ชวนเที่ยวมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ชมดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู

ชวนเที่ยวมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ชมดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู

ชวนเที่ยวมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ชมดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปราสาทหินพนมรุ้งหรือปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานในศิลปะเขมรที่มีความงดงาม ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง (ภูเขาพนมรุ้งคือภูเขาไฟเขาพนมรุ้งที่ดับสนิทแล้ว) มีภูมิทัศน์สวยงาม และมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกแสงอาทิตย์สาดส่องทะลุ 15 ช่องประตูของปราสาทพนมรุ้ง ทุกๆ ปีจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าว 4 ครั้ง โดยตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของเทพพระศิวะ

ปราสาทพนมรุ้ง

ทางเดินขึ้นปราสาทพนมรุ้ง ช่วงแรกเป็นทางราบ พอสุดทางราบก็จะเป็นบันไดขึ้นไปยังสะพานนาคราชชั้นที่ 1

ก่อนถึงสะพานนาคราชชั้นที่ 1 จะมีทางเดินที่ทั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูม เรียกว่า "เสานางเรียง" มีข้างละ 34 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช 1 ซึ่งยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร

ปราสาทพนมรุ้ง

สะพานนาคราช 1 เชื่อกันว่า เป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า

จากสะพานนาคราช 1 มีบันไดศิลาแลงค่อนข้างชันจำนวน 52 ขั้น ขึ้นไปยังลานบนยอดเขาพนมรุ้ง จะเห็นปราสาทพนมรุ้งเด่นสง่า สวยงามอยู่ข้างหน้า

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทประธาน ปราสาทพนมรุ้ง ก่อด้วยหินทรายสีชมพู เชื่อกันว่าสร้างโดยพระนเรนทราทิตย์ เป็นผู้นำการปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ภายในตรงกึ่งกลาง เรียกว่า "ห้องครรภคฤหะ" เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดคือ "ศิวลึงค์" ซึ่งแทนองค์พระศิวะ

ปราสาทพนมรุ้ง

สิ่งสำคัญอีกอย่างของปราสาทพนมรุ้งก็คือ ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทรงอยู่ที่ทับหลังของมณฑป ด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือพระยาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร โดยมีพระนางลักษมีซึ่งเป็นเทพีแห่งความงาม และเป็นพระมเหสีคอยปรนนิบัติพัดวีมิให้ยุง ริ้น ไร มาไต่ตอมพระนารายณ์ เพื่อให้บรรทมหลับพักผ่อนให้สบาย

ปราสาทพนมรุ้ง

"ศิวลึงค์" ตัวแทนองค์พระศิวะ ในห้องครรภคฤหะ

อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันหมดในคราวเดียวกัน ได้มีการก่อสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชนขึ้นเป็นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานเท่านั้น  

                                                                  
ปราสาทพนมรุ้ง

อาคาร ก่อด้วยศิลาแลงเรียกว่า "บรรณาลัย" เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนาของศาสนาฮินดู
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็น โบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ต่อมาได้มีการบูรณะปราสาทพนมรุ้งหลายครั้ง และได้เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
นอกจากเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรีแล้ว เขาพนมรุ้งก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องขึ้นเขาไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ ชาวบ้านเชื่อกันว่า ปราสาทพนมรุ้งเป็นที่สถิตของเทพเจ้า

ก่อนปี พ.ศ. 2481  หลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ชาวบ้านชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงก็จะเตรียมตัวพร้อมเสบียงอาหารที่เดินทางไกลไปยังเขาพนมรุ้ง ส่วนใหญ่มักจะนัดแนะเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องไปพร้อมๆ กันเป็นกองเกวียนขนาดใหญ่ ถ้าเป็นคหบดีมีฐานะดี ก็จะเดินทางโดยเกวียนขนาดเล็กตกแต่งสวยงามเป็นการแสดงฐานะของตัวเอง เดินทางรอนแรมกันไปหลายวันตามระยะทางใกล้หรือไกลจากหมู่บ้านของเขา การขึ้นเขาพนมรุ้งในสมัยแรกๆ นั้น เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างไป และไปพบกันที่เขาพนมรุ้ง ชาวบ้านขึ้นไปไหว้พระบนเขาพนมรุ้งบ่อยๆ จนสังเกตเห็นว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 นั้น เป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่องตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกของปราสาทพนมรุ้ง นับว่าสถาปนิกหรือช่างก่อสร้างชาวขอมโบราณ มีความรอบรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาก ได้วางผังปราสาทไว้ให้ตรงตามทิศตะวันออก-ตะวันตก จนในวันดังกล่าว สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

แต่ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งที่ทำกันอย่างสม่ำเสมอ น่าจะนับได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2481 เป็นต้นมา โดยมีพระภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมักจะไปธุดงค์ที่เขาพนมรุ้งเป็นประจำทุกปี เห็นว่ามีผู้คนทั้งชาวไทย ลาว เขมร มักจะขึ้นเขาพนมรุ้งมาบำเพ็ญกุศลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่อง) เป็นจำนวนมาก ท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณเห็นว่า ประเพณีขึ้นเขาเป็นสิ่งดี ประชาชนได้มีโอกาสร่วมทำบุญ พบปะสังสรรค์ สร้างความสามัคคี และมีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย จึงริเริ่มให้จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งอย่างจริงจังขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันเพ็ญเดือน 5 ปี พ.ศ. 2485 และประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งก็ได้จัดกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน



สำหรับปีนี้ ทางจังหวัดบุรีรัมย์จัด  "งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง" ประจำปี  2561 ชมมหัศจรรย์แสงแรกส่อง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง  อลังการ อารยธรรมขอมโบราณ ยิ่งใหญ่ตระการตา วันที่ 5-7 มีนาคม 2561

ทางจังหวัดบุรีรัมย์แจ้งว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงสาดส่องผ่าน 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง เวลา 06.10 น ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม 2561 ถ้าจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้น สะดวกที่สุดคงต้องไปนอนค้างรีสอร์ทใกล้ๆปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งมีไม่มากนัก ตอนเช้าออกจากที่พักประมาณ 05.00น ขับรถไปจอดที่จอดรถ แล้วเดินขึ้นเขาไปประมาณ 20-30 นาที ระยะทางเดินขึ้นเขาไปที่ปราสาทไม่ไกลมาก ทางเดินส่วนใหญ่ค่อนข้างดี ยกเว้นบันไดขึ้นไปยังปราสาท เป็นขั้นบันไดศิลาแลงแคบๆ เดินขึ้นและลงค่อนข้างลำบาก ถ้ามีผู้สูงอายุไปด้วย ต้องช่วยกันพยุงให้ดี เพราะบางช่วงขั้นบันไดชันและแคบมากๆ

ในงานจะมีกิจกรรมการแสดงมากมาย ทั้งการบวงสรวงองค์พระศิวะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง เปิดหมู่บ้านโอทอปโบราณ ให้ผู้มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพ ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจะได้ลิ้มรสอาหารโบราณหายากจาก 23 อำเภอในงานนี้อีกด้วย

ปราสาทพนมรุ้ง 

ภาพโฆษณาชวนเที่ยวงานขึ้นเขาพนมรุ้งของ ททท.

หลังจากชมปราสาทพนมรุ้งเสร็จแล้ว เราก็ขับรถต่อไปยังปราสาทเมืองต่ำ ที่พิกัด N14.49814 E102.98341 อยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น
คำว่าเมืองต่ำนี้ ไม่ใช่คำดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง

ประวัติความเป็นมาของปราสาทเมืองต่ำยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบคลัง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาทเมืองต่ำถูกทิ้งร้างมาจนปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานที่นี่อีกครั้ง

พ.ศ. 2503-2539 กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจปราสาทเมืองต่ำจนเสร็จ และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

จุดเด่นของปราสาทเมืองต่ำคือมี สระน้ำ 4 สระล้อมรอบปราสาท 5 ยอด แสดงถึงมหาสมุทรทั้ง 4 ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติพราหมณ์ สระน้ำดังกล่าวสันนิษฐานว่าใช้กักเก็บน้ำในการประกอบพิธีทางศาสนา
ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ใกล้สระน้ำหรือ บาราย ขนาดใหญ่ หรือเรียกกันว่า “ทะเลเมืองต่ำ”  เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาทเมืองต่ำ

ระเบียงคดและซุ้มประตูก่อด้วยอิฐและหินทราย พื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลัก ด้านข้างของซุ้มประตู ทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง  

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทเมืองต่ำมีปรางค์ประธาน 5 องค์ บนฐานเดียวกัน เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานปัจจุบันได้ถล่มลงแล้ว เหลือเพียงฐานศิลาแลง สันนิษฐานว่าตัวปราสาทเป็นปราสาทหินทราย และคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์

ปราสาทพนมรุ้ง

จากปราสาทเมืองต่ำ เราก็ขับรถไปที่ “วัดเขาพระอังคาร” หรือ วัดเขาอังคารซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งประมาณ 20 กิโลเมตร เราขับรถไปที่จอดรถของวัด พิกัด N14.53434 E102.83479 หลังจากจอดรถเสร็จ เราก็เดินไปไหว้พระพุทธรูปปางประทับนอน ที่ตั้งเด่นสง่าอยู่ไม่ไกลจากลานที่จอดรถ

ปราสาทพนมรุ้ง

เขาพระอังคาร เป็นวัดที่สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ คาดว่าน่าจะสร้างในยุคเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดส่วนใหญ่จะสร้างใหม่ทับของเก่า ตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 320 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นวัดที่สวยงาม ใหญ่โตแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทพนมรุ้ง

วัดเขาพระอังคาร เป็นวัดที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ งดงาม แปลกตา และน่าสนใจมาก รอบๆ โบสถ์ มีโบราณวัตถุที่สำคัญ "ใบเสมาหินบะซอล์ท" สมัยทวาราวดี ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13-14 อายุประมาณ 1,300 ปี

ปราสาทพนมรุ้ง

ตัวโบสถ์ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย ภายในโบสถ์มีพระประธาน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษ แต่น่าเสียดายที่ภาพและตัวหนังสือภาษาอังกฤษหลายแห่งเริ่มเลือนราง ทรุดโทรม ควรเร่งให้มีการซ่อมแซม บูรณะโดยด่วน

ปราสาทพนมรุ้ง

จุดเด่นของวัด นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสาน สวยเด่นแปลกตาแล้ว บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟ คาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวาราวดี เพราะเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

ปราสาทพนมรุ้ง

มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า ภูเขาพระอังคารเดิมชื่อ ภูเขาลอย ที่เรียกว่าภูเขาพระอังคาร เพราะตามประวัติลายแทงธาตุพนมกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว หลังจากถวายพระเพลิงและแจกพระธาตุไปจนหมดแล้ว ก็มีเมืองๆหนึ่งมาขอพระธาตุทีหลังแต่พระธาตุได้แจกไปหมดแล้ว จึงขอธาตุพระอังคารหรือขี้เถ้าไปแทน แล้วก็เดินทางกลับไปยังทิศอีสาน พอถึงภูเขาลูกหนึ่งคือภูเขาลอย มีรูปลักษณะสวยงามเหมือนพญาครุฑนอนคว่ำหน้า เห็นตรงกันว่าน่าจะนำพระอังคารธาตุมาประดิษฐานไว้ที่แห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2520 พระอาจารย์ปัญญา วุฒิโธ ได้สร้างวัดขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรม สวยแปลกตาดังที่เห็นในปัจจุบัน

หลังจากไหว้พระที่วัดเขาพระอังคารเสร็จแล้ว เราก็ขับรถไปทานอาหารเย็นที่ร้านขาหมูชื่อดังในอำเภอนางรอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเขาพระอังคารนัก

ที่อำเภอนางรองมีร้านขาหมูชื่อดังอยู่หลายร้าน แต่ที่เป็นที่นิยมมากกว่าร้านอื่นๆ ก็คือร้าน “จิ้งนำ” นางรองขาหมู ร้านสะอาด กว้างขวาง อยู่ริมถนนใหญ่ อาหารแนะนำที่นี่คือ ขาหมู หมั่นโถว กระเพาะปลาผัดแห้ง นอกจากอาหารจีนแล้ว ทางร้านก็ยังมีอาหารไทยอร่อยๆ เช่น ปลาคังผัดฉ่า อีกด้วย

ร้านอาหาร ปราสาทพนมรุ้ง

ขาหมู หมั่นโถว

ร้านอาหาร ปราสาทพนมรุ้ง

กระเพาะปลาผัดแห้ง

ร้านอาหาร ปราสาทพนมรุ้ง

ปลาคังผัดฉ่า

ร้านอาหาร ปราสาทพนมรุ้ง

ภายในร้านกว้างขวาง สะอาด

ร้านอาหาร ปราสาทพนมรุ้ง

ร้านอยู่ติดถนนใหญ่

หลังจากทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว  เราก็ขับรถไปนอนค้างคืนที่เขาใหญ่ก่อนกลับกรุงเทพฯ ในวันต่อมา

การเดินทาง ปราสาทพนมรุ้ง

 เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าปลายเดือนมีนาคม ขับรถไปปราสาทพนมรุ้ง โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินไปทางสระบุรี แล้วแยกขวาเข้าถนนมิตรภาพไปทางนครราชสีมา แวะทานอาหารกลางวันที่เขื่อนลำตะคอง เสร็จแล้วก็ขับรถไปตามทางหลวงสาย 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วขับรถตามป้ายปราสาทพนมรุ้ง ไปยังที่จอดรถด้านหน้าประตูที่ 1 ที่พิกัด N14.53262 E102.94602 รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร ถึงที่จอดรถเวลาประมาณเกือบบ่าย 3 โมง อากาศที่เขาพนมรุ้งในวันนั้นค่อนข้างครึ้ม ไม่ค่อยมีแดด จอดรถเสร็จก็เดินผ่านร้านขายของที่ระลึกขึ้นเขาไปยังปราสาทพนมรุ้ง

 

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ

อัลบั้มภาพ 19 ภาพ ของ ชวนเที่ยวมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง ชมดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook