โสมาลี...อดีตโสเภณีเด็ก

โสมาลี...อดีตโสเภณีเด็ก

โสมาลี...อดีตโสเภณีเด็ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โสมาลี...อดีตโสเภณีเด็ก ยืนเด่นเป็นสง่าบนเวทีโลก!!...มหาเศรษฐีบางคนกลับไม่มีที่ยืน!!

เกือบยี่สิบปีก่อน ดิฉันยังรับผิดชอบคลินิกกามโรคในโรงพยาบาลชุมชน มีโสเภณีจากซ่องหลายซ่องในอำเภอผลัดกันมารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัม พันธุ์ ดิฉันนั่งคุยกับน้องผู้หญิงเหล่านั้นสัปดาห์ละครั้ง นอกจากสอนเรื่องการป้องกันตัวเองแล้ว ยังคุยไปถึงเรื่องส่วนตัว ครอบครัวของเขาด้วย หลายคนยังเป็นเด็กหญิงอยู่เลย มีคู่หนึ่งเป็นพี่น้อง พี่อายุ 15 น้องอายุ 13 มาจากแม่สายเมืองเจียงฮายเหมือนในเพลง "แม่สาย" ที่คุณเทียรี่ เมฆวัฒนาขับร้อง พ่อแม่พามาขายให้แม่เล้า หาเงินปลูกบ้านให้พ่อแม่ และสองพี่น้องก็เต็มใจทดแทนบุญคุณ

ประเทศกำลังพัฒนาที่ใดในโลกมักจะมีปัญหาสังคมเหล่านี้ ประเทศไทยก็เช่นกัน ดังที่มีนักเขียนหลายท่านนำเรื่องราวทำนองนี้มาเขียนสะท้อนผ่านนวนิยายของ เขา เช่น สนิมสร้อย ของคุณรงค์ วงค์สวรรค์ หรือเรื่องจริงจากข่าวนานมาแล้ว ไฟไหม้ซ่องโสเภณีที่ภูเก็ต มีโสเภณีถูกไฟคลอกเสียชีวิต ในนั้นมีโสเภณีเด็กด้วย...ทุกวันนี้ ปัญหานี้ในไทยยังมีอยู่มากน้อยแค่ไหนดิฉันไม่รู้

แต่อีกหลายประเทศ ปัจจุบัน ปัญหาแก๊งค้ามนุษย์ ธุรกิจซ่อง ยังรุนแรงอยู่มาก หลายประเทศในแถบแอฟริกา เอเชีย และที่เขมรเพื่อนบ้านของเราด้วย

คืนหนึ่งในเขมร ปลายเดือนมีนาที่ผ่านมา ดิฉันไปเดินเล่นถนนสายกลางคืนในเสียมเรียบ ไกด์บอกว่า "เหมือนถนนข้าวสารเมืองไทย"...เขาเปรียบอย่างนั้น เพราะเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว...มีป้ายภาษา กัมพูชาและภาษาอังกฤษติดอยู่ว่า..." Child sex tourism is unacceptable, if you see anything suspicious, call the number above." มีหมายเลขโทรศัพท์ให้แจ้งเหตุไว้ด้วย

หลังจากกลับมาแล้วได้อ่านรีดเดอร์สไดเจสต์ฉบับเดือน พ.ค.53 เรื่อง "นางฟ้าแห่งกัมพูชา" ...โสมาลี มัม เธอเป็นอดีตโสเภณีเด็กเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์สุดชอกช้ำในซ่องโหดแห่งหนึ่งในกัมพูชา

อ่านเรื่องราวชีวิตของ อดีตโสเภณีเด็ก โสมาลี มัม แล้วเกิดหลายความรู้สึกปะปน สะเทือนใจ ซาบซึ้งในน้ำมิตรจิตใจที่กว้างใหญ่ไพศาลของผู้หญิงคนนี้

โสมาลี กำพร้าตั้งแต่อายุสี่ห้าขวบ ยุคพอลพตที่คนเขมรในเมืองถูกต้อนไปทำงานไร่ในชนบท เธอถูกทิ้งให้โตอย่างเด็กกำพร้าอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ป่าตะวันออก ต้องดิ้นรนหากินลำพัง

วันหนึ่งเธอถูกชายสูงวัยหลอกว่าเป็นญาติของ พ่อ จะพาไปพบพ่อ เธอเรียกเขาว่า"ตา" เดินไปกับเขาดีดี พอถึงถนนใหญ่ เห็นรถบรรทุกขนคนมากมาย เธอเริ่มเอะใจและวิ่งหนี แต่ถูก"ตา"ซ้อมจนเลือดโชกร่วงลงกับพื้น ในที่สุดต้องไปเป็นทาสรับใช้"ตา" ทำงานทุกอย่าง ทำความสะอาด ซักผ้า ถูบ้าน ทำอาหาร พอ"ตา"เมากลับบ้าน เธอก็จะถูกเฆี่ยนเสมอ...จนอายุ 16 ปี

โสมาลี ถูกตาขายให้กับซ่องแห่งหนึ่งในพนมเปญ "ต้องทำตามลูกค้าทุกอย่างหากไม่อยากเจ็บตัว" เป็นคำสั่งของเจ้าของซ่อง เมื่อต้องรับแขกคนแรกเขาบอกให้ถอดเสื้อ เธอไม่ยอม จึงถูกสั่งให้ไปยัง "ห้องลงโทษ" งูเลื้อยอยู่เต็มไปหมด เธอร้องจนหมดฤทธิ์ต่อต้าน ในที่สุด โสมาลี ต้องสนองอารมณ์ชายวันละหลายสิบคน เช่นเดียวกับเด็กหญิงอีกนับร้อยในซ่องนั้น

ใครคิดหนีก็จะถูกแมงดาตาม ล่ามาจนได้ ครั้งหนึ่ง เด็กสาว 15 ซึ่งหนีออกไป ถูกตามล่ากลับมา สามีเจ้าของซ่องนำตัวมาต่อหน้าโสเภณีเด็กทั้งหลาย เด็กคนนั้นถูกซ้อม เอามือไพล่หลัง และถูกปืนจ่อยิงขมับปลิดชีวิตไปต่อหน้า...เพื่อสั่งสอนเป็นตัวอย่างแก่เด็ก คนอื่นว่า "อย่าริทำอย่างนี้"

ทั้งโกรธ เกลียด กลัว...โสมาลีบอกกับตัวเองว่า "สักวันฉันจะฆ่าผู้ชายคนนี้"

5 ปีในซ่อง โสมาลี สนองอารมณ์ชายแล้วนับพันพันคน จนอายุ 21 ปี เธอเริ่มได้รับอิสระมากขึ้น ออกไปข้างนอกได้ มีโอกาสพบชาวต่างชาติ เขาออกเงินให้เรียนภาษาฝรั่งเศส และได้รู้จักปิแอร์นักสังคมสงเคราะห์ชาวฝรั่งเศสพูดเขมรได้ ในวันที่โสมาลี "ราคาตก" เจ้าของซ่องจึงปล่อยโสมาลีออกไป เธอตัดสินใจไปอยู่กับปิแอร์และแต่งงานปี 2536 เพื่อได้วีซ่าไปอยู่ฝรั่งเศส

ประสบการณ์วัยเด็ก ทำให้โสมาลีเป็นคนขี้อาย ขี้กลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่...ปณิธานของเธอคือ " ฉันไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างฉันเกิดขึ้นกับเด็กคนอื่น ต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงให้เด็กเหล่านี้" สามีทำให้เธอมั่นใจตนเองมากขึ้น กล้าทำงานกับคนอื่นได้

แล้วตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในเขมร เริ่มติดต่อช่วยงานองค์กรการกุศลด้านการแพทย์ เอาถุงยางอนามัยไปแจกโสเภณีในซ่อง แล้วแอบพาเด็กหนีออกมาอยู่ที่บ้าน เมื่อปิแอร์และเธอรับภาระเองไม่ไหวเพราะไม่มีเงินพอ โสมาลีจึงระดมเงินบริจาคและสร้างบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เด็กถูกแมงดาตามล่า

3 ปีถัดมา โสมาลีและปิแอร์ตั้งองค์กรการกุศล "AFESIP" เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า " การช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ลำบาก" ให้การศึกษา ฝึกอาชีพ เด็กที่เคยเป็นโสเภณีอายุแค่สิบขวบต้นๆหลายคน จากซึมเศร้ากลายเป็นคนแจ่มใส แม้การช่วยเด็กคนอื่นทำให้เธอตกอยู่ในอันตราย ลูกสาวเธอเองยังเคยถูกลักพาตัวไป แต่โชคดีช่วยกลับมาได้

แต่โสมาลีไม่ กลัว เธอบอกว่าเธอเคยตายไปแล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัวอีก 10 ปีที่องค์กรของโสมาลีและปิแอร์ ให้การศึกษาอดีตโสเภณีเด็กแล้วกว่า 5,000 คน ปัจจุบันมีบ้านพักพิง 3 หลัง มีเด็กในอุปการะ 200 คน แม้ปิแอร์และโสมาลีจะหย่าขาดจากกันแล้ว แต่โสมาลีก็ยังดำเนินงานบ้านพักพิงเพียงลำพังคนเดียว ทำงานวันละ 20 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ของธุรกิจซ่องโสเภณี

แม้โสมาลีจะยังถูกภาพอดีตหลอกหลอน ทุกครั้งที่ต้องเข้าไปในซ่อง กลิ่นคาวหื่นเหล่านั้นทำให้เธออาเจียนทุกครั้ง แต่เธอรู้ว่างานของเธอไม่มีวันจบ เพราะแก๊งค้ามนุษย์ยังตระเวนหลอกเด็กตามหมู่บ้าน หลอกว่าจะพาไปทำงานรายได้งาม ขณะนี้โสเภณีในกัมพูชามีไม่น้อยกว่า 100,000 คน 40% อายุไม่ถึง 16 ปี คนกัมพูชาอัตราการไม่รู้หนังสือสูงมาก คนแปดสิบเปอร์เซ็นต์ยากจนมาก รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 500 เหรียญต่อปี ความไม่รู้จึงถูกหลอก ความจนทำให้ถูกเอาเปรียบ เด็กผู้หญิงกลายเป็นสินค้าราคาถูก พ่อแม่ยากจนเอาลูกสาวไปขายเองก็มี

โสมาลี มัม อดีตโสเภณีเด็ก ผู้มีชีวิตที่ขมขื่นทุกข์ทรมานในวัยเด็ก แทนที่จะคิดเปลี่ยนชีวิตตัวเอง ชดเชยความทุกข์ไปหาความสุขสบายส่วนตัวเมื่อโอกาสมาถึง แต่เธอกลับคิดเปลี่ยนชีวิตเด็กคนอื่น และยอมเสี่ยงชีวิตตัวเอง

โสมาลี มัม จากคนขาดความมั่นใจ จากคนไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม จากเด็กชีวิตชอกช้ำขมชื่น กลายเป็นผู้วิจารณ์เรื่องโสเภณีเด็กอย่างกล้าหาญ ได้รับการยกย่องจากผู้นำโลกหลายประเทศ ยืนเด่นเป็นสง่ารับรางวัลระดับโลกมากมาย

ชีวิตจริง...ของบางคนโหดเหี้ยมยิ่งกว่านิยาย... โสมาลี มัม เมื่อหลุดพ้นจากชีวิตอันขมขื่น เธอเลือกที่จะเป็นผู้ให้กับผู้อื่นแทนการเรียกร้องขอความเห็นใจให้ตัวเอง น่าละอายแทนคนบางจำพวก มหาเศรษฐีบางคน ที่มีชีวิตเลือกได้ แต่กลับไม่มีที่ยืนบนโลกใบนี้!! เพราะหลงยึดติดกับอำนาจวาสนา หาโอกาสกอบโกยไม่มีที่สิ้นสุด

..................

ข้อมูลสร้างสรรค์ : http://www.oknation.net/blog/korpai/2010/06/21/entry-1

อ้างอิง "นางฟ้าแห่งกัมพูชา" โดย โรเบิร์ต คีย์เนอร์ จาก รีดเดอร์ส ไดเจสท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook