เปิดประตูสู่อีสาน กับศาสนาสถาน ปราสาทหินพิมาย

เปิดประตูสู่อีสาน กับศาสนาสถาน ปราสาทหินพิมาย

เปิดประตูสู่อีสาน กับศาสนาสถาน ปราสาทหินพิมาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ถือเป็นประตูเมืองของภาคอีสาน ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 259 กิโลเมตร มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศและมีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ระหว่าง 150-300 เมตร มีเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวยาวทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนบริเวณตอนล่างค่อนไปทางเหนือและตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม โดยมีลำตะคองและลำน้ำสาขาอื่นๆ ไหลหล่อเลี้ยงบริเวณด้านเหนือของเมือง และเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำสำคัญสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือแม่น้ำมูล

และด้วยความที่โคราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายทั้งอุทยานแห่งชาติฯ ป่าเขาลำเนาไพร แม่น้ำลำธาร ตลอดจนวัดวาอาราและโบราณสถานสำคัญต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ครั้งนี้เราขอพาคุณผู้อ่านมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของศาสนสถาน ปราสาทหินพิมาย หรืออุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งถือว่าเป็นปราสาทหินในนิกายมหายานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในหลายปราสาทหินที่ปรากฏหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ขอมโบราณทิ้งให้เห็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มากเพียงใดอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ที่ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งห่างจากตัวเมืองโคราชไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 60 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 115 ไร่ ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีอายุราว1,000 ปี เป็นปราสาทขอม (ศาสนสถาน, วัด หรืออาคารเรือนยอดสำคัญที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพ) มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าชื่อ พิมาย มากจากคำว่า วิมายะ หรือวิมายะปุระ เป็นชื่อเมืองที่ปรากฏในศิลาจารึก

ภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานและศิลปะบ่งบอกว่า ปราสาทนี้เริ่มสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยพระเจ้าศรีชัยวีรวรมัน (พ.ศ.1551) ในฐานะเทวสถานของพราหมณ์ มีรูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด และได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทหินพิมายเป็นโบราณสถาน และได้จัดตั้งเป็น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2532 โดยได้ดำเนินการปรับปรุงจัดตั้งถึง 13 ปี ร่วมมือกันระหว่าง กรมศิลปากร และประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 - 2532 ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานฯ เมื่อเดินผ่านทางเข้าด้านขวามือจะเป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีข้อมูลและแผนผังในการเดินเที่ยวชมบอกความสำคัญของแต่ละจุด พร้อมทั้งยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้นแก่นักเที่ยว สร้างความเข้าใจในการเข้าชม

โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

1. พลับพลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นสถานที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่างๆ

2. สะพานนาคราช บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทราย มีผนังเป็นรูปกากบาท ยกสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร อันเป็นลักษณะนิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่า "เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินี้สืบกันต่อมาในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ

3. ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วอยู่ในแนวตรงกันทั้งหมด 4 ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้ อยู่ตรงกลางของกำแพง ส่วนทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะค่อนไปทางทิศเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า

4. ชาลาทางเดิน เมื่อผ่านซุ้มประตูด้านทิศใต้เข้ามา จะเป็นลานชั้นนอกของปราสาท จะเห็นแนวทางทอดไปยังประตูกลางของซุ้มประตูระเบียงคด แนวทางเดินนี้ก่อด้วยหินทราย ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก เป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางเดินมีลักษณะเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้องรองรับด้วยเสาไม้ซึ่งผุพังไปหมดแล้ว

5. บรรณาลัย ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอกระหว่างซุ้มประตูกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นอาคารขนาดเดียวกัน 2 หลัง สร้างเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกสูงก่อด้วยหินทรายกั้น
เป็นห้องยาวตลอดแนว จัดเป็นอาคารขนาดใหญ่ เชื่อว่าเป็น "บรรณาลัย" ซึ่งหมายถึงสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา

6. สระน้ำ ตั้งอยู่บริเวณทั้งสี่ทิศของลานกำแพงปราสาทชั้นนอก เดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ ซึ่งได้ย้ายไปตั้งใหม่นอกปราสาทแล้ว คือ วัดสระเพลง วัดพระปรางค์ใหญ่ วัดโบสถ์ และวัดพระปราค์น้อย ซึ่งสระหล่านี้น่าจะถูกขุดขึ้นเพื่อประโยชน์ของวัดในการใช้อุปโภคและบริโภค ถูกสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย

7. ซุ้มประตูและระเบียงคด เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธานระเบียงคดมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วคือ มีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางของกำแพงทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ซึ่งปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญที่ซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ คือ รอยจารึกบริเวณกรอบประตูห้องกลางด้านทิศตะวันออกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร ระบุชื่อ "กมรเตงชคตวิมาย" และ กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพที่สำคัญชื่อ "กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย" ตรงกับ พ.ศ.1651 ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูงและพระนามพระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าธรณีนทวรมันที่ 1

8. ปราสาทประธาน ภายในลานชั้นในซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารศาสนสถานหลายองค์ด้วยกัน ที่ตั้งอยู่ตรงกลางลานก็คือ ปราสาทประธาน ถือเป็นจุดศูนย์กลางและสำคัญที่สุด สร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่นๆ ที่มักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2ส่วน คือ มณฑป และเรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่างๆ เช่น หน้าบันทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องราวรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นด้านทิศใต้จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า "ห้องครรภคฤหะ" เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ บริเวณพื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร

9. พลับพลา ภายในลานชั้นในทิศตะวันออกของปราสาทประธาน มีฐานอาคารก่อด้วยหินทราย รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม เว้นช่องว่างตรงกลางเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านที่หันหน้าเข้าสู่ปราสาทประธานทำเป็นมุขยื่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้คงใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

10. หอพราหมณ์ เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกับปราสาทหินแดง ได้ค้นพบศิวลึงค์ขนาดย่อมทำด้วยหินทราย เชื่อว่าอาคารหลังนี้น่าจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์

11. ปรางค์หินแดง สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือมีทับหลังทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหาภารตะ ตอน กรรณะล่าหมูป่า

12. ปรางค์พรหมทัต ตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประตูเป็นมุขยื่นสี่ทิศ ภายในองค์ปรางค์พบประติมากรรม 2 ชิ้น คือ ประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิสลักด้วยหินทราย สันนิษฐานว่า เป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านมักเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่า สลักด้วยหินทราย ส่วนศรีษะและแขนหักหายไปเชื่อว่าเป็นรุปของพระนางชัยราชเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้ จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย


TIPS การเดินทาง
1. รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ขับมาตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ระยะทาง 259 กิโลเมตร ถึง จ.นคราราชสีมา ขับตรง มาถึงแยกตลาดแค เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 อีก ประมาณ 10 กิโลเมตร รวมระยะทางถึง อ.พิมาย 319 กิโลเมตร

2. รถโดยสารสาธารณะ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสาร กรุงเทพฯ (จตุจักร) - นครราชสีมา ทุกวัน สอบถามราย ละเอียดและตารางเดินรถได้ที่ Call center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)

• อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย บัตรราคา 20 บาท ชาวต่างประเทศ บัตรราคา 100 บาท

• ขอบคุณข้อมูลจาก กรมศิลปากร อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 30110 โทร.0 4447 1568

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook