานอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของอีสานกันครับ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารเช้าสไตล์ฝรั่งเศสที่ผสมผสานความเป็นเวียดนามอย่าง ไข่กระทะ, บาแก็ต หรือจะเป็นอาหารอีสานรสแซ่บไม่ว่าจะเป็นส้มตำ, ต้มแซ่บ, ลาบ, ฯลฯ ทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ รับรองว่าแซ่บอีหลีครับ 

ส่วนฉบับหน้าหมุดไมล์จะพาไปที่ไหนนั้น ยังไงต้องติดตามกันต่อไปนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูล จาก มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook