เตือนซื้อของเล่นเด็กเปื้อนสารตะกั่ว

เตือนซื้อของเล่นเด็กเปื้อนสารตะกั่ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่แพทยสภา โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย น.พ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง อันตรายจากของเล่นเด็กและอุบัติเหตุในกทม. ว่า ปี 2551 ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับภาคีดำเนินการเก็บตัวอย่างของเล่นที่เล่นแล้วจากศูนย์พัฒนาเด็กสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 23 ศูนย์ มาทำการตรวจหาสารตะกั่ว พบว่า ของเล่นจาก 4 ศูนย์ มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนดที่ 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อีกทั้ง เก็บตัวอย่างของเล่นที่มีการวางขายหน้าโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 26 แห่ง พบว่า มีของเล่นจากหน้าโรงเรียน 4 แห่ง มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานกำหนด

น.พ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงปลายปี 2551 ราชวิทยาลัยฯ ได้ซื้อของเล่นราคาไม่สูงที่สามารถซื้อให้เด็กได้ง่ายทั้งจากห้างและตลาดทั่วไปในกรุงเทพฯ พิจิตร บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี จำนวน 126 ชิ้น ส่งตรวจคุณสมบัติทางกายภาพจำนวน 50 ชิ้น พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดจำนวน 9 ชิ้น โดยมีเสียงดังเกิน 75-85 เดซิเบลเป็นอันตรายต่อ

เซลล์ประสาทการได้ยิน 4 ชิ้น เส้นสายยาวเกินกว่า 30 เซนติเมตรมีความเสี่ยงต่อการพันรัดคอเด็ก 3 ชิ้น มีช่องรูระหว่าง 5-12 มิลลิเมตร เสี่ยงต่อนิ้วเด็กติดค้างในช่องรู 2 ชิ้น และมีขอบแหลมคม 1 ชิ้น รวมถึง ส่งตรวจคุณสมบัติทางเคมีโดยตรวจหาสารตะกั่วจำนวน 80 ชิ้น พบว่า มีสารตะกั่วสูงกว่าค่ามารตรฐานกำหนด 6 ชิ้น

ของเล่นที่มีค่าสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะอมของเล่นเข้าทางปาก จะทำให้สารตะกั่วเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูกและจะติดอยู่กับตัวเด็กไปจนโตแล้วจะละลายเข้าเนื้อเยื่อ จะทำให้มีผลต่อเซลล์สมอง หากได้รับซ้ำๆ จะก่อให้เกิดพัฒนาการที่ล่าช้าและระดับไอคิวต่ำ ดังนั้นในการเลือกซื้อของเล่นให้กับเด็ก โดยเฉพาะเพื่อเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ พ่อแม่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตรามอก.แม้จะไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็พอที่จะบรรเทาอันตรายได้ในระดับหนึ่ง น.พ.อดิศักดิ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook