“พริษฐ์” ย้อน “หมอวรงค์” เย้ยไม่มี สส.ในสภา ก็คงต้องเสนอ-ฝากเพื่อนโหวตค้านกฎหมาย “ยุบพรรค” แทน พร้อมโยน “ศรายุทธ-ทีมกฎหมาย” ตอบปมบัญชีรับบริจาค พรรคประชาชน บอกน่าจะได้คำตอบแม่นยำกว่า
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคไทยภักดี ไปยื่น กกต.ยุบพรรคประชาชน จากกรณีตั้งสาขาพรรคไม่ครบ ว่า ตนก็เชื่อว่าทุกอย่างที่เราดำเนินการมาเป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมาย แต่ในเชิงรายละเอียดหากมีประเด็นอะไรที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติม ขอให้เป็นนายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรค รวมถึงฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ชี้แจงน่าจะดีกว่า
การที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี มีการเปิดประเด็นเรื่องบัญชีที่รับโอนเงินบริจาคของพรรคถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาในการรับรองจาก กกต. นายพริษฐ์ กล่าวว่า การดำเนินการที่ผ่านมาเราดำเนินการด้วยความรอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ในรายละเอียด หากมีอะไรก็ต้องชี้แจงเพิ่มเติม ขอให้ฝ่ายเลขาทีมกฎหมายเป็นผู้ชี้แจงน่าจะแม่นยำกว่า
ทั้งนี้ พรรคไทยภักดี ออกมาบอกว่าไม่ควรมีกฎหมายยุบพรรค นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถูกพูดคุยในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ จากหลากหลายพรรคการเมืองที่มี สส.อยู่ในสภา หากจำกันได้ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการยุบพรรคก้าวไกล ก็มีรายงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ที่นำเสนอในที่ประชุมให้มีการปรับปรุง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เกิดง่าย อยู่ง่าย ตายยาก ซึ่งก็มีหลากหลายข้อเสนอหนึ่งในนั้นคือการทบทวนเรื่องการยุบพรรค
ซึ่งมี สส. หลายพรรคการเมืองอภิปรายสนับสนุน ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมรายชื่อ ของตัวแทนพรรคการเมืองที่มีความประสงค์จะร่วมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่แนบท้ายรายงานดังกล่าว แต่ละพรรคการเมือง ก็มีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นประชาชน แต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะมีความเห็น ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่ถ้าตามกระบวนการ ท้ายที่สุดจะถูกพิจารณาในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาประกอบไปด้วย สส. 500 คน สว. 200 คน
"ฉะนั้นถ้าเกิดว่าคุณวรงค์ หรือพรรคไทยภักดี ในเมื่อไม่ได้มี สส.ในสภา ถ้าอยากจะฝากความเห็นอะไร ก็ฝากความเห็นมาทางพรรคที่มีตัวแทนจากในสภา หรือสมาชิกวุฒิสภาที่พร้อมจะรับฟังความเห็นของพรรคไทยภักดีครับ" นายพริษฐ์ กล่าว
ส่วนที่พรรคไทยภักดีใช้คำว่าการยุบพรรคเป็นการตรวจสอบพรรคที่ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” นายพริษฐ์ ระบุว่า จริงๆ ต้องบอกว่าร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ก็ไม่ได้จะยกเลิกเรื่องการยุบพรรคไปทั้งหมดเลย เราเพียงแค่ทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากลมากขึ้น อย่างแรกเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการพรรค เรามองว่าบทลงโทษไม่ควรจะเป็นการยุบพรรคแต่ควรจะเป็นการลงโทษกรรมการบริหารหลายคนหรือหลายคณะ
สำหรับข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง เราก็พยายามศึกษาแนวทางของกฎหมายในประเทศอื่นที่ตกผลึกออกมาในรายงานของคณะกรรมาธิการว่าจะมีการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการยุบพรรค ตามข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองก็ต่อเมื่อมันได้มีการพิสูจน์แล้วผ่านกระบวนการทางอาญา ว่าได้มีการกระทำที่มีการเข้าข่ายหรือส่งเสริมความรุนแรงเพื่อล้มล้างการปกครองจริง ถือเป็นการปรับเงื่อนไขให้เข้ากับหลักสากลมากขึ้น