โพลล์ คนใต้หนุน แก้ รธน.

โพลล์ คนใต้หนุน แก้ รธน.

โพลล์ คนใต้หนุน แก้ รธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ที่ห้องประชุมคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้มีการจัดโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย เรื่อง "รัฐธรรมนูญไทย ในวิกฤติสังคมปัจจุบัน" โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครอง คณาจารย์ นักศึกษา เยาวชน กว่า 100 คนร่วม เสวนา "วิวัฒนาการรัฐธรรมนูญไทย : การเมืองกับวิถีประชา" และ ร่วมเดินรณรงค์การรับรู้เกี่ยวกับประเด็นการเมืองและรัฐธรรมนูญไทย

โดย ดร. สมปอง รักษาธรรม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านการปกครองท้องถิ่นและการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช ได้ เปิดเผยผลสำรวจ เซ้าท์เทิร์นโพลล์ (SOUTHERN POLL) เรื่อง "กลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นภาคใต้กับการรับรู้รัฐธรรมนูญไทย" โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างตัวแทนเยาวชนภาคใต้ จำนวน 504 คน ตั้งแต่วันที่ 3 -7 ธ.ค. 2553

พบว่า กลุ่มวัยรุ่นภาคใต้ ได้ทราบว่ารัฐธรรมนูญไทยได้ประกาศใช้มาแล้วจำนวน 18 ฉบับร้อยละ 68.8 และกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ทราบ ร้อยละ 31.2 และ ไม่เคยอ่านเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญร้อยละ 65.1 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่กลุ่มวัยรุ่นเคยอ่านมีเพียงร้อยละ 34.9 และกลุ่มวัยรุ่นภาคใต้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบันว่า เป็นเรื่องไกลตัว ร้อยละ 50.4 เป็นเรื่องใกล้ตัว ร้อยละ 31.3 เป็นเรื่องของนักการเมือง ร้อยละ 10.3 และเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ร้อยละ 7.9 เยาวชนมีความคิดเห็นว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ร้อยละ 75.4 ส่วนกลุ่มวัยรุ่นภาคใต้ที่คิดว่าไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้งเพียง ร้อยละ 24.6

กลุ่มวัยรุ่นภาคใต้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอภิปรายของรัฐบาลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ร้อยละ33.1 และเป็น เป็นเรื่องของนักการเมือง ร้อยละ 23.8 คิดว่าประเทศชาติได้ประโยชน์ร้อยละ 23.6 คิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์มีเพียงร้อยละ 13.1 และ รู้สึกเฉยๆ ร้อยละ 6.3

กลุ่มวัยรุ่นภาคใต้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า ควรแก้ไขร้อยละ 70.4 และไม่ควรแก้ไข ร้อยละ 29.6

กลุ่มวัยรุ่นภาคใต้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ
ควรแก้ไขปัญหาความยากจน ร้อยละ 34.1
แก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจให้ชุมชน ร้อยละ 23.6
แก้ไขเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 20.2
และประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 10.9
การพัฒนาที่ยั่งยืน ร้อยละ 5.6
และเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 5.4

นอกจากนั้น กลุ่มวัยรุ่นภาคใต้ได้สะท้อนว่า ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 86.3 ส่วนไม่เข้าร่วมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง ร้อยละ 13.7

ดร.สมปอง ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่ได้จากการสำรวจ
1. ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจรัฐธรรมนูญไทยแก่เยาวชนอย่างจริงจัง เช่น กำหนดให้เป็นรายวิชาการเรียนการสอนของทุกระดับ

2. กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยกระบวนการทำประชามติโดยตรง

3. ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และแก้ไขความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนการกระจายอำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกันตัวแทนกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาพัฒนาภาคใต้ นำโดยนายสุกฤษฏิ์ จิรานรเศรษฐ ได้อ่านแถลงการณ์ "เรียกร้องความปกติสุขคืนสังคมไทย" 6 ข้อ ประกอบด้วย
1. ให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความสงบสุข กลับเข้าสู่สังคมไทยโดยเร็วที่สุด

2. รัฐบาล ต้องเร่งสร้างนโยบายเพื่อความสมานฉันท์ และ สามัคคี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด โดยเอาประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง

3. เน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต นักศึกษา ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาสังคมประเทศ

4. สถาบันการศึกษาต้องมีบทบาทมากขึ้นในการทำหน้าที่ให้การศึกษา มีเหตุผล คิดวิเคราะห์ ร่วมแก้ปัญหาสังคมประเทศชาติ

5. นโยบายรัฐต้องมุ่งตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง และ

6.สร้างเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดการแข่งขัน จุนเจือ ช่วยเหลือสังคม กระจายรายได้เพื่อสร้างเสถียรภาพความเข้มแข็งให้กับสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook