ควันบุหรี่ทำลายยีนทารกในครรภ์

ควันบุหรี่ทำลายยีนทารกในครรภ์

ควันบุหรี่ทำลายยีนทารกในครรภ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นพ.ธันยชัย สุระ หัวหน้าหน่วยเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยรายงานการวิจัยของสตีเฟน กร๊านท์ จากสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยพิสเบริก ตีพิมพ์ในวารสารดิโอเพน พีเดียตริก เมดิซิน ฉบับล่าสุด ที่พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองของหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนในเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวจากการตรวจเลือดจากสายสะดือของทารกแรกคลอด ขบวนการเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับเม็ดเลือดของทารกทั้งจากมารดาที่เป็นผู้สูบบุหรี่และมารดาที่หยุดสูบบุหรี่แต่ยังคงได้รับควันบุหรี่มือสองขณะตั้งครรภ์ การกลายพันธ์ของยีนที่เกิดขึ้นอาจมีผลต่อความเจ็บป่วยในอนาคต สามารถนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นยีนที่เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกและมะเร็งหลายชนิดซึ่งมีสถิติเกิดมากขึ้นในเด็กที่มารดาสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองขณะตั้งครรภ์ ผู้วิจัยเสนอว่า เมื่อเกิดการตั้งครรภ์แล้ว มารดาต้องหยุดสูบบุหรี่ และต้องหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสองด้วย เพื่อป้องกันอันตรายของควันบุหรี่ที่ทำให้เกิดความเสียหายและนำไปสู่การกลายพันธ์ต่อยีนของทารกในครรภ์

ศ.นพ.ประกิต มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผย ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2550 พบว่า มีหญิงไทยที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ 17,059 คน และการสำรวจการสูบบุหรี่ในระดับโลกในประเทศไทย พ.ศ.2552 พบว่าร้อยละ 40 ของผู้ใหญ่ไทยได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ในขณะที่มีหญิงไทยตั้งครรภ์ปีละ 7 แสนราย จึงเป็นไปได้ว่ามีหญิงไทยตั้งครรภ์สองแสนกว่ารายที่จะได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านและที่อื่น ๆ ซึ่งทำให้ทารกจำนวนนับแสนรายเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของยีน อันเป็นผลจากการได้รับควันบุหรี่ขณะอยู่ในครรภ์ ทุกฝ่ายในสังคมจึงต้องร่วมกันปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการได้รับควันบุหรี่ ทั้งที่สูบเองและการได้รับควันที่ผู้อื่นสูบ จึงขอเสนอให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในทุกที่ที่มีหญิงมีครรภ์อยู่ด้วย โดยเฉพาะการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook