มงคลชีวิตสักการะบูชาพระธาตุสี่เมือง บนแผ่นดินอีสาน

มงคลชีวิตสักการะบูชาพระธาตุสี่เมือง บนแผ่นดินอีสาน

มงคลชีวิตสักการะบูชาพระธาตุสี่เมือง บนแผ่นดินอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เส้นทาง "เลาะเลี้ยว..เที่ยวพอเพียง" ครั้งนี้เราจะเดินทางไป แผ่นดินอีสานกลาง ถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งโบราณกาล ตามตำนานพระอุรังคธาตุ ตำนานพระเจ้าเหยียบโลก และพงศาวดารเมืองเหนือ ต่างกล่าวถึงสถานที่ศักดิ์ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้เสร็จมาประดิษฐาน ดังคำบอกเล่าที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึก ใบเสมา พระธาตุเจดีย์ ซึ่งมีความเก่าแก่นับพันปี สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระอุรังคธาตุ เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ สิ่งที่นำมาซึ้งความเจริญให้ชีวิตพบเจอแต่ความรุ่งเรือง ณ " เมืองตักสิลาแห่งอีสาน มาถึงสิบเอ็ดประตูเมืองงาม สาเกตนคร เยี่ยมชมเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองเสียงแคนดอกคูน "

จังหวัดมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบและเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ชื่อว่าเป็น "ตักสิลาแห่งอีสาน" และถือเป็นเมืองแห่งโบราณคดียาวนานมาหลายร้อยปี มาถึงอำเภอนาดูน บ้านนาดูน เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่นและที่สำคัญยิ่งก็ คือ การขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี ในเนื้อที่ 902 ไร่ รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง พระธาตุนาดูนพุทธมณฑลอีสาน อานิสงส์ที่ได้รับ " เพิ่มพูนบารมี ศูนย์รวมความดี บารมีแดนอีสาน" รูปลักษณะพระธาตุนาดูน จำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปทวาราวดี ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งหมด ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหิน บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายบัว เสาบัวต่าง ๆ พร้อมจำลองแบบ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ขุดพบมาประดิษฐานพระธาตุ และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐาน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยพรรณไม้สวนสมุนไพร สวนรุกขเวช พิพิธภัณฑ์นครจำปาศรี เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและพัฒนาการของเมืองโบราณนครจำปาศรี ชมความสวยงามของ พิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน จำลองบ้านผู้ไทย บ้านประมง บ้านเครื่องมือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ และพิพิธภัณฑ์ทางศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา

จาก " ตักสิลาแห่งอีสาน จังหวัดมหาสารคาม " บนถนนทางหลวงหมายเลข 2045 ผ่านอำเภอศรีสมเด็จ นำพาเราเดินทางไป " สิบเอ็ดประตูเมืองงาม จังหวัดร้อยเอ็ด " เคยเป็นเมืองใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ชื่อว่า "สาเกตนคร" มีเมืองขึ้นถึงสิบเอ็ดเมือง ซึ่งในสมัยโบราณนิยมเขียนสิบเอ็ดเป็น 101 คือ สิบกับหนึ่ง ทำให้มีทางเข้าสู่เมืองถึงสิบเอ็ดประตู และเป็นดินแดนที่อยู่ในเขตอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ มาถึงอำเภอศรีสมเด็จ ตำบลศรีสมเด็จ บ้านป่ากุง เป็นที่ตั้งของ "วัดป่ากุง" วัดนี้มีชื่อทางการว่า "วัดประชาคมวนาราม" สร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร มีเจดีย์ขนาดใหญ่ทำจากหินทรายธรรมชาติเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เหตุที่หลวงปู่ศรี ท่านมีดำริให้สร้างพระเจดีย์หิน เนื่องจากเมื่อพ.ศ. 2531 หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ มหาเจดีย์บุโรพุทโธ เกิดความประทับใจในความยิ่งใหญ่อลังการของมหาเจดีย์แห่งนี้ จึงได้เล่าให้คณะศิษย์ฟัง ต่อมาใน ปี พ.ศ 2535 การก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 มีพิธียกยอดเจดีย์ทองคำแท้หนัก 101 ขึ้นประดิษฐาน ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุอยู่จุดศูนย์กลางของเจดีย์ ผนังแกะสลักเรื่องราวพระพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก รวมทั้งประวัติของหลวงปู่ศรีและรูปบูรพาจารย์

ตื่นนอนรับแสงอรุณของเช้าวันใหม่เรายังคงอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางไปอำเภอหนองพอก ตำบลผาน้ำย้อย บ้านโคกกลาง ณ วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ชมความงดงามของ "พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน" บนยอดผาน้ำย้อย กราบนมัสการ อานิสงส์ที่ได้รับ "เสริมมงคลให้ชีวิต อลังการพระมหาเจดีย์ชัยมงคล เสริมส่งมงคลท่วมท้นชัยชนะ ด้วยพุทธานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า" พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ดำเนินการสร้างโดย "พระอาจารย์ศรี มหาวิโร" ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ออกแบบโดยกรมศิลปากร ให้มีลักษณะเป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่วิจิตรงดงามงานพุทธศิลป์ ใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสานการผสมกันระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม ใช้สีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศสร้าง ในเนื้อที่ 101 ไร่ กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร รวมยอดทองคำเป็น 109 เมตร
ภายในองค์พระมหาเจดีย์ชัยมงคล แต่ละชั้นมีความตั้งใจตกแต่งให้เหมือนอยู่บนวิมานแดนสวรรค์ ชั้น1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่างๆ ใช้สำหรับทำพิธีทางศาสนา บำเพ็ญบุญ ประกอบด้วยรูปหล่อพระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ชั้น2 เป็นห้องโถงสถานที่จัดการประชุม ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลายไทย ชั้น3 เป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานรูปเหมือนสลักหินทรายของพระคณาจารย์ ปราชญ์อีสานในอดีต และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโนในจำนวน 101 องค์ ชั้น4 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสมถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรมมา และมีระเบียงให้เดินชมวิวทิวทัศน์บริเวณโดยรอบองค์เจดีย์ เคียงข้างทัศนียภาพเทือกเขาเป็นฉากหลังอันสวยงาม ชั้น5 เป็นพิพิธภัณฑสถานซึ่งจัดแสดงจัดแสดงประวัติ พร้อมเก็บรวบรวมอัฏฐะบริขารของ พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ก้าวเดินขึ้นไปผ่านบันไดเวียน 119 ขั้น มาถึงชั้น 6 มีลักษณะห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัฏฐิธาตุพระอรหันต์องค์ต่างๆ

จาก " สิบเอ็ดประตูเมืองงาม จังหวัดร้อยเอ็ด " บนถนนทางหลวงหมายเลข 2116 ผ่านอำเภอร่องคำ เข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข 214 ผ่านอำเภอกมลาไสย นำพาเราเดินทางไป "เยี่ยมชมเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์" เมืองโบราณอายุกว่าพันปี แหล่งขุดค้นพบซากไดโนเสาร์แหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ มีชื่อเสียงในการแสดงดนตรีพื้นเมืองโปงลาง โดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นถิ่นผ้าไหมแพรวาอันเลื่องชื่อ มาถึง อำเภอกมลาไสย ตำบลหนองแปง กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา กราบนมัสการ "พระธาตุยาคู" เจดีย์เมืองฟ้าแดดสงยางสมัยทวารวดี อานิสงส์ที่จะได้รับ " ร่มเย็นเป็นสุข สักการะพระธาตุโบราณ เบิกบานร่มเย็น อัศจรรย์บูชาพระธาตุโบราณ ชีวิตเบิกบาน สมบูรณ์พูนสุข " คำว่า "ญาคู" ภาษาอีสาน หมายถึง พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในวัด ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า " พระธาตุยาคู " เป็นหนึ่งในโบราณสถานเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่างๆมากมายในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง มีหลักฐานว่าแต่ละส่วนของพระธาตุยาคู สร้างขึ้นใน 3 สมัย ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ โดยส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อ มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นส่วนฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างในสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิม ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ เนื่องด้วยเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดสงยางที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสม ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม จึงนับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 ทุกๆ ปีในเดือนพฤษภาคม ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้าน

ปิดท้ายกิจกรรมของวันนี้เราเดินทางไปชม พิพิธภัณฑ์สิรินธร ตั้งอยู่ที่เชิงเขาภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดสักกะวัน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล (หลวงพ่อบ้านด่าน) พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยทวารวดี ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และในบริเวณนี้เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก สาเหตุที่พบไดโนเสาร์ในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก มีการสันนิษฐานกันว่า เป็นเพราะสภาพแวดล้อมแถบนี้ในสมัยโบราณมีภูมิประเทศเป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีแม่น้ำไหลผ่าน จนเป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์และสัตว์ดึกดำบรรพ์ เมื่อสัตว์เหล่านั้นตายลง จึงถูกตะกอนแม่น้ำกลบฝังไว้ และกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลในที่สุด รวมทั้งโครงกระดูกไดโนเสาร์ทั้งตัวที่สมบูรณ์ที่ฝังอยู่ในพื้นดินและได้รับการขุดแต่งโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี พิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า " พิพิธภัณฑ์สิริธร" การจัดแสดงภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การกำเนิดโลก ส่วนที่ 2 การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ส่วนที่ 3 เป็นนิทรรศการหมุนเวียน พิพิธภัณฑ์สิรินธร ได้รับรางวัลอุทสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2551 ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือยอดเยี่ยม

"เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ " บนถนนทางหลวงหมายเลข 209 ผ่านอำเภอเชียงยืน นำพาเราเดินทางไป "เมืองเสียงแคนดอกคูน จังหวัดขอนแก่น" ศูนย์กลางความรู้และความเจริญต่างๆ มากมายเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของประเทศและเอเชียอาคเนย์เคยเป็นชุมชนโบราณ ที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ และซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ อายุเกือบ 200 ล้านปี มาถึงอำเภอเมือง บนถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร กราบนมัสการพระมหาธาตุแก่นนคร ที่ประดิษฐาน "พระบรมสารีริกธาตุกลางบุษบก" อานิสงส์ที่ได้รับสักการบูชาพระธาตุเก้าชั้น "เปรียงดังบูชาองค์พระพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง" พระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น แห่งวัดหนองแวง จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ มหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น พระมหาธาตุแก่นนครเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก่ออิฐ ถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมเรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานปากแห ภายในรวบรวมพระธรรมคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา แต่ละชั้นโดดเด่นด้วยลวดลายของบานประตู และหน้าต่างแกะสลัก บอกเล่าเรื่องราวเป็นภาพชาดก ภาพพุทธประวัติ ภาพแกะสลักรูปพรหมสิบหกชั้น ในส่วนชั้นบนสุดสามารถชมทัศนียภาพของเมืองขอนแก่นได้รอบทั้ง 4 ทิศมีหมู่บ้านล้อมรอบสามด้าน และมีบึงแก่นนครอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด

เราเดินทางไปอำเภอน้ำพอง ตำบลบ้านขาม บ้านขาม มาถึงวัดเจติยภูมิ กราบนมัสการ "พระธาตุขามแก่น" ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่แผ่นดินอีสานอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "เมืองขอนแก่น"ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อานิสงส์ที่จะได้รับ "เรื่องร้ายกลายเป็นดีดุจดังแก่นขามตายแล้วฟื้น รักยั่งยืน โรคภัยไม่มี หลีกลี้ห่างหาย" ภายในเจดีย์ นอกจากบรรจุ "พระอังคารของพระพุทธเจ้า"แล้ว ยังได้บรรจุ "คัมภีร์นวโลกุตตรธรรม" และคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า "บวรหคุณ" ไว้อีกด้วย พระธาตุขามแก่น มีประวัติความเป็นมาเรื่องเล่าสืบขานกันมาช้านาน หลังจากพระยาหลังเขียว ได้ตกลงเห็นดีในการก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยเงินทอง แก้วแหวนแสนสารพัดนึก โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์ เข้าบรรจุไว้ในพระธาตุนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จ พระยาหลังเขียวก็จัดการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น บริเวณใกล้ๆกับพระธาตุนั้น มีกำแพงทั้ง 4 ทิศ ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็จัดการสร้างวัดวาอารามขึ้น คือ วิหารและพัทธสีมา เคียงคู่กับพระธาตุ เหตุการณ์เป็นดังนี้ จึงปรากฎนาม " พระธาตุขามแก่น" และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ได้ดับขันธ์ปรินิพพานในสถานที่นี้ทุกองค์ สรีระธาตุของท่านทั้ง 9 ก็ได้บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุองค์ใหญ่ 

ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงนิยมเรียกพระนามพระธาตุบ้านขามว่า "ครูบา ทั้ง 9 เจ้ามหาธาตุ" ส่วนบริเวณองค์พระธาตุขามแก่นได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรภายใต้การควบคุมของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 พระธาตุขอนแก่น มีลักษณะเป็นพระธรรมเจดีย์ (ตามลักษณะเจดีย์สี่แบบ คือ พระธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ พระธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์ ) จัดอยู่ในกลุ่มพระธาตุฐานต่ำแบบพื้นบ้านบริสุทธิ์ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในสมัยต่อมาจนมีรูปแบบและทรวดทรงที่แปลกออกไป ปัจจุบันพระธาตุขามแก่นมีลักษณะประกอบด้วยฐานบัวคว่ำสองชั้น ลักษณะโค้งย้วย เหลือขึ้นไปเป็นบัลลังค์ ต่อด้วยเรือนธาตุและยอดธาตุ ซึ่งย่อมุมกลีบมะเฟือง จากนั้นจึงเป็นสวนปลียอดและฉัตร การปรับปรุงทาสีทององค์พระธาตุ ขยายบริเวณกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ห่างจากองค์พระธาตุให้กว้างออกไป ปรับปรุงบริเวณทางเดินด้านหน้าองค์พระธาตุให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ทุกวันเพ็ญ15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองพระธาตุขามแก่น เป็นงานประจำปี การสักการะ ใช้ธูป เทียน ดอกไม้ ขันแปดเก้า เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดขอนแก่น

จังหวัดขอนแก่น ศูนย์รวมผ้าไหม เราจะออกเดินทางไปชม "ผ้าไหมชนบท" อำเภอชนบท มีชื่อเสียงด้านการทำผ้าไหม จึงมีคำขวัญอำเภอชนบท ว่า "ชนบทเมืองไหม เที่ยวไปภูระงำ น้ำศักดิ์สิทธิ์ภูหัน ดูตะวันหนองกองแก้ว" การทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นสืบทอดการทอผ้ากันตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า การถ่ายทอดฝีมือการทอผ้า ก็จะมีหลายกลุ่ม ลวดลายก็จะแตกต่างกันไปตามสมัยนิยม ตามความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ละหมู่บ้านจึงจะเห็นการคิด การพัฒนาเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ตรงกันข้ามการพัฒนาลายผ้าก็ยิ่งสวยงาม สีสรร รูปแบบก็มีการปรับปรุงให้เหมาะกับยุดสมัยตามความนิยม ให้เข้ากับการใช้งานของแต่ละกลุ่มอาชีพ กลุ่มสังคมที่แตกต่างกันไปลวดลายผ้าจึงมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ผ้าไหมที่ผลิตจากกลุ่มทอผ้าไหมบ้านชนบท เป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีสีสัน ลวดลาย สวยงาม ประณีต มีความหลากหลาย ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ( มผช.) มีการควบคุมคุณภาพการผลิต สีไม่ตก และมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และปรับให้ทันสมัยอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปผ้าไหม เป็นชุดสำเร็จรูป เหมาะสำหรับวัยรุ่น สีสันสดใส ใส่ได้ทุกโอกาส เสริมสร้างบุคลิกภาพ ให้สง่างาม ในชุดผ้าไหมอันสวยงาม

 

จังหวัดขอนแก่นก็มีไดโนเสาร์ด้วยนะเราเดินทางไป อำเภอภูเวียง มาถึง ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติภูเวียง (Phu Wiang Dinosaur Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งหนึ่ง โดยเน้นที่การจัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง มีการจัดองค์ประกอบพื้นที่ดำเนินงาน ส่วนหนึ่งแสดงเรื่องราวของการขุดค้นพบไดโนเสาร์ ที่จังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง สำรวจและวิจัย ส่วนอนุรักษ์และทำเทียมชิ้นส่วนตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ ส่วนคลังตัวอย่าง ห้องสมุด ส่วนนิทรรศการถาวร ส่วนบริหารจัดการ เพื่อเผยแพร่ผลงานของกรมทรัพยากรธรณีให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดโลก กำเนิดหิน แร่ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ และทางธรรมชาติของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้ความรู้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจ ส่วนพื้นที่จุดให้บริการได้แก่ โรงอาหาร ร้านขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม ร้านขายของที่ระลึก และลานจอดรถ รวมถึงห้องประชุมขนาด 140 ที่นั่ง พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยามีการจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ และรวมถึงหน่วยงานอื่นๆอีกด้วย

สามารถสอบถามดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ 1600 ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร 02 -250 -5500 โทรสาร 02 -250 -5511 หรือ เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย โทร 1672 E-mail : info@tat.or.th Website : www.tourismthailand.org

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook.. ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ มงคลชีวิตสักการะบูชาพระธาตุสี่เมือง บนแผ่นดินอีสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook