แบตติ้ง เซ็นเตอร์ : กรงซ้อมหวดเบสบอลยอดนิยมที่คนญี่ปุ่นใช้มากกว่าแค่ออกกำลังกาย

แบตติ้ง เซ็นเตอร์ : กรงซ้อมหวดเบสบอลยอดนิยมที่คนญี่ปุ่นใช้มากกว่าแค่ออกกำลังกาย

แบตติ้ง เซ็นเตอร์ : กรงซ้อมหวดเบสบอลยอดนิยมที่คนญี่ปุ่นใช้มากกว่าแค่ออกกำลังกาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อตะวันคล้อยต่ำลาลับขอบฟ้า ก็เป็นสัญญาณว่าเวลาแห่งการทำงานได้สิ้นสุดลง บางคนอาจตรงดิ่งกลับบ้าน บางคนอาจแวะร้านประจำเพื่อสังสรรค์ ในขณะที่บางคนอาจกำลังง่วนกับการทำโอที

แต่สำหรับคนญี่ปุ่น นอกจากร้านเหล้าอิซากายะ หรือร้านราเมงร้อน ๆ พวกเขายังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงเย็นของวันปกติ หรือช่วงกลางวันของสุดสัปดาห์ 

สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “แบตติ้ง เซ็นเตอร์” (ฺBatting Center) หรือที่ซ้อมหวดลูกเบสบอล ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงโตเกียว รวมในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น ที่คาดกันว่าอาจจะมีมากถึง 500 แห่งทั่วประเทศ  

สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญอย่างไร เพราะเหตุใดจึงเป็นที่นิยมสำหรับคนทำงาน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

เบสบอลทุกลมหายใจ 

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศแห่งเบสบอล เพราะหลังการนำเข้ามาของ ฮอเรซ วิลสัน ครูสอนหนังสือชาวอเมริกันในปี 1872 หรือในช่วงรัชสมัยเมจิ กีฬาชนิดนี้ ก็กลายเป็นการละเล่นขวัญใจของชาวญี่ปุ่น มาจนถึงปัจจุบัน 


Photo : asia.nikkei.com

ที่ญี่ปุ่น คุณจะสามารถพบเห็นสนามเบสบอลกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมของเมือง ไม่ว่าจะเป็นตามโรงเรียน สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ว่างริมแม่น้ำ ก็มักถูกดัดแปลงให้เป็นลานสำหรับกีฬาชนิดนี้อยู่เสมอ

หรือหากใครเคยผ่านตามังงะญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน หรือ ชินจัง ก็มักจะพบเห็นเบสบอลสอดแทรกอยู่ในเรื่องอยู่บ่อยครั้ง ราวกับว่ามันคือส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา  

นอกจากนี้ การแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติประจำหน้าร้อน หรือที่รู้จักกันว่า “โคชิเอ็ง” ยังเป็นทัวร์นาเมนต์สมัครเล่น ที่ได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นมากที่สุด โดยในแต่ละปี จะมีผู้คนหลายหมื่นไปจนถึงครึ่งแสน แออัดกันเข้าไปชมการแข่งขันในสนามโคชิเอ็ง สเตเดียม 

ในขณะที่นัดชิงชนะเลิศของโคชิเอ็ง นอกจากผู้ชมที่เข้ากันมาเต็มความจุ 60,000 คน ก็ยังมีผู้ชมอีกหลายล้านคนทั่วประเทศ ที่เฝ้าชมผ่านการถ่ายทอดสด โดยบางบริษัทถึงขั้นหยุดงานชั่วคราว เพื่อมาชมการแข่งขันในช่วงไคล์แม็กซ์เลยทีเดียว  


Photo : www.baseball-fever.com

“ชาวญี่ปุ่นพบว่าการดวลกันแบบตัวต่อตัวระหว่างคนขว้างและคนตี คล้ายกับการใช้จิตวิทยาในกีฬาอย่างซูโม หรือศิลปะการต่อสู้” โรเบิร์ต ไวท์ติง ผู้เชี่ยวชาญด้านเบสบอลญี่ปุ่นอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่น 

“มันเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่แยกออกเป็นสอง และความกลมกลืนระหว่างความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาฯ จึงเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่จะใช้กำหนดคาแร็คเตอร์ของชาติ” 

แม้ว่าในช่วงหลังจะมีฟุตบอล มาแย่งส่วนแบ่งตลาด หลังการเกิดขึ้นของเจลีกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990  แต่จากผลสำรวจของหน่วยวิจัยกลางในปี 2018 ระบุว่าเบสบอล ยังคงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของแดนอาทิตย์อุทัย โดยมีคนเลือกมันเป็นอันดับ 1 ถึง 48.1 เปอร์เซ็นต์   

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ของชาวญี่ปุ่น ที่มีต่อเบสบอล ในขณะเดียวกัน ความชอบของพวกเขา ยังมีส่วนทำให้ธุรกิจหนึ่ง เติบโตอย่างมาก 

ธุรกิจนั้นคือ “แบตติ้ง เซ็นเตอร์”

  ลานประลองฝีมือ  

หากให้คำจำกัดความ แบตติ้ง เซ็นเตอร์ ก็คือสถานที่ฝึกตีลูกเบสบอลด้วยเครื่องยิงอัตโนมัติ แบบเสียค่าบริการ  


Photo : www.battingcenter.com

แม้ว่าคนไทย อาจะไม่ได้คุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้ แต่สำหรับประเทศที่เบสบอลได้รับความนิยม อย่างญี่ปุ่น แบตติ้ง เซ็นเตอร์ แทบจะกระจายตัวอยู่ทั่วเมือง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ทั้งโตเกียว และ โอซากา 

อันที่จริง สิ่งนี้อยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน จากการรายงานของ Weekly Playboy นิตยสารรายสัปดาห์ยอดนิยมของแดนอาทิตย์อุทัยระบุว่า แบตติ้ง เซ็นเตอร์ เปิดทำการเป็นครั้งแรกในโตเกียวมาตั้งแต่ปี 1965 หรือเพียงหนึ่งปีหลังโตเกียวโอลิมปิก

ก่อนที่ในเวลาต่อมามันจะเริ่มเป็นที่แพร่หลาย ด้วยพื้นฐานความชื่นชอบเบสบอลของคนญี่ปุ่น และได้รับความนิยมสูงสุดหลังจากนั้นไม่นาน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

“ความนิยมของแบตติ้ง เซ็นเตอร์ สูงสุดในช่วงที่บริษัทเริ่มต้นดำเนินกิจการ หรือต้องย้อนไปในปี 1966” ยามาโมโตะ แห่งบริษัท Kinki Kresco ผู้ผลิตระบบแบตติงเซ็นเตอร์กล่าวกับ Stripes 

โดยทั่วไปแล้ว แบตติ้ง เซ็นเตอร์ จะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ จะเป็นพื้นที่ตีลูกเรียงตัวเป็นแนวยาวคล้ายกับสนามฝึกไดร์ฟกอล์ฟ โดยมีตาข่ายกั้นแต่ละคนออกจากกันจนเหมือนกับกรง ซึ่งผู้เล่นจะอยู่ประจำกรงคอยตีลูกเบสบอล ที่ถูกยิงออกมาจากเครื่องยิงอัตโนมัติ 


Photo : blog.livedoor.jp

ในขณะที่วิธีเล่นก็เพียงจ่ายค่าบริการ ซึ่งอยู่ราว 300-400 เยน (90 บาท-120 บาท) ต่อ 20-30 ลูก แล้วสนามจะให้ไม้และหมวกป้องกันมา (บางสนามอาจมีรองเท้าผ้าใบให้ยืม) จากนั้นให้เราเลือกกรงที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งแบ่งเป็นกรงสำหรับคนตีมือขวา กรงคนตีมือซ้าย โดยแต่ละกรงยังแบ่งความเร็วไปตามระดับความยากง่าย และต้องเลือกลูกสูงหรือต่ำตามความถนัด 

อย่างไรก็ดี สำหรับสนามที่เป็นเครื่องรุ่นใหม่หน่อย ผู้รับบริการจะมีตัวเลือกที่มากกว่าเดิม (แต่มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย) เพราะนอกจากลูกสูง-ต่ำแล้ว ผู้เล่นยังสามารถเลือกได้ว่าจะให้เครื่องขว้างบอลมาด้วยความเร็วเท่าไร โดยมีตั้งแต่ระดับง่ายสุด 90 กิโลเมตรไปจนถึงระดับยากสุดที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แถมยังมีภาพแอลอีดี รูปพิชเชอร์ ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถกะจังหวะได้  

นอกจากนี้ หากต้องการความท้าทายเพิ่มเติม ผู้เล่นยังสามารถเลือกระดับที่เรียกว่า Henkakyu ที่ทำให้เครื่องขว้างบอลออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งลูกตรง ลูกโค้ง ลูกสไลค์ 

แต่ถ้ายังไม่สาแก่ใจ และรู้สึกว่าง่ายไปก็สามารถเลือกระดับนักสู้ (Jissen-kyu) ที่บอลจะถูกขว้างออกมาราวกับนักกีฬาอาชีพ โดยไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งระดับนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับกลางและระดับสูง

  
Photo : soranews24.com

ด้วยระบบที่ไม่ซับซ้อน รวมไปถึงความยากง่าย ที่มีให้เลือกสรร ทำให้แบตติ้ง เซ็นเตอร์ เข้าถึงแก่คนทุกเพศทุกวัย ที่มีใจรักเบสบอล และต้องการเสียเหงื่อ และกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมสำหรับคนญี่ปุ่น โดยบางแห่ง อาจต้องเข้าแถวต่อคิวยาวด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่สถานที่สำหรับฝึกซ้อม หรือออกกำลังกายเท่านั้น

ปลดภาระทางจิตใจ 

หากมองโดยทั่วไป แบตติ้ง เซ็นเตอร์ คือสถานที่สำหรับคนรักเบสบอล หรือมือใหม่ไว้ออกออกแรงเพื่อให้เลือดสูบฉีด เพราะการต้องเหวี่ยงไม้ 20-30 ครั้งต่อเซ็ต ทำให้ผู้เล่นได้เหงื่ออย่างแน่นอน

นอกจากนี้ การเหวี่ยงไม้ตีลูกเบสบอล  ยังทำให้ผู้เล่นได้ออกกำลังกายหลายส่วน โดยเฉพาะท่อนบน ทั้งข้อมือ แขน ไหล่ หลัง และสะโพก จึงทำให้มันเป็นสถานที่ออกกำลังกายในระยะเวลาสั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ดี นอกจากผู้ต้องการมาฝึกซ้อม หรือเรียกเหงื่อแล้ว แบตติ้ง เซ็นเตอร์ ยังเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับผู้ต้องการผ่อนคลายความเครียดอีกด้วย  

อย่างที่ทราบกันดี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรต้องเผชิญกับความเครียดอยู่เสมอ ด้วยสไตล์การทำงานที่หนัก และเอาจริงเอาจัง รวมไปถึงการมีมาตรฐานที่สูงมาก ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย 

จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2016 ระบุว่าญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 14 จาก 183 ประเทศ และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตของคนในช่วงอายุ 15-39 ปี ซึ่งหนึ่งในมูลเหตุสำคัญก็คือการทำงานหนักนั่นเอง 

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเอาจริงเอาจังเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยนโยบาย “ปฏิรูปการทำงาน” ด้วยการรณรงค์ ให้พนักงานบริษัท ทำงานน้อยลง และพักร้อนมากขึ้น หรือหากิจกรรมทำยามว่างที่นอกเหนือจากงาน

และแบตติ้ง เซ็นเตอร์ ก็เป็นเหมือนหนึ่งในตัวช่วยในครั้งนี้ เมื่อพนักงานบริษัทจำนวนมาก เลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งผ่อนคลายความเครียดที่เกิดจากหน้าที่การงาน 


Photo : hochi.news

“ในญี่ปุ่น แบตติ้ง เซ็นเตอร์ ไม่ได้ช่วยทำให้ตีโฮมรันได้ดีขึ้น แต่มันเอาไว้ผ่อนคลายความเครียด” ไบรอัน หนุ่มชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในญี่ปุุ่นอธิบายกับ NHK  

เพราะการซ้อมตีลูกเบสบอล ทำให้ผู้เล่นได้ปลดปล่อยความกังวล ได้เคลียร์สมองที่ตื้อตัน แถมการตีโดนลูกยังทำให้ผู้เล่น ภาคภูมิใจกับผลงาน ซึ่งถือเป็นการเรียกความมั่นใจที่อาจหายไปจากการทำงานกลับมาด้วย 

ไทจิ โยโคยามะ พิธีกรสถานีโทรทัศน์อาซาฮี คือหนึ่งในคนที่เลือกใช้แนวทางนี้ เขามักจะใช้เวลาว่าง แวะเวียนมาที่แบตติ้ง เซ็นเตอร์ เพื่อออกแรงให้เลือดสูบฉีดเพื่อปลดล็อคสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ 

“ผมมาที่นี่บ่อย ๆ ตอนที่อยากให้ร่างกายสดชื่น ผมสามารถลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด” พิธีกรสถานีโทรทัศน์อาซาฮี ซึ่งเป็นอดีตนักเบสบอลมัธยมปลายกล่าวกับ Walker  Plus 


Photo : www.timesclub.jp

ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันได้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ ที่พากันมาจับจองพื้นที่หวดลูกเบสบอลขับไล่ความเครียด และทำให้แบตติ้ง เซ็นเตอร์ คึกคักในช่วงเย็นหลังเลิกงาน และตอนบ่ายของวันเสาร์-อาทิตย์ 

“แม้ว่าเราจะเพิ่มกำลังการให้บริการของร้านเรา แต่จำนวนลูกค้าก็เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  หลัง 5 โมงเย็นของสุดสัปดาห์ จะเต็มไปด้วยเหล่าพนักงานบริษัทที่ยืนกันเรียงราย” มิจิอุระ โทโมมิ ผู้จัดการอุเมดะ แบตติ้งโดม ให้กล่าวกับ Walkerplus 

อย่างไรก็ดี มันเกือบจะมาไม่ถึงจุดนี้ 

 

ล้มลงและฟื้นขึ้นใหม่ 

แม้ว่าแบตติ้ง เซ็นเตอร์ จะกลายเป็นสิ่งที่คนยังพูดถึงในปัจจุบัน แต่ใช่ว่ามันจะรุ่งเรืองมาตลอด เพราะในช่วงทศวรรษที่ 2000 ธุรกิจนี้ก็เกือบล้มหายตายจากไปจากแผ่นดินญี่ปุ่น จากปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ


Photo : www.timesclub.jp

“ซัก 4-5 ปีก่อน บ่ายวันอาทิตย์ เราจะมีคน 40-50 คน ที่นั่งรอคิวเข้าไปเล่น แต่ตอนนี้ไม่มีแม้แต่คนเดียว” ไทระ คาวางุจิ พนักงานของ Kuko Batting Center ที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินนาโงยากล่าวกับ Japan Times เมื่อปี 2010 

“เราไม่อาจเอาชนะเศรษฐกิจตกต่ำได้” 

อย่างไรก็ดี มันก็กลับฟื้นกลับมาได้ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องขอบคุณกระแสป็อบคัลเจอร์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการสร้างภาพจำลองการขว้างของพิชเชอร์ ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถกะระยะได้ หรือ การที่สามารถเลือกระดับความเร็วและรูปแบบการขว้างที่หลากหลาย ที่ทำให้คนหันมาสนใจสถานที่แห่งนี้มากขึ้น 

ในขณะเดียวกัน กลวิธีในการดึงดูดลูกค้าแบบใหม่ ๆ และเป็นเอกลักษณ์ ทั้งการให้รางวัลแก่ผู้เล่นที่ตีลูกความเร็ว 142 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือมีรางวัลพิเศษ หากทำโฮมรันได้ ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้ไปต่อได้ 

นอกจากนี้ การมาถึงของรายการ Real Yakyu Ban ที่จับนักเบสบอลอาชีพ มาตีลูกจากเครื่องขว้างที่บังคับโดยเหล่านักแสดง ซึ่งมีจุดขายจากอาการหัวร้อนของผู้เล่นอาชีพ ยังทำให้ แบตติ้ง เซ็นเตอร์ ยังอยู่ในกระแสต่อไป

และทำให้สถานที่ซึ่งเป็นมากกว่าที่ออกกำลังกายแห่งนี้ของญี่ปุ่น เดินทางข้ามกาลเวลา และอยู่คู่กับสังคมชาวซามูไรมาจนถึงปัจจุบัน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook