ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลพาเที่ยว วัดเฉลิมพระเกียรติฯ unseen สุดฮิตเมืองลำปาง
ท่องเที่ยวสไตล์พิศาลเดือน พฤศจิกายน 2557 พาเที่ยว unseen น้องใหม่สุดฮอต "วัดเฉลิมพระเกียรติฯ" เมืองลำปาง วัดนี้อยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
เมื่อต้นปีตอนที่ขับรถไปแช่น้ำแร่ที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เห็นวัดตั้งเด่นสง่าอยู่บนยอดเขามองเห็นได้แต่ไกล ก็สงสัยว่า วัดอะไร ใครมาสร้างบนยอดเขาสูง สร้างกันอย่างไรและจะขึ้นไปชมกันอย่างไร แต่หลังจากที่ได้ชมยูทูปของคุณ จักรพงศ์ ที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายกันใน social media แล้ว ก็รู้ว่าเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น unseen ของเมืองรถม้า อยู่ที่อำเภอแจ้ห่ม
คุณจักรพงศ์ถ่ายภาพมุมสูงได้สวยมาก มองเห็นวัดในมุมกว้างและถ่ายภาพได้ใกล้มาก ภาพสวย ดนตรีประกอบภาพไพเราะ ถ้าใครยังไม่เคยชม หรือชมแล้วก็สามารถชมอีกได้ไม่เบื่อ การขึ้นเขาไปชมวัดเฉลิมพระเกียรตินั้น สนุก ตื่นเต้น และต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร การไปเที่ยววัดครั้งนี้นับว่าโชคดีมากเพราะได้พบกับ unseen อีก 2 แห่งของลำปาง
แห่งแรก ได้แก่โรงงานผลิตกาแฟที่บาทหลวงจากอิตาลีคั่วเมล็ดกาแฟเองด้วยเครื่องคั่วกาแฟขนาดใหญ่ที่รับบริจาคมาจากอิตาลี บด และใส่ถุงขาย เพื่อนำรายได้จากการขายกาแฟไปช่วยให้เด็กชาวเขาและเด็กชาวบ้านได้มีโอกาสศึกษาต่อ
บาทหลวงบอกว่า เมล็ดกาแฟไทยบนดอยแม่แจ๋มมีคุณภาพดีมาก เพราะปลูกบนที่สูงกว่า 1,000เมตร บนดอยแม่แจ๋มมีดินดี อากาศดีมากเหมาะแก่การปลูกกาแฟ แต่ชาวบ้านไม่รู้จักวิธีการคั่วกาแฟเลยทำให้คุณภาพของกาแฟไทยออกมาไม่ดีเท่าที่ควร บ้านแม่แจ๋มที่ปลูกกาแฟและแมคคาเดเมียอยู่บนเขาสูงไม่ไกลจากโรงงานผลิตกาแฟ เราก็เลยขับรถไปดูบ้านแม่แจ๋ม unseen แห่งเมืองลำปางอีกแห่งหนึ่ง
เราออกจากโรงแรมเวียงลคอรที่ลำปางแต่เช้า วันนี้ตั้งใจจะไปเที่ยววัดเฉลิมพระเกียรติที่แจ้ห่ม มองจากภาพถ่ายมุมสูงจาก Utube วัดนี้สวยงามมาก มีเจดีย์สีขาวสีทองสร้างอยู่บนยอดแหลมของเขาสูงหลายแห่ง ไม่รู้ว่าสร้างกันอย่างไร และก็อยากรู้ว่าจะขึ้นไปบนยอดเขานั้นได้อย่างไร ก็ต้องไปพิสูจน์กันในวันนี้ รู้ว่าวันนี้คงเหนื่อยแน่
เราขับรถไปทางอำเภอแจ้ห่ม ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ3ของลำปาง รองจากอำเภองาวและอำเภอเถิน ถนนไปอำเภอแจ้ห่มค่อนข้างคดเคี้ยวเลาะไปตามไหล่เขา ทิวทัศน์สองข้างทางร่มรื่นเป็นป่าเขา ต้องขับด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะถ้าจะแซง เพราะเป็นถนนเลียบภูเขารถสวนทางกัน
เมื่อขับรถมาถึงทางแยกเข้าอำเภอแจ้ห่มทางขวามือ เราไม่ต้องเลี้ยวเข้าอำเภอแจ้ห่ม แต่ให้ขับตรงต่อไปอีกประมาณ 1กิโลเมตร จะเจอทางโค้งเลยหมวดการทางของกรมทางหลวงไปเล็กน้อย จะมีป้ายทางเข้าบ้านใหม่เหล่ายาวและป้ายทางเข้าวัดเฉลิมพระเกียรติ ก็ให้เลี้ยวซ้ายตามป้ายวัดเฉลิมพระเกียรติเข้าไปประมาณ 4-5 กิโลเมตรถนนดีตลอด ก็จะเห็นป้ายทางขึ้นที่เขียนว่าเฉพาะรถโฟร์วีลเท่านั้น
เราก็เลี้ยวรถเข้าไปเพราะรถของเราก็โฟร์วีลเหมือนกัน แต่เจ้าหน้าที่ห้ามขึ้น บอกว่าทางขึ้นเขาชันและแคบมากสวนทางกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็บอกให้เราขับรถไปที่ลานจอดรถของวัด แล้วทางวัดจะมีรถรับส่งขึ้นเขาไปที่วัด โดยเสียค่ารถคนละ 50 บาท เราก็เลยบอกเจ้าหน้าที่ว่า น่าจะระบุว่าเฉพาะรถโฟร์วีลของเจ้าหน้าที่ทางวัดเท่านั้นที่ขึ้นได้ คนจะได้ไม่เลี้ยวรถเข้ามา
เราขับรถไปยังที่จอดรถเชิงเขา เห็นมีรถจอดอยู่หลายสิบคันก็เลยจะเลี้ยวเข้าจอด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่วัดหรือสถานที่ ๆ เราจะสอบถามข้อมูลได้ เหลือบไปเห็นมีทางขึ้นเขาต่อไปได้ ไม่มีป้ายห้าม เลยขับรถตรงขึ้นเขาต่อไปเจอที่จอดรถและเจ้าหน้าที่อยู่ด้านบน (พิกัด N18.74207 E99.54337) ที่จอดรถด้านบนค่อนข้างแคบน่าจะจอดรถได้ไม่เกิน30 คัน ที่จอดรถด้านบนเต็ม เห็นถนนข้างทางพอจะจอดได้โดยไม่ขวางทางรถคันอื่นก็เลยจอดรถ
เสร็จแล้วก็ไปจ่ายเงินคนละ50 บาท รอนั่งรถโฟร์วีลของทางวัดเพื่อขึ้นเขาไปที่วัด รอซักพักใหญ่ ก็มีรถกระบะโฟร์วีลไม่มีหลังคา ไม่มีที่นั่งด้านหลัง มีแต่เสื่อรองนั่งขึ้นมา 1 คัน
ทุกคนก็ไปขึ้นรถ เราปีนขึ้นไปนั่งกับพื้นกระบะด้านหลัง รถโฟร์วีลที่ทางวัดจัดให้มารับส่งขึ้นเขามี 3 คัน อีก 2 คันมีที่นั่งด้านหลังและมีหลังคา คันไม่มีหลังคาขึ้นมาก่อนเราก็ไปคันนี้ เพราะถ้ารอก็คงจะอีกนานและนักท่องเที่ยวก็มาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่บ่นว่าตั้งแต่ใครก็ไม่รู้เอารูปไปลง Utube นักท่องเที่ยวก็มาเยอะขึ้นมาก
ผู้โดยสารเบียดกันบนกระบะหลังของรถโฟร์วีล4ประตู 6-7คน คนขับรถขับพาเราไปตามถนนที่แคบและชันมาก แถมคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา รถสวนกันไม่ได้ ถ้ามีรถวิ่งสวนมา รถขาขึ้นต้องจอดรอให้รถทางลงๆมาก่อน คนรถก็ต้องคอยบีบแตรส่งสัญญานตลอดทาง คนที่นั่งอยู่บนพื้นกระบะหลัง มือก็ต้องจับขอบกระบะข้างให้แน่น ไม่ให้ตัวโยกหรือหลุดไปทางท้ายกระบะ เพราะท้ายกระบะอาจรับน้ำหนักไม่ได้
ถ้ากระบะท้ายเปิดพวกเราอาจตกเขาโดยที่คนขับไม่รู้ได้ ขณะที่มือจับกระบะข้างแน่นๆ ตาก็ต้องคอยมอง คอยหลบกิ่งไม้ข้างทางที่อาจจะมาโดนตัวเราบาดเจ็บได้เพราะสองข้างทางเป็นป่าและเหว เราคิดในใจว่าแค่เริ่มต้นนั่งรถขึ้นเขาก็สนุกแล้ว เดี๋ยวต้องเดินขึ้นเขาชันมากอีกเกือบ 1 กิโลเมตร จะสนุกและเหนื่อยแค่ไหน โปรดติดตาม
หลังจากนั่งบนพื้นกระะบะท้ายรถโฟร์วีลไม่มีหลังคาโค้งไปมาตามถนนเลียบไหล่เขาประมาณ 3 ก.ม. เราก็มาถึงจุดลงรถที่ภูผาหมอก จากจุดนี้เราต้องเดินขึ้นเขาต่อไปประมาณเกือบ 1 ก.ม. ทางเดินขึ้นเขา 100 เมตรแรก เป็นทางราบเดินค่อนข้างสะดวก แต่หลังจากนั้นก็เป็นทางขึ้นเขาชัน เราต้องเดินตามบันไดเหล็กขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ตรงป้ายทางขึ้นยอดดอย
มีป้ายบอกให้บริกรรมพุทโธ พุทโธ เดินขึ้นเขาไปบริกรรมพุทโธ พุทโธไปจะได้ลืมความเหนื่อย แต่ปรากฏว่าเดินไปเหงื่อหยดไปตลอดทาง ยิ่งสูงก็ยิ่งชัน ต้องเดินไปพักไป ชมวิวธรรมชาติข้างทาง ทั้งป่า หน้าผา และเหวลึก สวยงามมาก บันไดเหล็กบางช่วงสร้างเลาะขอบเหวให้เดิน เป็นที่หวาดเสียวโดยเฉพาะผู้ที่กลัวความสูง
ระหว่างที่เราหยุดพักชมวิว ก็มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเดินลงมา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง นานจะเจอกลุ่มผู้สูงอายุบ้าง กลุ่มผู้สูงอายุนี้จะแวะพักบ่อยหน่อย ในที่สุดเราก็เดินมาเจอป้ายที่เขียนว่า อีกนิดเดียวก็ถึงแล้ว ทุกคนก็มีกำลังใจเดินต่อเพราะรู้ว่าใกล้จะถึงยอดเขาแล้ว
ก่อนถึงยอดเขาจะมีป้ายเล็กๆ เขียนว่า ทางไปบ่อน้ำทิพย์ 20 เมตร ทางเดินเป็นหินขุระขระ เดินค่อนข้างลำบาก เดินเข้าไปไม่เห็นมีอะไร ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะตรงบ่อน้ำทิพย์ ส่วนใหญ่เดินตรงขึ้นเขาต่อไป ในที่สุดเราก็เดินมาถึงที่ราบเชิงเขา มีป้ายเขียนว่า ทางขึ้นนมัสการพระธาตุ มองเห็นเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุอยู่บนยอดเขา เห็นคนกำลังเดินขึ้นไปยังเจดีย์ เราก็เดินตามไป
ทางขึ้นเป็นบันไดเหล็กแคบและชันมาก เจดีย์ตั้งอยู่บนยอดเขา ข้างๆฐานเจดีย์มีจุดชมวิวเล็กๆและเก้าอี้ไม้เก่าๆตั้งอยู่ให้คนนั่งถ่ายรูป ด้านหลังเก้าอี้ไม้ที่ให้ถ่ายรูปจะเป็นวิวภูเขา ด้านหน้าจะเป็นจุดชมวิวที่ไปทางศาลาสวดมนต์ และมีเจดีย์สีขาวและสีทองตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้เคียงสวยงามมาก
หลังจากนมัสการพระธาตุและยืนถ่ายรูปตรงจุดชมวิวแล้ว เราก็เดินไปที่ศาลาสวดมนต์เพื่อไปยังจุดชมวิวและถ่ายรูป จุดนี้อยู่บนยอดเขาที่ใกล้เคียงกับเจดีย์พระธาตุ เมื่อขึ้นไปจะเห็นเจดีย์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างออกไปอย่างชัดเจน และมองออกไปจะเห็นเมืองปานและแจ้ห่มอยู่ด้านล่างไกลๆ บนนี้ลมเย็นสบาย วิวสวยมาก หลังจากถ่ยรูปและไหว้พระเสร็จแล้วเราก็เดินลง
พระพุทธรูปในศาลาจุดชมวิว ( ทางไปศาลาสวดมนต์) จุดชมวิวตรงฐานเจดีย์พระธาตุเล็กและแคบ ถ้าคนขึ้นไปมากๆ ฐานที่เป็นเหล็กแผ่นไม่หนามากอาจรับน้ำหนักไม่ไหว
หลังจากเดินชมวิวรอบๆบริเวณเจดีย์พระธาตุและนั่งพักแล้ว เราก็เริ่มเดินลงเขาไปที่ภูผาหมอกเพื่อรอรถ มารับเราลงไปยังที่จอดรถ มีนักท่องเที่ยวรออยู่แล้วหลายสิบคน ระหว่างยืนรอรถเห็นมีป้ายชี้ไป นมัสการรอยพระพุทธบาท150 เมตร เราก็เดินตามป้ายไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ทางเดินขึ้นค่อนข้างชัน
เราต้องเดินผ่านศาลาซึ่งภายในมีพระพุทธบาทจำลองเพื่อไปยังรอยพระพุทธบาทที่อยู่ริมหน้าผาด้านนอกศาลา เป็นรอยพระพุทธบาทคู่ประทับอยู่ตรงหน้าผา เหนือรอยพระพุทธบาทคู่เป็นรอยพระหัตถ์
ก่อนที่จะมีการสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติและถนนขึ้นมาที่วัด ชาวบ้านขึ้นเขามาสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความยากลำบาก ต้องมีร่างกายแข็งแรงและศรัทธาแรงกล้าจริงๆ เพราะต้องเดินขึ้นเขาสูงชันมาก แต่ก็มีการขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทนี้จนกลายเป็นประเพณี
ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นที่ยอดเขาแห่งนี้เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชสมภพครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547 คณะสงฆ์มีมติให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน 2 แห่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย คือวัดพระมหาธาตุที่กรุงเทพฯ และวัดพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (เฉลิมพระเกียรติ ครบ200ปี) หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า วัดเฉลิมพระเกียรติ
โดยคณะสงฆ์มีมติให้ พระเทพวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล) เจ้าอาวาส วัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม) ที่เมืองพะเยา เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
ช่วงที่สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ หลวงพ่อไพบูลย์ต้องเดินทางจากวัดอนาลโยที่พะเยาไปยังวัดเฉลิมพระเกียรติที่แจ้ห่มประมาณชั่วโมงครึ่ง ท่านว่าวัดที่แจ้ห่มสูงกว่าวัดอนาลโยราว 2 เท่า วัดอนาลโยอยู่บนยอดดอยบุษราคัม มองข้างล่างเห็นบ้านเรือนและต้นไม้ แต่วัดที่แจ้ห่มมองลงมาเห็นขอบฟ้าทีเดียว ต้องเดินผ่านเมฆหมอกอยู่ตลอด อากาศเย็นสบาย เลยทำให้อยากไปดู
หลังจากสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว เราก็้นั่งรถลงจากดอยผาหมอกไปยังที่จอดรถ ทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทคู่และรอยพระหัตถ์ ด้านในมีรอยพระพุทธบาทจำลองในศาลา รอยพระหัตถ์อยู่ที่หน้าผาด้านนอกศาลาเหนือรอยพระพุทธบาทคู่ และรอยพระพุทธบาทคู่อยู่หน้าผาด้านนอกศาลา
เมื่อถึงที่จอดรถแล้วเราก็เดินไปไหว้พระที่ โบสถ์พระจอมเกล้าราชานุสรณ์และศาลาสมปรารถนา แล้วเราก็ขับรถต่อเพื่อไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
หลังจากได้เที่ยววัดเฉลิมพระเกียรติที่มีความสวยงามและเห็นนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆมาเที่ยวที่นี่เป็นจำนวนมากแล้ว ก็เกิดความเป็นห่วงว่า สถานที่นี้จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเป็นจำนวนมากไม่ได้ เพราะรถรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นไปที่วัดบนเขาขณะนี้(ปลายเดือนตุลาคม 2557) มีเพียง3คันเท่านั้น 1 ใน3คันไม่มีที่นั่ง ไม่มีหลังคา ต้องนั่งบนพื้นกระบะที่มีเสื่อปูนั่ง
เมื่อรถรับส่งขึ้นเขาที่ทางวัดจัดให้มีไม่พอ นักท่องเที่ยวใจร้อนบางกลุ่มที่ขับรถโฟร์วีลมาเที่ยว และกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์บางกลุ่มก็ฝ่าฝืนขับรถขึ้นไปบนเขาเอง ซึ่งนับว่าอันตรายมากเพราะเคยเกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้ง เพราะทางแคบรถสวนทางกันไม่ได้
นอกจากนี้ทางวัดก็ไม่มีการจัดคิวการขึ้นลงรถ ทำให้แย่งกันขึ้นรถ (หวังว่าขณะนี้น่าจะมีการพิมพ์ตั๋วขายพร้อมเบอร์คิวขึ้นรถแล้ว ตอนที่ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคม จ่ายเงินค่ารถคนละ50บาทแล้วยืนรอไม่มีการจ่ายตั๋ว) เพราะเป็นเรื่องด่วนที่ต้องรีบทำ ขณะเดียวกันก็ควรมีการจัดคิวให้คนขึ้นไปสักการะเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ เพราะที่บนนั้นเป็นจุดชมวิวที่สวยมาก
นักท่องเที่ยวจะไปยืนถ่ายรูปตรงฐานเจดีย์กันมาก โครงเหล็กที่รองรับอาจแข็งแรงไม่พอถ้านักท่องเที่ยวขึ้นไปมากๆ ควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลแม้จะมีป้ายเตือน แต่ถ้านักท่องเที่ยวมากๆแล้วไม่มีคนดูแล อาจเกิดปัญหาได้
การเตรียมตัวไปเที่ยววัดเฉลิมพระเกียรติฯ
- ให้ไปแต่เช้าคนจะไม่แน่น เพื่อจะได้ไปจอดรถด้านบนบริเวณศาลาสมปรารถนา ซึ่งเป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวขึ้นรถโฟร์วีลของวัด ด้านบนมีที่จอดรถจำกัด ถ้าจอดด้านล่างจะต้องเดินขึ้นเขาค่อนข้างชันไปที่คิวจอดรถ จอดรถเสร็จแล้วรีบจ่ายเงินค่ารถคนละ50 บาทรอนั่งรถโฟร์วีลของวัดขึ้นเขา เสร็จแล้วค่อยลงมาไหว้พระที่ศาลาสมปรารถนา
- ให้เตรียมน้ำ ผ้าซับเหงื่อ หมวกไปด้วย
-ควรใส่รองเท้าที่เดินสบายๆและนำเฉพาะของที่จำเป็นติดตัวไปเท่านั้น เพราะต้องเดินข้ึนบันไดเหล็กไปตามไหล่เขา มือควรจับราวบันไดไว้ตลอด>>>
-------------------------------------------
เราขับรถลงเขาออกจากวัดเฉลิมพระเกียรติเพื่อไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเฉลิมพระเกียรติประมาณ30กิโลเมตร
ระหว่างทางไปแจ้ซ้อนทางซ้ายมือเจอร้านกาแฟ Bruno ที่ตั้งอยู่หน้าวัดคาทอลิก แม่พระราชินีแห่งสันติภาพ (Regina Pacis ) เราเคยชิมกาแฟนี้ที่ร้านริมปิงที่เชียงใหม่ รู้สึกว่าหอมมากและรสชาติดี เลยจอดแวะทานกาแฟ คุยกับบาทหลวง Rafael ซึ่งพูดไทยได้และผู้ช่วยที่เป็นคนไทย และต่อมาคุณพ่อ Bruno Rossi เจ้าอาวาสวัด ก็ได้เข้ามาคุยด้วย
คุณพ่อ Bruno Rossi มาจากเมือง Padva อิตาลี มาอยู่ที่แจ้ห่มนานถึง 15 ปีแล้วพูดไทยได้คล่องมาก ได้จัดตั้งโครงการ "กาแฟบรูโน" (Cafe' Bruno) ขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีอาชีพที่ยั่งยืน โดยการช่วยพัฒนาการทำไร่กาแฟให้แก่ชาวแจ้ห่ม
โดยเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอแจ้ห่มได้หันไปทำไร่กาแฟแทนพืชไร่หรือนาข้าวที่เคยทำมา คุณพ่อบรูโนเห็นว่าที่หมู่บ้านแม่แจ๋มที่อำเภอแจ้ห่ม อยู่บนพื้นที่สูงกว่า1,000 เมตร มีอากาศเย็นตลอดปี จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงหรือวัชพืช เพื่อช่วยให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรปลอดจากสารเคมี อยู่อย่างปลอดภัย
แล้วคุณพ่อบรูโนก็รับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านในราคายุติธรรม มาคั่วและบดขายที่โรงงานผลิตกาแฟเล็กๆที่ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดคาทอลิก (Regina Pacis) รายได้จากการขายกาแฟก็นำไปเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กชาวเขาและเด็กชาวบ้านแจ้ห่ม โครงการนี้ตั้งมาไม่นานเพียง 2-3 ปีก็ช่วยทุนการศึกษาดูแลเด็กนักเรียนไปแล้วกว่า 800 คน โดยมีนักเรียนกว่า 200 คนได้รับการศึกษาแบบนักเรียนประจำโดยพักอยู่ที่หอพักในบริเวณวัด
คุณพ่อบรูโนเห็นว่า คุณภาพของผลิตภัณท์กาแฟของไทยนอกจากจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดกาแฟแล้ว กรรมวิธีและเทคนิคการคั่วกาแฟก็มีความสำคัญมาก บนดอยแม่แจ๋มมีอากาศและดินดีเหมาะแก่การปลูกกาแฟ ทำให้เมล็ดกาแฟจากดอยแม่แจ๋มมีคุณภาพดีมาก แต่ชาวบ้านไม่รู้กรรมวิธีและเทคนิคในการคั่วกาแฟและก็ไม่มีเครื่องคั่วกาแฟที่มีคุณภาพ ทำให้กาแฟไทยมีรสชาติไม่ดี
เพื่อนคุณพ่อบรูโนที่อิตาลีทราบถึงความตั้งใจของคุณพ่อบรูโนที่จะช่วยชาวไทยภูเขาให้มีรายได้ที่ยั่งยืน และนำรายได้จากการขายกาแฟไปช่วยเด็กชาวเขาและเด็กชาวบ้านให้มีการศึกษา จึงบริจาคเครื่องคั่วกาแฟขนาดใหญ่และเครื่องบดกาแฟให้แก่"โครงการกาแฟบรูโน"มาอย่างละ 1 เครื่อง
เครื่องคั่วกาแฟที่ได้รับบริจาคดังกล่าวเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่ไม่ได้ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ต้องใช้ความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะตัวในการคั่วกาแฟ คอยดูสีเมล็ดกาแฟ ปรับระดับความร้อนและเวลาการคั่วให้เหมาะสม จึงจะได้กาแฟที่หอมรสชาติดี
บาทหลวง Rafael และบาทหลวงอีกคนที่ชื่อบรูโน ( ชื่อเหมือนคุณพ่อบรูโน) และเด็กชาวเขาที่ได้ทุนจนจบการศึกษาก็กลับมาช่วยเป็นลูกมือให้บาทหลวง Rafael ในการคั่วและบดกาแฟภายใต้การดูแลของคุณพ่อบรูโน ทำให้คุณภาพกาแฟ Bruno ดีมาก หอมและรสชาติอร่อย
คุณพ่อเล่าว่าได้ส่งกาแฟ Bruno ชนิด Espresso Italiano ไปประกวดที่ประเทศอิตาลี โครงการกาแฟ Bruno ผลิตกาแฟ 2 ประเภท คือ ประเภท Espresso Roasted Ground หรือเรียกสั้นๆว่า Espresso และ Dark Roasted Ground เรียกสั้นว่า Dark
คุณพ่อ Bruno เล่าว่า ที่อิตาลีและประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่นิยม Dark Roasted Ground แต่ที่ต้องผลิตประเภท Dark ก็เพราะคนไทยชอบทานกาแฟเย็น และนิยมใช้กาแฟประเภท Dark ในการชงกาแฟเย็นซึ่งรสชาติเข้มข้นกว่า แต่ไม่หอมเท่า Espresso ที่นิยมใช้ชงกาแฟร้อน
คุณพ่อบรูโนเล่าว่าที่อิตาลี จัดให้มีการประกวดกาแฟเฉพาะประเภท Espresso จากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โครงการกาแฟบรูโนส่งประเภท Espresso เข้าประกวด โดยมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งเข้าประกวด15 ประเทศ เท่าที่พอจำได้แก่ สเปน สวิส โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียตนามฯลฯ
ขณะที่คุยกับคุณพ่อยังไม่รู้ผลว่าเป็นอย่างไร แต่ต่อมาหลังจากกลับกรุงเทพฯ ได้โทรกลับไปคุยกับคุณพ่อ Bruno จึงได้รับข่าวดีว่า กาแฟ Bruno จากประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง ผมถามว่ารางวัลอะไรคุณพ่อบอกว่ารางวัล International Coffee Testing Gold Medal Espresso Italiano สำหรับประเภท Single Origin คือเป็นกาแฟมาจากแหล่งเดียวคือแม่แจ๋ม ไม่ได้มีการปรุงแต่งผสมกาแฟประเภทอื่นๆ
ผมอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านที่ชอบกาแฟ ให้มาอุดหนุนกาแฟไทยยี่ห้อ Bruno ซึ่งใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพดีที่ปลูกที่ดอยแม่แจ๋ม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง โดยมีบาทหลวง Rafael บาทหลวงบรูโน และผู้ช่วยที่เป็นเด็กชาวเขาช่วยกัน คั่วและบดด้วยเครื่องคั่วและบดกาแฟที่ได้รับบริจาคจากเพื่อนชาวอิตาเลียนของคุณพ่อเจ้าอาวาสบรูโน
ท่านผู้อ่านสามารถสั่งซื้อกาแฟ Brunoโดยตรงได้ที่ คุณปู โทร 081-993-7022 email: caffebruno@gmail.com ทางโครงการกาแฟบรูโนจะจัดส่งกาแฟที่คั่วและบดใหม่ๆที่หอมมาก ไปให้ถึงที่บ้าน ด้วยราคาที่ถูกมาก ถุง 250กรัมราคาเพียง120 บาทยังไม่รวมค่าส่ง
เครือข่ายกาแฟบรูโนค่อนข้างแคบ เพราะเป็นโครงการกุศลช่วยชาวเขาที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก จึงไม่ค่อยเห็นวางขายตามที่ต่างๆ ผมชิมแล้ว กาแฟ Bruno ประเภท espresso หอมมากๆ ซื้อกลับมา 10 ถุง ไม่พอแจก คงต้องสั่งซื้อเพิ่ม เท่ากับทำบุญช่วยเด็กชาวไทยภูเขาและเด็กชาวบ้านให้ได้รับการศึกษา ขอบอกว่า ฝีมือการคั่ว และบดกาแฟของบาทหลวงชาวอิตาเลียนเยี่ยมจริงๆ กาแฟหอมมากๆ ครับ
หลังจากคุยกันเสร็จแล้ว(ยังไม่รู้ว่ากาแฟบรูโนได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวด) ก็ขอเข้าดูโรงงานผลิตกาแฟที่ตั้งอยู่ด้านหลังของวัด ซึ่งบาทหลวงRafael และผู้ช่วยก็ยินดีพาไปที่โรงงานผลิตกาแฟ
วันนี้โรงงานปิด เพราะเพิ่งคั่วและบดกาแฟตามคำสั่งซื้อไปแล้ว แต่เราขอเข้าไปดูเครื่องคั่วและเครื่องบดกาแฟที่ได้รับบริจาคจากอิตาลี บาทหลวง Rafael ผู้ช่วยคุณพ่อ Bruno ก็ใจดีเปิดประตูโรงงานผลิตกาแฟที่อยู่ด้านหลังโบสถ์ให้เราเข้าไปเยี่ยมชม
แล้วก็อธิบายขั้นตอนการคั่วกาแฟให้ฟังว่า เครื่องคั่วกาแฟที่ได้รับบริจาคมาเป็นเครื่องเก่าที่ต้องอาศัย ความรู้และความชำนาญของผู้คั่วกาแฟมาก ไม่เหมือนเครื่องรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุม แต่เครื่องนี้ผู้คั่วกาแฟต้องบังคับด้วยมือ คอยดูระดับความร้อนในการคั่วไม่ให้ร้อนเกินไป ต้องคอยดูสีของเมล็ดกาแฟไม่ให้มีสีเข้มเกินไป
กาแฟชนิด espresso จะมีสีอ่อนกว่าชนิด Dark เพราะใช้เวลาในการคั่วน้อยกว่า ในต่างประเทศจะนิยมดื่มกาแฟประเภท espresso มากไม่นิยมดื่มประเภท Dark แต่คนไทยนิยมดื่มกาแฟเย็นเลยต้องผลิตกาแฟประเภท Dark ที่มีรสชาติเข้มข้นกว่า เพื่อใช้ชงกาแฟเย็น ส่วนกาแฟร้อนก็จะชงด้วยกาแฟ espresso เพราะหอมกว่า
หลังจากเยี่ยมชมโรงงานผลิตกาแฟที่อยู่หลังโบสถ์แล้ว เราก็ออกมาร้านขายกาแฟด้านหน้า ซื้อกาแฟประเภท espresso และประเภท dark อย่างละ 5 ถุง ถุงขนาด 250 กรัมขายถุงละ 120 บาท ถ้าไปซื้อตามร้านค้าในเมืองลำปางหรือที่ร้านซุปเปอร์มาเก็ตริมปิงที่เชียงใหม่ จะขายกันถุงละ 150-160 บาท
ทางขวามือเป็นบ้านพักสำหรับเด็กนักเรียนชาวเขาและชาวบ้านที่ได้รับทุนการศึกษา ด้านหลังสุดเป็นโบสถ์คริสต์
คุณพ่อ Bruno และนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา (ที่กำลังเรียนอยู่และที่เรียนจบไปแล้ว)
คุณพ่อ Bruno อาศัยอยู่ที่แจ้ห่มมานาน15ปีแล้ว พูดภาษาไทยได้คล่องมาก
ออกจากร้านกาแฟ Bruno เราตัดสินใจที่จะไปบ้านแม่แจ๋ม แทนที่จะไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนตามที่ตั้งใจไว้เดิม บ้านแม่แจ๋มเลยอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนเพียง30กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่ถนนจากแจ้ซ้อนไปบ้านแม่แจ๋มคดเคี้ยวขึ้นเขาไปตลอด แต่ก็ขับไปได้สบายๆ เพราะรถค่อนข้างน้อย และวิว 2 ข้างทางเป็นป่าและเขา เขียวขจีตลอดทาง
บ้านแม่แจ๋มเป็นหมู่บ้านเล็กๆตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาที่ล้อมรอบ ด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม เงียบสงบ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า1,000เมตร อากาศเย็นสบายตลอดปี บ้านแม่แจ๋มเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กมี 100กว่าหลังคาเรือน อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่คือการปลูกชาใบเมี่ยง
ด้วยสภาพภูมิอากาศที่มีความหนาวเย็นเหมาะสำหรับการปลูกพืชเมืองหนาว โครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ปลูกมะคาเดเมียซึ่งเป็นราชินีของถั่ว นอกจากมะคาเดเมียแล้วกาแฟก็ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ดีเช่นเดียวกัน กาแฟที่นี่เป็นพันธุ์อาราบิก้าซึ่งเหมาะกับภูมิอากาศที่นี่ที่ เพราะบ้านแม่แจ๋มมีอากาศหนาวเย็นและสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า1,000 เมตร ทำให้กาแฟแม่แจ๋มมีรสชาติกาแฟที่หอมกลมกล่อม
นอกจากชาวบ้านจะปลูกมะคาเดเมียและ กาแฟแล้ว ยังปลูกท้อ ชาเหมี้ยง สาลี่ พลับ สตรอเบอรี่ บ๊วย และเสาวรสอีกด้วย ทำให้บ้านแม่แจ๋มเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความหลากหลาย เช่น เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็ดอกบ๊วยบาน มีนาคม-เมษายน ก็มีทั้งเชอรี่และสตรอเบอรี่ เมษายน-กรกฎาคมก็มีสาลี่ พลับ ชาเหมี้ยง มะคาเดเมียที่มีตลอดปี
กรกฎาคม-กันยายนชมดอกเหมี้ยงบาน และลูกพลับ ส่วนเดือนตุลาคม- ต้นมกราคมก็มีท้อ กาแฟ มะคาเดเมีย และเสาวรส เรียกว่าไปช่วงไหนก็มีผลผลิตเกษตรให้ชมตลอด แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่ค่อยรู้จักที่นี่มากนัก หมู่บ้านแม่แจ๋มจึงเป็น unseen อีกแห่งของเมืองลำปาง นอกจากวัดเฉลิมพระเกียรติและโรงงานผลิตกาแฟ Bruno ที่ชนะการประกวดได้รับรางวัลเหรียญทองจากอิตาลีในปีนี้
ออกจากบ้านแม่แจ๋มเราก็ขับรถกลับตัวเมืองลำปาง ซึ่งเป็นเมืองแห่งเดียวในประเทศไทยที่เรายังคงสามารถนั่งรถม้าไปทำธุระหรือชมเมืองได้ นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองเก่าแก่กว่า 1,200 ปีอย่างเมืองลำปาง เราไปทานข้าวต้มร้าน ข้าวต้มอร่อยบาทเดียว (พิกัด N18.28935 E99.49586 )อาหารอร่อย ราคาไม่แพง
ระหว่างทานอาหารก็จะเห็นรถม้ารับส่งผู้โดยสารวิ่งผ่านไปมา นับว่าแปลกตาดี หลังจากทานข้าวต้มเสร็จแล้ว เราก็เดินข้ามถนนลงไปเที่ยว กาดกองต้า ซึ่งจะมีถนนคนเดินทุกวันเสาร์และอาทิตย์
เมืองลำปางในอดีตเป็นหัวเมืองสำคัญของตลาดล้านนา เป็นเมืองท่าค้าขายและเส้นทางการลำเลียงสินค้าเส้นทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้าจากเหนือลงไปใต้เมืองล้านนาลงไป หรือนำสินค้าจากใต้ขึ้นมาขายที่เมืองเหนือ ล้วนใช้การล่องเรือมาตามแม่น้ำสายหลัก ล่องเข้าลำน้ำวังสุดทางที่เขลางค์นครหรือนครลำปางที่ท่านำ้ใหญ่เชิงสะพานรัษฎาฯ ใกล้กาดกองต้า
กาดกองต้าจึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ซื้อขายแลกเปลี่ยนและกระจายสินค้าไปตามหัวเมืองต่างๆ กาดกองต้าจึงคับคั่งไปด้วยพ่อค้าร่ำรวยจากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย พม่า จีนและฝรั่ง การผสมผสานทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ บ้านเรือนสิ่งก่อสร้างที่มีทั้งเรือนแบบไทยภาคกลาง ไทยล้านนา พม่า จีน และชาติตะวันตก
ปัจจุบันแม้ว่ากาดกองต้าจะไม่ได้มั่งคั่งจอแจเหมือนอดีต แต่ก็เป็นชุมชนเก่าริมแม่น้ำที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง มีบ้านเรือนที่มีสถาปัตยกรรมหลากหลายสวยงามคู่เมืองลำปางที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชม ถ้ามาลำปางแล้วไม่ได้นั่งรถม้าและไม่ได้มาเที่ยวกาดกองต้าก็เท่ากับมาไม่ถึงลำปาง
สถาปัตยกรรมที่หลากหลายของกาดกองต้า
ไปเที่ยวกาดกองต้า อย่าลืมแวะชมหอศิลป์ลำปาง อาคารนี้ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา เรือนไม้เก่าแก่แห่งนี้มีอายุ 101 ปีสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 และได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2520
อัลบั้มภาพ 53 ภาพ