นพดลยันทักษิณไม่หวั่นไปสหรัฐถูกรวบตัว

นพดลยันทักษิณไม่หวั่นไปสหรัฐถูกรวบตัว

นพดลยันทักษิณไม่หวั่นไปสหรัฐถูกรวบตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"นพดล ปัทมะ" ยัน "ทักษิณ" ไม่หวั่นถูกรวบตัว ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจะเดินทางไปหรือไม่

ภายหลังจากมีกระแสข่าวที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ ซีเอสซีอี ที่มีสมาชิกประกอบไปด้วยวุฒิสมาชิก 9 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของรัฐสภาสหรัฐ 9 คน จากทุกพรรคการเมือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เพื่อไปให้การในฐานะพยานในการไต่สวนกลางเดือนธันวาคมนี้ ที่กรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์การปราบปราม และสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเรื่องนี้ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยืนยัน กับ ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางไปตามคำเชิญของ ซีเอสซีอี อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ยังไม่หวั่นใจเรื่องสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา แต่ทั้งนี้ต้องสอบถามไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง อีกทั้งยังรู้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงประเมินสถานการณ์แล้วว่า ควรเดินทางไปหรือไม่

สำหรับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ ซีเอสซีอี (The Commission on Security and Cooperation in Europe) นั้น รู้จักกันในนาม "คณะกรรมาธิการเฮลซิงกิ" ถือว่าเป็นองค์กรอิสระในกำกับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1976 มีภารกิจติดตามและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามพันธสัญญาเฮลซิงกิ และภาระผูกพันอื่น ๆ

คณะกรรมาธิการประกอบด้วย วุฒิสมาชิกสหรัฐ 9 คน , สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ 9 คน และอีก 3 คน จากผู้บริหารสูงสุดในกระทรวงต่างประเทศ, กลาโหม และพาณิชย์ โดยตำแหน่งประธานและรองประธาน จะเป็นโดยตำแหน่งของทางฝั่งวุฒิสภาและสภาคองเกรสสลับกัน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี รวมทั้งคณะกรรมาธิการก็จะหมุนเวียนกันทุก 2 ปี

ทั้งนี้ ซีเอสซีอี จะมีบทบาทในการรณรงค์และการตรวจสอบเรื่องการละเมิดปัญหาสิทธิมนุษยชนในกลุ่ม ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกภายใต้พันธสัญญา เฮลซิงกิ จำนวน 56 ประเทศ รวมทั้ง การติดตามข้อพิพาทเรื่องของความมั่นคง ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเรื่องการทหาร

นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนสหรัฐ ในลักษณะใด ระหว่างการชี้แจงสภาหรือที่โรงแรมแต่จะชี้แจงที่ใดก็ไม่สำคัญ เพราะกรรมาธิการชุดนี้ ประกอบด้วย บุคคลที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ร่วม 20 คน ประกอบไปด้วย ส.ส. รมต. และบุคคลชั้นนำ อีกจำนวนมาก โดยยืนยันองค์ที่เชิญเป็นระดับแนวหน้าและน่าเชื่อถือ ไม่ใช่ NGO หรือ นักวิชาการ ขณะที่ จดหมายเชิญก็เป็นแบบกว้าง ๆ ว่าให้ชี้แจงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งการชุมนุมทางการเมือง และ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย พ.ต.ท.ทักษิณ อาจพูดเรื่องแผนปรองดองของรัฐบาลไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความปรองดองได้จริงหรือไม่ ส่วนที่สนใจเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เพราะสหรัฐ ยังเห็นว่า ยังเกิดความรุนแรง เพื่อดูว่า ประชาคมโลก จะช่วยเหลือในด้านใดได้บ้าง ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการ ออกมาระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีการล็อบบี้ เพื่อให้ได้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการ นั้น เรื่องนี้ก็ต้องเคารพการแสดงความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย แต่เป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด เพราะหากทำเช่นนั้นจริง จะเป็นการทำให้สถาบันนี้ ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย ใครก็สามารถล็อบบี้ก็ได้ ทั้งนี้เชื่อว่า คงไม่สามารถล็อบบี้ได้ เพราะมีคณะกรรมาธิการ ร่วม 20 คน

ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่า และสามารถเข้าสหรัฐได้ โดยจะเดินทางก่อนวันที่ 16 ธ.ค. เพราะวันที่ 16 ธ.ค. จะต้องเข้าไปชี้แจง โดยต้องจับตาว่าวันที่ 16 ธ.ค. ก็จะได้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าสหรัฐ ได้หรือไม่ ขณะที่ตนไม่ทราบข้อมูลการใช้หนังสือเดินทางว่าเป็นของ มอนโตเนโกร หรือไม่ แต่ไม่ใช่ของประเทศไทย แน่นอน เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ถอนไปแล้ว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook